ธปท.ส่ง 2 มาตรการแก้หนี้ครัวเรือน 2.1 ล้านบัญชี ลุยต่อแก้หนี้ “นอนแบงก์”ต้นปี 68

หนี้ครัวเรือน

แบงก์ชาติเปิด 2 มาตรการย่อย “คุณสู้ เราช่วย” แก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืน เปิดโอกาสลูกหนี้ NPL-SM จำนวน 1.9 ล้านราย 2.1 ล้านบัญชี วงเงิน 8.9 แสนล้านบาท กลับมาฟื้นตัวภายใน 3 ปี พร้อมเร่งหามาตรการอุ้มลูกหนี้น็อนแบงก์ต่อ คาดชัดเจนต้นปี 68

นางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า  ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นที่ธปท.ให้ความสำคัญ หากประเทศไทยมีหนี้ระดับสูงต่อเนื่องและสูงเกินไป จะกระทบต่อเสถียรภาพและบั่นทอนการเติบโตของประเทศได้ ดังนั้นการดูแลหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ให้ประชาชนกินดีอยู่ดี ไม่ก่อหนี้เกินตัว หรือหากก่อหนี้ไปแล้ว ควรมีช่องทางให้สามารถหลุดพ้นจากการก่อหนี้ได้

ดังนั้น สิ่งที่จะทำต่อหลังจากออกมาตรการมาอย่างต่อเนื่องในช่วงการระบาดของโควิด-19 คือ การช้อนลูกหนี้ที่มีโอกาสฟื้นตัว ให้มีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้ โดยการช่วยเหลือให้เขาสามารถรักษาสินทรัพย์ โดยช่วยลดภาระให้เบาลง เพื่อรอเศรษฐกิจฟื้นตัวและรายได้กลับมาได้ในช่วง 3 ปี เพื่อให้ลูกหนี้สามารถพ้นช่วงยากลำบาก จึงเป็นที่มาโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ถือเป็นมาตรการที่แตกต่างจากโครงการช่วยเหลือที่ผ่านมา

”โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ถือเป็นมาตรการที่แตกต่างจากโครงการช่วยเหลือที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมาตรการที่ลึกขึ้น โดยการลดดอกเบี้ยในช่วง 3 ปี ที่ 0% ซึ่งไม่เคยมีมาตั้งแต่โควิด-19 และเมื่อหมดมาตกรารลูกหนี้จะมีก้อนหนี้ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม โครงการรนี้ถือเป็นโครงการที่ต้องช่วยเหลือกัน ทั้งภาครัฐแบงก์ ด้านลูกหนี้ต้องร่วมมือ โดยการไม่ก่อหนี้เพิ่ม ในช่วง 12เดือนแรก โดยจำนวนลูกหนี้เข้าข่าย 1.9 ล้านราย จำนวนบัญชี 2.1 ล้านบัญชี และมียอดหนี้ 8.9 แสนล้านบาท เป็นกลุ่มที่มีสิทธิเข้าโครงการ แต่ทั้งหมดนี้จะแก้หนี้ยั่งยืนได้ จะต้องมีรายได้กลับมาด้วย“

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สำหรับมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” จะมีมาตรการย่อย 2 มาตรการ ได้แก่ 1.จ่ายตรง คงทรัพย์ 2.จ่าย ปิด จบ โดยธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการนี้มีทั้งสิ้น 15 แห่ง และมีบริษัทลูกธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) ที่ประกอบธุรกิจด้านสินเชื่ออีก 27 แห่ง และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) อีก 6 แห่ง รวมทั้งสิ้น 48 แห่ง

อย่างไรก็ตาม ด้านรายละเอียดสำหรับโครงการแก้หนี้ มาตรการแรก “จ่ายตรง คงทรัพย์” ที่เป็นการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท และสินเชื่อรถยนต์ วงเงินไม่เกิน 8 แสนบาท สินเชื่อรถจักรยานยนต์ วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท โดยการเข้าโครงการจะสามารถแก้หนี้ได้ 1 สัญญา ต่อประเภทสินเชื่อ ต่อหนึ่งสถาบันการเงิน

ADVERTISMENT

สำหรับรูปแบบในการช่วยเหลือ จะมีการลดค่างวดเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยปีแรกจะลดค่างวดที่ 50% ปีที่สอง 70% และปีที่สาม 90% โดยจะนำค่างวดทั้งหมดไปตัดเงินต้น และจะพักดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี และจะยกเว้นทั้งหมดให้ หากลูกหนี้ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดสัญญาในช่วงที่อยู่ในมาตรการ

“บัญชีที่สามารถเข้าโครงการได้ จะต้องทำสัญญาก่อน 1 ม.ค. 2567 และต้องมีสถานะหนี้ ณ วันที่ 31 ต.ค. 67 อย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องเป็นหนี้ค้างชำระเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 365 วัน หรือ 1 ปีสำหรับเงื่อนไขการเข้าโครงการ ลูกหนี้ต้อทำสัญญาไม่ก่อหนี้ใหม่ในช่วง 12 เดือนแรก ยกเว้นสินเชื่อธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้จะพิจารณา”

ADVERTISMENT

สำหรับมาตรการที่ 2 คือ “จ่าย ปิด จบ” เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ที่เป็นหนี้เสียต่อบัญชีไม่เกิน 5,000 บาท  โดยไม่จำกัดสินเชื่อ สามารถเข้าร่วมโครงการได้มากกว่า 1 บัญชี โดยต้องเป็นลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียเกิน 90 วัน ณ วันที่ 31 ต.ค. 67

ทั้งนี้ จำนวนลูกหนี้ที่เข้าข่ายราว 3.4 แสนบัญชี มีวงเงินรวมราว 1,000 ล้านบาท กลุ่มนี้เป็นหนี้ทั้งธนาคารพาณิชย์ แบงก์รัฐ หรือน็อนแบงก์ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกหนี่ที่ไม่รู้ว่าเป็นหนี้ค้างชำระ เนื่องจากธนาคารอาจจะไม่ติดตามเพราะไม่คุ้มค่ากับการติดตาม ดังนั้น หากลูกหนี้ติดต่อธนาคารเจ้าหนี้ แบะชำระหนี้บางส่วน ลูกหนี้ก็มีโอกาสปิดจบหนี้ได้ เพื่อล้าง และเคลียร์ประวัติออกจากระบบได้

อย่างไรก็ตาม มาตรการ ”คุณสู้ เราช่วย“ จะไม่ร่วมผู้ประกอบการที่ไม่ใช้สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ที่ไม่ใช่ลูกแบงก์ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน ทำให้มาตรการช่วยเหลืออาจจะแตกต่างกัน และแหล่งเงินทุนช่วยเหลือไม่ได้มีความชัดเจนเหมือนธนาคารพาณิชย์ หรือ SFIs ที่ใช้ FIDF หรือ มาตรา 28 ดังนั้น จึงต้องหามาตรการลักษณะอื่นมาช่วย ซึ่งกำลังคุยกันอยู่ คาดว่าอย่างช้าที่สุดภายในต้นปี 2568

“การลด FIDF อยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท แต่เงินสมทบแบงก์อาจจะไม่ถึง ขึ้นอยู่กับลูกค้าที่เข้าโครงการมากน้อยขนาดไหน ซึ่งจะรู้หลังจากปิดโครงการวันที่ 28 ก.พ.68 เพื่อจะประมาณการในปีที่ 2 และ 3 ว่าจะลดอาจไม่ถึง 0.23% ต่อปี”