ดอลลาร์เคลื่อนไหว Sideway จับตาตัวเลขเงินเฟ้อสัปดาห์นี้

ธนบัตร U.S.dollar banknotes
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหว Sideway จับตาตัวเลขเงินเฟ้อสัปดาห์นี้ ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group  ชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักราว 91% ที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 4.25% ในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/12) ที่ระดับ 34.01/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/12) ที่ระดับ 34.07/08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยเมื่อวันศุกร์ (6/12) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น 227,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 202,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้นเพียง 36,000 ตำแหน่งในเดือน ต.ค. ซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนเฮลีนและมิลตันที่พัดถล่มสหรัฐ และการประท้วงของพนักงานบริษัทโบอิ้ง

ทั้งนี้ อัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.2% ในเดือน พ.ย. จากระดับ 4.1% ในเดือน ต.ค. เป็นเวลาสองเดือนติดต่อกัน ส่งผลให้นักลงทุนปรับเพิ่มคาดการณ์ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมนโยบายการเงินเดือน ธ.ค. โดยหลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักราว 91% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 4.25% หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 68% ในก่อนหน้านี้

อีกทั้งผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนอาวุโสของ U.S.Bank Wealth Management กล่าวสนับสนุนคาดการณ์ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินเดือน ธ.ค. และในไตรมาส 1/2568

ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงจับตาการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน พ.ย. ในวันพุธ (11/12) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในวันพฤหัสบดี (12/12) ซึ่งเป็นตัวเลขสำคัญชิ้นสุดท้ายก่อนที่จะมีการประชุมเฟดในวันที่ 17-18 ธ.ค. เพื่อประเมินหาทิศทางที่แน่ชัดเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ADVERTISMENT

ด้านปัจจัยภายในประเทศ สัปดาห์นี้จะมีการแถลงผลงานรัฐบาลหลังเข้ารับตำแหน่ง 3 เดือน อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังจะมีการประกาศมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน 1.3 ล้านล้านบาทในกลุ่มบ้าน รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ และ SMEs ในวันที่ 11 ธ.ค.

ขณะที่ระหว่างวันค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวตามสกุลเงินในภูมิภาค รอปัจจัยหนุนใหม่ ทั้งนี้ เมื่อวันเสาร์ (7/12) ธนาคารกลางจีน (PBOC) เปิดเผยว่า ธนาคารกลางจีนเริ่มกลับมาซื้อทองคำเข้าคลังสำรองอีกครั้งในเดือน พ.ย. หลังจากหยุดพักไปเป็นเวลา 6 เดือน สนับสนุนการแข็งค่าของค่าเงินบาท

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.83-34.05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.80/33.71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/12) ที่ระดับ 1.0564/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/12) ที่ระดับ 1.0581/82 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตามติการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 12 ธ.ค.

โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่า ECB จะมีมติลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 3.00% ขณะที่นักลงทุนจับตาดูสัญญาณความเป็นไปได้ที่ ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากถึง 0.5% ต่อรอบการประชุมในปี 2568 ท่ามกลางความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในยูโรโซนจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ และความไม่แน่นอนทางการเมืองในฝรั่งเศส โดยในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0531-1.0574 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0567/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/12) ที่ระดับ 149.85/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/12) ที่ระดับ 150.34/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยวันนี้ (9/12) สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 3/2567 ขยายตัว 1.2% เมื่อเทียบรายปี เพิ่มขึ้นจากตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 0.9% และแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่าจะขยายตัวเพียง 1.0%

ซึ่งตัวเลข GDP ที่ขยายตัวได้ดีเกินคาดเป็นปัจจัยสนับสนุนมุมมองของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ระบุว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงขยายตัวปานกลาง โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าคณะกรรมการ BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในเดือน ม.ค. 2568 หลังจากที่นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิกเกอิว่าช่วงเวลาของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกำลังใกล้เข้ามา

ขณะที่นายโยชิอิโกะ โนดะ หัวหน้าพรรครัฐธรรมนูญประชาธิปไตยญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ในวันนี้ว่า BOJ ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและยุติการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งสวนทางกับธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ เพียงเพื่อจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน เนื่องจากนโยบายดังกล่าวเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง

อีกทั้งนายโนดะยังกล่าวเสริมว่า ญี่ปุ่นจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านการคลัง โดยยุติการใช้งบประมาณจำนวนมากในช่วงวิกฤตและหาแนวทางในการเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษี เช่น การปรับขึ้นภาษีเงินได้จากการขายทรัพย์สิน โดยในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.67-150.52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 150.40/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินเดือน ธ.ค. ของธนาคารกลางแห่งออสเตรเลีย (RBA) (10/12), ดัชนี CPI เดือน พ.ย. ของเยอรมนี (10/12), ประชุมคณะทำงานว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจ (Central Economic Work Conference) ของจีน (11/12), ดัชนี CPI เดือน พ.ย. ของสหรัฐ (11/12), ผลการประชุมนโยบายการเงินเดือน ธ.ค. ของธนาคารกลางแห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) (12/12), ผลการประชุมนโยบายการเงินเดือน ธ.ค. ของ ECB (12/12), ดัชนี PPI เดือน พ.ย. ของสหรัฐ (12/12), จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (12/12), และ GDP เดือน ต.ค. ของอังกฤษ (13/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.63/-1.55 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.33/-8.19 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ