ดอลลาร์แกว่งตัวกรอบแคบ จับตาตัวเลขเงินเฟ้อคืนนี้ ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 97.9% ที่เฟดจะลดดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 17-18 ธ.ค.นี้
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม 2567 ค่าเงินบทเปิดตลาดเช้านี้ (12/12) ที่ระดับ 34.85/86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (11/12) บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
โดยดอลลาร์แข็งค่าเทียบเงินสกุลหลักและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงใกล้หลุดระดับ 4.2% หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (Headline CPI) ปรับตัวขึ้น 2.7% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือนตุลาคม
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.3% ในเดือนตุลาคม ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ระดับ 33.93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
โดยเครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 97.9% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.25%-4.50% ในการประชุมวันที่ 17-18 ธันวาคม 2567 นี้ หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 86.1 ก่อนการเปิดเผยตัวเลขดัชนี CPI ในช่วงกลางคืน
ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 2,652 จากแรงหนุนจากความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยนักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในซีเรีย หลังอิสราเอลทำการโจมตีคลังอาวุธในซีเรีย และส่งกำลังทหารเข้ายึดครองพื้นที่ในที่ราบสูงโกลัน หลังการล่มสลายของระบอบการปกครองของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด
ประกอบกับปัจจัยบวกจากการเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางจีน (PBOC) รวมทั้งการที่จีนส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2553 เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
สำหรับปัจจัยในประเทศวันนี้ (12/12) นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.9 ในเดือนพฤศจิกายน หลังจากที่ปรับขึ้นแตะระดับ 56.0 ในเดือนตุลาคม ซึ่งถือเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9 เดือน จากการท่องเที่ยวในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
และผู้บริโภคเริ่มเล็งเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วยผ่อนคลายให้สถานการณ์เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่ปัญหาน้ำท่วมในภาคเหนือและภาคอีสานคลี่คลายลง ทั้งนี้ ดัชนีที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 บ่งชี้ว่าผู้บริโภคยังคงมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าและค่าครองชีพยังคงสูง
ทั้งนี้ นายธนวรรธน์คาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ มาตรการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 สำหรับผู้สูงอายุ มาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” พักดอกเบี้ยและลดการชำระเงินต้น และมาตรการช่วยเหลือชาวไร่ รายละ 1,000 บาท จะหนุนให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในช่วงครึ่งปีแรกได้ 160,000-180,000 ล้านบาท และกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้อย่างน้อย 1.5%
ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.76-33.92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.81/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/12) ที่ระดับ 1.0505/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (11/12) ที่ 1.0505/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยยูโรยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบเนื่องจากนักลงทุนยังคงรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในปลายสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ บรรดานักลงทุนคาดว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในคืนวันนี้ (2/12) โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0500-1.0530 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0508/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้านี้ (12/12) ที่ระดับ 152.26/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (11/12) ที่ 151.62/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าแตะบริเวณกรอบล่างที่ 152 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนักลงทุนเทขายเงินเยนรับคาดการณ์ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 18-19 ธันวาคม ที่ระดับ 0.25%
ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 151.93-152.77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 152.50/51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของ ECB (12/12), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพฤศจิกายนของสหรัฐ (12/12), จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานรายครั้งแรก (12/12), และ GDP เดือนตุลาคมของอังกฤษ (13/12)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.35/-7.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.10/-4.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ