“ดาวน้อย” ผู้ว่าฯ ยสท. ลุยธุรกิจใหม่ วอนทบทวนภาษียาสูบ

สัมภาษณ์

ตามที่พระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยกฎหมายฉบับนี้เป็นการยกระดับ “โรงงานยาสูบ” เดิม ให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล ภายใต้ชื่อ “การยาสูบแห่งประเทศไทย” (ยสท.) ซึ่งจะมีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจมากขึ้นนั้น ล่าสุด “ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์” ผู้ว่าการ ยสท.คนแรก ได้พูดคุยถึงแผนการทำธุรกิจภายใต้สถานะใหม่ให้สื่อมวลชนฟัง

“ดาวน้อย” ฉายภาพว่า หลังจากเปลี่ยนสถานะเป็น ยสท.แล้ว ก็ได้เริ่มเดินหน้าการทำธุรกิจใหม่ ๆ ทันที ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็เพิ่งจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) “โครงการบุหรี่นักท่องเที่ยวจีน” ระหว่าง ยสท. กับ 2 บริษัทจากสาธารณรัฐประชาชนจีน คือ บริษัท ชานซี จินเย่ ซายน์ แอนด์ เอ็ดดูเคชั่น กรุ๊ป จำกัด และบริษัท ยูนนาน รีเอสเซ่น โทแบคโค เทคโนโลยี (กรุ๊ป) จำกัด ซึ่งเป็นการที่ ยสท.จะรับจ้างผลิตบุหรี่จำหน่ายให้แก่กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาเที่ยวในเมืองไทย

โดยจะใช้ยี่ห้อเป็นชื่อไทย ๆ อาทิ พัทยา ตุ๊กตุ๊ก สยาม เป็นต้น ราคาจะอยู่ในระดับ “ซูเปอร์พรีเมี่ยม” ตกซองละไม่ต่ำกว่า 200 บาท ขายผ่านร้านค้าปลอดอากร เริ่มจาก “คิง เพาเวอร์” เริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้ และจะขยายไปสู่ดิวตี้ฟรีอื่น ๆ รวมถึงดิวตี้ฟรีในจีน

“บุหรี่ที่ ยสท.รับจ้างผลิตนี้จะถือไลเซนส์ร่วมกัน แล้วขายผ่านดิวตี้ฟรี ก็เหมือนกับเราผลิตแล้วขายออกนอกประเทศ ซึ่งทางจีนจะทำการตลาดทั้งหมด ส่วนเราจะได้ 2 ส่วน คือ 1.ค่าจ้างผลิต ซึ่งจะเป็นเท่าไหร่ ต้องรอดูว่าจะทำการตลาดได้แค่ไหน และ 2.การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกใบยา แต่ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะเดิมเขาจะใช้ใบยาจากจีนทั้งหมด แต่เราก็ต่อรองให้ใช้ใบยาในไทย แต่สูตรก็จะต้องมาพัฒนากัน”

“ดาวน้อย” เล่าต่อว่า อีกโครงการที่จะทำคือ การลงทุนผลิต “ฝุ่นผงใบยา” เอง ซึ่งปกติจะต้องนำเข้าจากประเทศเกาหลี เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบส่วนหนึ่งในการผลิตยาสูบ ขณะเดียวกันก็ได้ให้ทีมงานสำรวจพื้นที่สำหรับปลูก “โกโก้” ในประเทศไทย ทดแทนการนำเข้าด้วย ซึ่งมีแนวคิดว่าจะปลูกเอง ใช้เอง รวมถึงขายเองด้วย เพื่อช่วยให้ชาวไร่ยาสูบได้มีงานทำ

“ยังมีเรื่องการปลูกกัญชง ตอนนี้กำลังทดสอบสายพันธุ์อยู่ ถ้าได้แล้ว ก็มีทางอเมริกาต้องการให้เราปลูกแล้วส่งให้เขาเป็นวัตถุดิบ โดยเราก็ต้องรอให้ทางกระทรวงสาธารณสุขอนุญาต และออกกฎกระทรวงให้ดำเนินการปลูกได้ก่อน”

นอกจากนี้จะมีการร่วมทุนกับบริษัทเอกชนรายหนึ่งในการผลิต “ก้นกรอง” ซึ่งเป็นเอกชนที่เคยส่งก้นกรองให้โรงงานยาสูบอยู่แล้ว เนื่องจากมีองค์ความรู้ (โนว์ฮาว) และมีเครื่องไม้เครื่องมือในการผลิตที่ทันสมัย หาก ยสท.ทำเองจะก้าวไม่ทันเทคโนโลยีที่พัฒนาไปเร็ว รวมถึงยังมีในส่วนโรงพิมพ์ที่ ยสท.จะรับพิมพ์แสตมป์ให้หน่วยงานอื่น

“ดาวน้อย” บอกอีกว่า วันที่ 11 มิ.ย. ยสท.ก็มีการลงนามกับรัฐวิสาหกิจของเวียดนามในการขยายตลาด โดยจะผลิตบุหรี่และขายในเวียดนาม ซึ่ง ยสท.จะร่วมมือกับ บมจ.เบอร์ลี่ยุคเกอร์ (BJC) ธุรกิจในกลุ่มบิ๊กซี ซึ่งนอกจากเวียดนาม ก็จะร่วมกันขยายตลาดใน สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชาด้วย (CLMV)

“อีกส่วนหนึ่งที่จะทำคือ ตอนนี้กำลังวิจัยเรื่องการนำใบยามาทำนิโคตินเหลว เพื่อขายต่างประเทศ ซึ่งถ้าทำได้ก็เป็นการช่วยเกษตรกรด้วย”

สำหรับในแง่ผลดำเนินงานปีงบประมาณ 2561 นี้ “ดาวน้อย” บอกว่า ธุรกิจใหม่ ๆ ยังต้องใช้เวลา จึงยังไม่มีผลต่อรายได้ปีนี้ ที่ประเมินว่าทั้งปี ยสท.จะประสบภาวะขาดทุนแน่นอน แม้ว่าในช่วง 6 เดือนแรก (ต.ค. 60-มี.ค. 61) จะมีกำไรประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากการขายบุหรี่ที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่รวม ๆ แล้วเป็นเงินราว 1,500 ล้านบาท เช่น ค่าใช้จ่ายช่วยเหลือเกษตรกรเป็นต้น

“กำไร 200 ล้านบาท ถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับอดีตที่จะมีกำไรตกเดือนละกว่า 700 ล้านบาท ซึ่งหักค่าใช้จ่ายแล้วด้วย และถึงจะไม่คิดค่าใช้จ่าย 1,500 ล้านบาท ปีนี้ ยสท.ก็จะยังขาดทุนอยู่ดี เพราะปลายปีจะต้องมีการคิดค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายอีกหลายรายการที่ต้องไปหักปลายปี”

“ดาวน้อย” บอกว่า ปัจจุบัน ยสท.อยู่ระหว่างให้ข้อมูลกับทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งในกรรมาธิการมีความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ยสท.ดี ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากนโยบายรัฐ ที่กำหนดโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ และหากไม่แก้ไข ก็จะทำให้เกิดปัญหาที่ลุกลามบานปลายได้

“รัฐต้องสูญเสียรายได้ ทั้งจากภาษีสรรพสามิตยาสูบที่จะเก็บได้ลดลง และจากการที่ ยสท.ไม่มีเงินนำส่งเข้ารัฐ รวมแล้วเป็นเงิน 15,238 ล้านบาทต่อปี แล้วยังมีผลกระทบอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้น อย่างใบยา เราก็ไม่สามารถซื้อได้ เพราะต้องใช้อีก 2,000 ล้านบาท ซึ่งเราไม่มีเงิน ดังนั้นเราอยากช่วยเกษตรกร แต่ก็ช่วยไม่ได้ วันนี้ทาง กมธ.ก็ยังมองว่า ถึงเป็นการยาสูบฯแล้ว ก็ใช่ว่าจะเอาตัวรอดได้ เพราะธุรกิจที่จะทำก็อยู่ในวงจำกัด จะทำอะไรก็ลำบาก แล้วยังเรื่องระยะเวลาที่ผลกระทบเกิดขึ้นเร็ว จนเราไม่มีเวลาตั้งตัวเลย”


ผู้ว่าการ ยสท.คนแรกทิ้งท้ายว่า ถ้าเลือกได้ระหว่างการเป็นผู้ว่าการ ยสท.คนแรก กับการกลับไปใช้โครงสร้างภาษียาสูบแบบเดิม ตนขอเลือกอย่างหลังดีกว่า พร้อมยืนยันว่า ถึงขณะนี้ ยสท.ก็ยังคงเสนอให้กลับไปใช้โครงสร้างภาษียาสูบแบบเดิมเช่นที่เคยเสนอมา