ดอลลาร์แข็งค่า ตลาดจับตาดูการประชุม G-7

ภาวะการาเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/5) ที่ 32.01/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/6) ที่ 31.99/32.01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา (1/5) กระทรวงแรงงานของสหรัฐยังเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนพฤษภาคม ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่ง จากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 190,000 ตำแหน่ง ส่งผลให้อัตราการว่างงานประจำเดือนพฤษภาคมตกลงเล็กน้อยสู่ระดับ 3.8%

นอกจากนี้ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะผู้แทนจีนและสหรัฐซึ่งนำโดยนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีของจีนและนายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ ได้เข้าร่วมการหารือทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างสองประเทศในกรุงปักกิ่ง โดยสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐเป็นไปด้วยดีและมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นในหลายประเด็น ทั้งด้านการเกษตรและพลังงาน

ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และสหรัฐนั้น ยังคงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดีนักลงทุนยังคงมีความกังวลต่อประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และเม็กซิโกที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ประกาศออกมาในช่วงนี้จะแข็งแกร่งโดยเม็กซิโกจะกำหนดภาษีนำเข้ามูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในกลุ่มสินค้าประเภทหมู เหล็ก ซีส และอื่น ๆ เพื่อตอบโต้การกำหนดภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐ โดยสหรัฐนั้นได้แสดงความต้องการที่จะเจรจาด้านแบบทวิภาคีกับแคนาดา และเม็กซิโก ขณะที่ทั้งสองประเทศต้องการการเจรจาในรูปแบบของพหุภาคี โดยอ้างอิงข้อตกลงนาฟต้าปี 1994 ทั้งนี้ตลาดยังคงให้ความสนใจต่อการประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 มิถุนายนนี้

ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยระบุว่า ในปี 2562 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.9-4.9% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญจากการใช้จ่ายในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชน และความคืบหน้าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้าง ตลอดจนการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เติบโตได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ ในระหว่งสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.85-32.09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (8/6) ที่ระดับ 32.05/32.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (4/6) ที่ระดับ 1.1674/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาด (1/6) ที่ 1.1704/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน นายมาริอาโน ราฮอย ต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสเปนหลังถูกสมาชิกสภาเสียงข้างมากลงมติไม่ไว้วางใจในกรณีทุจริตคอร์รัปชั่น โดยหลังจากนั้นเพียง 1 วัน นายเปโดร ชานเชสทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสเปนเป็นที่เรียบร้อย ในขณะที่นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมันได้ยื่นข้อเสนอในการปฏิรูปโครงสร้างของสหภาพยุโรป (EU) ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงการรวมกำลังทางทหาร และจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนร่วมกันของยูโรโซน นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการใช้นโยบายงบประมาณร่วมกัน ซึ่งข้อชี้แนะนั้นสอดคล้องกับข้อเสนอของนายเอ็มมานูเอล มาครอง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่ต้องการให้มีการปฏิรูปยูโรโซนเช่นกัน

อย่างไรก็ดีค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ หลังจากการจัดตั้งรัฐบาลอิตาลีระหว่าง Five Star Movement และ The League ประสบความสำเร็จ โดยมีนายจูเซปเป้ คอนเด้ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ยังมีความไม่แน่นอนหลังจากนายคอนเด้แถลงการณ์ถึงนโยบายรัดเข้มขัดของภาครัฐ ว่าไม่ใช้วิธีที่จะลดระดับหนี้สาธารณะ ทำให้ตลาดกังวลเกี่ยวกับระดับหนี้สาธารณะของอิตาลีในระยะต่อไป ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอิตาลีปรับตัวสูงขึ้น

นอกจากนี้ตลาดยังคงให้ความสนใจต่อการประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ว่าจะมีการประกาศปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายทางการเงินหรือไม่ ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1653-1.1840 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (6/6) ที่ระดับ 1.1766/1.1767 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนนั้นเปิดตลาดที่ระดับ 109.65/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (1/6) ที่ระดับ 109.24/27 เยน/ดอลลาร์ การปรับตัวอ่อนค่าของค่าเงินเยนซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเป็นผลมาจากค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยมีปัจจัยหลักมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป ประกอบกับสื่อหลายสายเผยว่าสหรัฐเตรียมประกาศมาตราการภาษีนำเข้าเหล็กอะลูมิเนียมกับทางสหภาพยุโรป ซึ่งมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การตอบโต้ของอียู ซึ่งเคยออกมาขู่ว่าจะตอบสนองด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ส่งผลให้นักลงทุนเข้าถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็ดี ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าในช่วงกลางสัปดาห์ภายหลังจากสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองของอิตาลีมีทิศทางที่ดีขึ้น นอกจากนี้กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในวันพฤหัสบดี (7/6) ว่า นักลงทุนญี่ปุ่นได้เทขายพันธบัตรต่างชาติในระหว่างวันที่ 27 พ.ค.-2 มิ.ย. จำนวนทั้งสิ้น 1.665 ล้านล้านเยน หรือ 1.512 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเทขายพันธบัตรภายในหนึ่งสัปดาห์ที่มีจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน

สำหรับปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นเทขายพันธบัตรต่างชาติออกมาเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การเมืองที่ผันผวนในอิตาลี ซึ่งเป็นเหตุให้ราคาพันธบัตรอิตาลีร่วงลง และยังสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดพันธบัตรทั่วโลกด้วย ทั้งนี้ค่าเงินเยนมีกรอบเคลื่อนไหวระหว่าง 109.28-110.27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตลอดสัปดาห์ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 109.31/109.32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”