พิชัยชี้แจงปมดราม่าปรับโครงสร้างภาษี ยันไม่ได้จะขึ้น VAT 15% แต่พูดภาพรวม ลั่นประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษี แต่การปรับต้องให้เศรษฐกิจมีภูมิคุ้มกันก่อน
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์รายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ถึงกระแสดราม่าเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี ว่าวันนี้ยังไม่มีนโยบายปรับขึ้นภาษี เพราะเศรษฐกิจยังขยายตัวค่อนข้างต่ำ ดังนั้น ต้องมีภูมิคุ้มกันก่อน โดยที่มีการพูดกันถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 15% นั้น ตนเองไม่ได้พูดเรื่อง 15% เพียงตัวเดียว แต่พูดโดยทั่วไปในภาพรวม แต่คนหยิบเอาตัวเลข 15% ซึ่งบังเอิญเป็นตัวเลขที่คล้องจองกันมาเป็นประเด็น
อย่างไรก็ดี วิธีการมองก็คือ ตนเองมองว่าประเทศไทยควรจะต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างภาษี จึงต้องทำให้สังคมรับทราบก่อน ว่าประเทศคู่แข่ง หรือในโลกมีการจัดเก็บอย่างไรกันบ้าง จึงได้เล่าไปว่าในโลกมีภาษีใหญ่ ๆ อยู่ 3-4 ประเภท
โดยประเภทแรก ภาษีนิติบุคคลที่เก็บจากบริษัท ร้านค้าต่าง ๆ การจัดเก็บก็ต้องเป็นไปตามเทรนด์ของโลก ซึ่งแนวโน้มปัจจุบันเก็บกันแถว ๆ อัตรา 15-20% และปัจจุบันมีกฎหมายที่กำหนดการจัดเก็บขั้นต่ำไว้ว่า ต้องอย่างน้อย 15% ดังนั้น ในส่วนนี้ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องทำ โดยกระทรวงการคลังเสนอออกกฎหมายไปแล้ว ต้องการให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 ส่วนภาษีนิติบุคคลในส่วนบริษัทไทย ยังเหมือนเดิมที่เก็บ 20% แต่ระยะยาวคงต้องนำมาคิด
“ยกตัวอย่างเช่น บริษัทจากประเทศสหรัฐมาลงทุนในไทย แล้วมาเสียภาษีแค่ 0% หรือ 5% ต่อไปนี้ถ้าเก็บแค่นี้ บริษัทที่ว่าก็ต้องกลับไปเสียที่ต้นทางให้ครบ 15% เราก็เลยมาคุยกันว่า ทำไมไม่เสียที่บ้านเรา ซึ่งเขายินดีเสียที่บ้านเรา วันนี้เราจึงได้ออกกฎหมายว่าเราขอเก็บคุณถึง 15% แล้วก็มีตกลงกันว่า ถ้าคุณจ่าย 15% แล้วคุณปรับปรุงบริษัท เช่น คุณทำเรื่องงานวิจัย จ้างคนไทยทำวิจัย แล้วนำงานวิจัยไว้ที่เมืองไทย ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เรายินดีช่วยอุดหนุนบางส่วน หรือคุณปรับปรุงการทำงานให้เป็นดิจิทัล หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ค่าใช้จ่ายนี้เราก็ช่วยบางส่วน หรือทำเรื่องบุคลากร Upskill, Reskill เราก็ช่วยบางส่วน ดังนั้น ภาษีที่เก็บมาก็จะเอามาใช้บางส่วนเพื่อเขา”
ประเภทที่สอง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากเป็นคนที่อยู่ในประเทศไทย ก็ควรจะทำให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ให้เหมาะสมกับรายได้ แต่คงไม่ใช่เก็บเป็น 15% อัตราเดียวในตอนนี้ ยังต้องเป็นขั้นบันไดอยู่ ขณะที่ในมุมที่ต้องแข่งขันกับต่างชาติ ที่ต้องดึงบุคคลที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเช้ามาทำงาน ก็ต้องทำให้แข่งขันได้ ต้องเก็บในอัตราที่แข่งขันได้
“เท่าที่ผมดู หลายประเทศเสนอภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเรตเดียว อยู่ที่ประมาณ 17% เฉพาะคนที่คุณสมบัติตามที่ต้องการมาก ๆ ซึ่งจะไม่ได้เปิดเป็นการทั่วไป ต้องเป็นคนที่มีคุณสมบัติจริง ๆ ซึ่งเป็นคนส่วนน้อย แล้วเราต้องการเขา” นายพิชัยกล่าว
และประเภทที่สาม ภาษีการบริโภค หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งตามหลักของทั่วโลก คือใครบริโภคมากก็ต้องจ่ายมาก ใครบริโภคน้อยก็จ่ายน้อย โดยหากจัดเก็บอัตราเดียวกันก็ต้องมีเงินคืนกลับไปดูแลคนที่มีรายได้น้อยด้วย เพื่อทำให้ช่องว่างรายได้คนรวยคนจนต่ำลง รวมถึงนำเงินมาใช้ลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภค เพื่อช่วยลดต้นทุนของประเทศ ทั้งนี้ สำหรับการจะปรับขึ้น VAT หรือไม่นั้น ต้องขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ เพียงแต่ต้องบอกให้คนไทยรู้ว่าชาวโลกทำอะไรกันอยู่ และ การขึ้น VAT เป็น 15% นั้น ยืนยันว่าไม่ใช่แน่นอน
“จะไปบอกว่าคนไหนรายได้น้อย เก็บอัตราน้อย คนไหนรายได้เยอะ เก็บอัตราเยอะ มันแยกไม่ได้ ในระบบ เพราะไม่รู้ใครเป็นใคร สิ่งที่พอจะทำได้ คือ ประเภทสินค้า สามารถแยกเก็บอัตราไม่เหมือนกันได้ เช่น สินค้านี้คนรายได้น้อยใช้ ควรจะอัตราหนึ่งไหม หรืออันนี้คนรายได้สูงใช้ ก็เก็บอีกอัตราหนึ่งไหม แต่สุดท้ายภาพรวมก็คือ ภาษีอันนี้เป็นภาษีที่ทั่วโลกมีแนวโน้มเก็บเยอะขึ้น” นายพิชัยกล่าว
ส่วนภาษีทรัพย์สินนั้น รองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าวว่า หากจะทำคงต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ที่จะต้องเสียภาษีดังกล่าวก่อน