ก.ล.ต. นัดแถลงแผนกำกับตลาดทุน 30 ม.ค.68 มุ่งเป้า 4 ธีมหลัก ลุยแก้กฎหมายผลักดันกระบวนการออกหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ คาดแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/68 ผลักดัน 2 แนวทาง ปั้นตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต ผุดโครงการ Corporate Value-Up Program ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านความยั่งยืนของ บจ. ลุยเพิ่มความสามารถบุคลากร ก.ล.ต. พร้อมเป็น “พนักงานสอบสวน“ ดำเนินคดีอาญา เชื่อบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม 2568 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. จะร่วมแถลงแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2568-2570 หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567
โดยแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ซึ่งประกอบด้วย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO), สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC), สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (TLCA) และสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO)
นอกจากนี้การจัดทำแผน ก.ล.ต. ยังได้สแกนสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นในตลาดทุนต่าง ๆ เช่น จำนวนวอลุ่มซื้อขายหุ้นที่ลดลงมากจากในอดีต, ผู้ลงทุนสถาบันที่มีการขายหุ้นออกค่อนข้างมากโดยเฉพาะต่างชาติ, สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติที่ลดน้ำหนักลงทุน, ความกังวลต่าง ๆ ของนักลงทุนรายย่อย ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อตอบคำถามว่าตลาดทุนไทยเริ่มหมดเสน่ห์ไปหรือไม่ และจะผลักดัน (Boost up) ขึ้นได้อย่างไร โดยแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. จะสอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย
โดยปี 2568 จะมุ่งเน้น 4 เรื่องหลัก ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานตลาดหลักทรัพย์คือ
1. ตลาดทุนมีความน่าเชื่อถือ (Trust & Confidence) แม้ว่าในปี 2567 จะดำเนินการไปค่อนข้างมากแล้วก็ตาม แต่ยังคงมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นอยู่ ซึ่งต้องทำในหลายจุดตั้งแต่บริษัทที่จะเข้าระดมทุน, การยกระดับ 3 Lines of Defense รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่จะพยายามเร่งให้เร็วขึ้น โดยจะมีการปรับกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งจะแถลงภาพใหญ่ที่ชัดเจนในวันที่ 30 มกราคม 2568
“ตลาดหลักทรัพย์ฯในฐานะด่านหน้าพร้อมสนับสนุนในการทำงานใกล้ชิดกับ ก.ล.ต. เช่น การตรวจสอบเรื่องกระบวนการซื้อขายในตลาดหุ้นทั้งหมด เพราะพยานหลักฐานต่าง ๆ ทางตลาดหลักทรัพย์ฯจะเห็นตั้งแต่แรก ถ้าเห็นกลไกที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯมีหน้าที่จะต้องป้องกันและป้องปรามตั้งแต่แรก และเมื่อเกิดเคสเชื่อว่าทีมบังคับใช้กฎหมาย ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯจะทำงานใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น มีการประสานงานตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ดังนั้นเชื่อว่า gap ที่เคยมีระหว่างกันจะใกล้ชิดมากขึ้นแน่นอน
รวมถึงการตรึงกำลังกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในการดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย เชื่อว่าประสิทธิภาพบังคับใช้กฎหมายก็น่าจะดียิ่งขึ้น นอกจากนั้นจะมีการนำเอไอมาตรวจจับการกระทำผิด และการเพิ่ม Governance บริษัทจดทะเบียน หรือ Internal Audit หรือแม้กระทั่งผู้เกี่ยวข้อง อาทิ FA เพื่อขับเคลื่อนให้การทำงานดียิ่งขึ้นด้วย” นายเอนก กล่าว
2.ตลาดทุนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Technology) โดยจะนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในการขับเคลื่อนตลาดทุน โดยจะใช้ประโยชน์เรื่อง Digital Asset ผลักดันหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับให้เกิดกระบวนการออกหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยคาดว่าจะออกประกาศได้ภายในไตรมาส 2/2568
”ในอนาคตจะไม่มีใบหลักทรัพย์ แต่ต่อไปทุกอย่างจะเข้ามาอยู่ในระบบเทคโนโลยีทั้งหมด ซึ่งจะเกิดความรวดเร็วขึ้นตั้งแต่เมื่อมีการระดมทุน การจัดสรรให้กับคนที่จะเข้ามาลงทุนสำหรับตลาดแรก และในส่วนตลาดรองก็จะสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้เร็วขึ้น ที่สำคัญการตรวจสอบข้อมูลสามารถทำได้ดีขึ้นด้วย“
3.ตลาดทุนเป็นกลไกไปสู่ความยั่งยืน (Sustainable Capital Market) ซึ่งในช่วง 2-3 ปี ดำเนินการมาค่อนข้างมาก แต่ตอนนี้เริ่มมีสเต็ปซ์ในการทำมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกเกณฑ์ Taxonomy ปรับปรุงกระบวนการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน
และการผลักดันกลไกเพื่อผลักดันให้เกิดตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยมีแนวคิดอาจจะนำ carbon certificate มา Tokenize อยู่ในรูปของ Digital Asset อีกส่วนหนึ่งใช้กลไกสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยให้คาร์บอนเครดิตเป็นสินทรัพย์อ้างอิง (Underlying Asset) ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทั้งสองแนวทาง แต่กำลังพิจารณาว่าโมเดลไหนจะสามารถขับเคลื่อนได้เร็วและเป็นประโยชน์ที่สุด “เราอยากให้เป็นตลาดที่ขับเคลื่อนเหมือนการซื้อขายหุ้น ที่เป็นระบบอัตโนมัติ เพื่อช่วยทำให้เกิดสภาพคล่อง มีดีมานด์และซัพพลาย” นายเอนก กล่าว
และที่สำคัญที่จะทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการที่จะผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนมีแผนที่จะสร้างมูลค่ากิจการ ซึ่งโครงการของตลาดหลักทรัพย์ฯ เรียกว่า Jump+ แต่สำหรับ ก.ล.ต. จะมีการยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านความยั่งยืนผ่านโครงการ Corporate Value-Up Program
”หลักการคือทำให้บริษัทจดทะเบียนได้มีการสื่อสารแผนที่จะขับเคลื่อนผลการดำเนินงานของบริษัท รวมถึง Governance และ ESG ต่าง ๆ ทั้งการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเปิดข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล“ นายเอนก กล่าว
และ 4. ผู้ลงทุนมีสุขภาพทางการเงินที่ดี (Financial well-being) ซึ่งต้องการทำให้ผู้ลงทุนมีศักยภาพมีความรู้เรื่องการลงทุน และสามารถป้องกันตัวเองจากภัยหลอกลวงได้ คล้าย ๆ ประชาชนมีวัคซีน ขณะเดียวกันประชาชนมีความรู้ที่จะเริ่มเก็บเงินออมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ
ส่วนแผนงานภายในของสำนักงาน ก.ล.ต. นายอเนก กล่าวว่า จะมีการปรับกระบวนการภายใน โดยเฉพาะการรองรับกรณีที่ ก.ล.ต. จะเป็นพนักงานสอบสวนในอนาคตในการดำเนินคดีอาญาต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความสามารถของบุคลากร ขณะที่การดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับตรงนี้ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา
โดยปกติเวลาดำเนินคดีอาญา ก.ล.ต.จะต้องไปกล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องทำกระบวนการในการสืบสวนสอบสวนอีกรอบหนึ่งในฐานะการเป็นพนักงานสอบสวน เพราะฉะนั้นกระบวนการพวกนี้ใช้เวลานาน ทำให้การลงโทษหรือการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดล่าช้า จึงอาจเกิดความไม่มั่นใจได้
ตรงนี้ถ้าต่อไป ก.ล.ต. สามารถเป็นพนักงานสอบสวนได้ อย่างน้อยก็จะลดขั้นตอนและทำให้กระบวนการเร็วขึ้นได้ ก็เชื่อว่าประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายจะเร็วขึ้น เคสที่เกิดขึ้นต่าง ๆ สามารถนำขึ้นสู่กระบวนการในชั้นตุลาการได้เร็วขึ้นแน่นอน และทุกเคสจะเข้าสู่กระบวนการตุลาการเหมือนกรณีแพ่ง ถ้า ก.ล.ต.ดำเนินการกล่าวโทษและไม่ยินยอมมาตรการลงโทษทางแพ่ง ก.ล.ต. ก็จะฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งจะเกิดข้อพิพาทให้ศาลได้พิจารณา