“บางกอกชีทเม็ลทัล” พุ่งเป้าโตกว่า 20% เสาสื่อสารหนุนรายได้

แฟ้มภาพ

“บางกอกชีทเม็ลทัล” ตั้งเป้ารายได้บริษัทเติบโตกว่า 20% ชูเสาสื่อสารหนุนรายได้ เตรียมออกวอแลนท์ครึ่งปีหลังเพื่อขยายธุรกิจ

นายธีรวัต อมรธาตรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกชีทเม็ททัล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปีนี้เติบโต 10-20% จากการรับคำสั่งซื้อผลิตเสาสื่อสารโทรคมนาคมที่เพิ่มขึ้น 900 ต้น และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก โดยบริษัทคาดว่าจะผลิตวันละ 5 ต้น หรือ เดือนละ 150 ต้น และได้นำเอาหุ่นยนต์มาช่วยในการผลิตเพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้ได้เริ่มทยอยส่งมอบแก่ลูกค้าแล้วประมาณ 160 ต้น ซึ่งบริษัทจะรับรู้รายได้ในส่วนนี้ในปีนี้

นอกจากรายได้และกำไรที่จะเติบโตขึ้นนั้น ยังมาจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้นในทุกหมวดธุรกิจ นอกจากนี้ยังมียอดขายที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) ในส่วนของกลุ่มผู้รับเหมาอยู่ที่ประมาณ 300-400 ล้านบาท และโครงการของรัฐบาล ได้แก่ โครงการสนามบิน โครงการรถไฟฟ้า

สำหรับผลประกอบการของบริษัทฯ ประจำไตรมาส 1/2561 บริษัทฯมีรายได้รวมอยู่ 216.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.34 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้้น 7.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรอยู่ที่ 9.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.38 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 17.29% โดยการเพิ่มขึ้นของทั้งรายได้และกำไรนั้นมาจากการได้รับคำสั่งซื้อการผลิตรางและท่อร้อยสายไฟในโครงการของปีก่อน ได้แก่ คอนโดมีเนียม Icon Siam และรถไฟฟ้าสายสีเขียว และได้รับคำสั่งซื้อผลิตตู้สื่อสารให้ TRUE ทั้งยังผลิตเสาสัญญาณโทรคมนาคมให้แก่ DTAC นอกจากนี้บริษัทยังได้รับรู้ส่วนแบ่งของกำไรจากบริษัทร่วมทั้งบริษัท เอ็ม อี ซี ที จำกัด หรือ MECT และบริษัท นิตโต้ โคเกียว บีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด หรือ NBT

ในส่วนของบริษัทร่วมอย่างบริษัท นิตโต้ โคเกียว บีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด หรือ NBT นั้น เป็นความร่วมมือกันระหว่างบริษัท บางกอกชีทเม็ททัล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท นิตโต โคเกียว คอร์เปอเรชั่น เพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีเทียบเท่าสินค้าที่ผลิตจากญี่ปุ่น แต่มีราคาที่ถูกกว่า ซึ่งคาดว่าจะสามารถตอบโจทย์ลูกค้าในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังผลิตเพื่อส่งออกกลับไปที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศต่างๆใน AEC อีกด้วย โดยในปีนี้จะเริ่มทำธุรกิจเทรดดิ้งและกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการสร้างโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ระยอง โดยการสร้างโรงงานนี้มีงบประมาณอยู่ที่ราว 100 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มเป้าหมายคือผู้รับเหมาที่เป็นคนญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทย และผู้รับเหมาคนไทยที่ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพแต่ราคาถูก โดยคาดว่าจะเริ่มสร้างในปีหน้า ซึ่งบริษัทได้ถือครองหุ้นอยู่ที่ 48 %

นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนที่จะลงทุนในประเทศพม่า โดยจะใช้เครื่องจักรและทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ไปดำเนินการผลิตในประเทศพม่า ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจา คาดว่าจะมีการแถลงข่าวเรื่อง MOU ภายในเดือนหน้านี้


นอกจากนี้ภายในครึ่งปีหลัง บริษัทมีแผนที่จะออกใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นทุน (Warrant) เพื่อใช้ขยายธุรกิจ เนื่องจากมีหลายโครงการที่กำลังดำเนินการและมีแผนที่จะดำเนินการในอนาคต