บาทผันผวน จับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐคืนนี้

Money

ค่าเงินบาทผันผวน จับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐคืนนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 11 ธันวาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/12) ที่ระดับ 33.68/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ที่ (09/12) ที่ระดับ 33.71/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคประจำเดือน พ.ย.ในคืนนี้ (11/12)

ขณะที่เฟดเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ก่อนที่จะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันที่ 17-18 ธ.ค. ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายในปีนี้ อย่างไรก็ดี เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 86.1% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนนี้ รวมทั้งให้น้ำหนัก 69.1% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือน ม.ค. 2568

ด้านปัจจัยภายในประเทศ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าพรุ่งนี้ (12/12) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะแถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลในรอบ 3 เดือน และการกำหนดทิศทางของประเทศไทยในปี 2568 เพื่อให้สามารถแข่งขันกับทุกประเทศในโลกได้ ซึ่งจากการรายงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เห็นพ้องว่าในปี 2568 จะเป็นปีทองของประเทศไทย ทั้งในด้านธุรกิจ ท่องเที่ยว การเกษตร อุตสาหกรรม และการลงทุนในประเภทต่าง ๆ ที่มีโอกาสที่จะทำให้ GDP ของประเทศเติบโตได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ จะเป็นการมอบนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี ภายใต้หัวข้อ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง 2025 Empowering Thais : A Real Possibility จากผลงานที่เป็นรูปธรรม สู่อนาคตที่ทำได้จริง”

ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งยังมีข้อถกเถียงเรื่องคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เนื่องจากเคยเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการแก้หนี้นอกระบบว่า ยังอยู่นระหว่างตรวจสอบคุณสมบัติ

ADVERTISMENT

โดยมีกรอบระยะเวลากำหนดอยู่ช่วงกลางเดือน ม.ค. 2568 และระบุว่า ยังไม่มีแผนสำรองเสนอชื่อคนอื่นแทน หากคุณสมบัตินายกิตติรัตน์ไม่ผ่าน ทั้งนี้ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.66-33.89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.88/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/12) ที่ระดับ 1.0531/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (09/12) ที่ระดับ 1.0569/70 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นักลงทุนรอดูประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยตลาดคาดว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในวันพฤหัสบดีนี้ (12/12) ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0486-1.0528 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0506/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ADVERTISMENT

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/12) ที่ระดับ 151.94/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (09/12) ที่ระดับ 150.38/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ วันนี้ (11/12) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (CGPI) ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้วัดราคาสินค้าและบริการที่บริษัทขายให้แก่กัน ปรับตัวขึ้น 3.7% ในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.4% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องจากเดือน ต.ค.

โดยมีปัจจัยจากราคาอาหาร กลุ่มโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก และผลิตภัณฑ์พลาสติกที่แพงขึ้น อันเป็นผลมาจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ดัชนี CGPI แตะระดับ 124.3 ทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน อีกทั้งราคาสินค้าเกษตรและประมงในเดือน พ.ย. ปรับขึ้นถึง 31% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาข้าวที่ทะยานขึ้น ข้อมูลดังกล่าวสวนททางกับมุมมองของ BOJ อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นจากระดับ 0.25% ในปัจจุบัน ทั้งนี้ คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ส่งสัญญาณว่าพร้อมปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ หาก BOJ เห็นแนวโน้มชัดเจนว่าเงินเฟ้อจะทรงตัวที่ระดับ 2% ด้วยแรงหนุนจากการบริโภคและการปรับขึ้นค่าจ้างที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 151.00-152.52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 152.36/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ของสหรัฐได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน พ.ย. และสต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.6/-7.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.0/-4.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ