Health Care กับ Megatrend (จบ)

คอลัมน์ พินิจ พิเคราะห์

โดย กิติชัย เตชะงามเลิศ

บทความ 4 ตอนที่ผ่านมาที่ผมพูดเกี่ยวกับธุรกิจ health care ส่วนใหญ่จะเป็นการมองในภาพรวมของทั้งโลก ส่วนบทความสัปดาห์นี้ผมจะเน้นถึงธุรกิจนี้ที่อยู่ในประเทศไทยครับ ธุรกิจ health care ในประเทศไทยมีมาตั้งนานแล้ว ผมขอเริ่มตั้งแต่สมัยที่เริ่มตั้งโรงพยาบาลเป็นเรื่องเป็นราวสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ที่พระองค์ได้เล็งเห็นถึงการขาดสถานพยาบาล เพื่อดูแลรักษาพสกนิกรที่เจ็บป่วย จึงมีพระราชดำริก่อตั้งโรงพยาบาลขึ้นเป็นครั้งแรกในราชอาณาจักรสยาม แต่ในสมัยนั้นมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือประชาชน ไม่ได้หวังค้ากำไร เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลของรัฐ

ต่อมาคนไทยที่มีรายได้สูงเริ่มมีจำนวนมากขึ้น จึงเริ่มมีธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมาตอบสนองความต้องการในบริการที่ดีขึ้น ต่อมาเริ่มมีการแตกขยายสาขาเป็น hospital chain หรือ hospital network เริ่มมีการนำโรงพยาบาลเอกชนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯมากขึ้น จนปัจจุบันมีมากกว่า 10 บริษัทแล้ว และยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เป็น chain ที่ใหญ่ที่สุด มี market cap มากถึง 350,000 ล้านบาทเลยทีเดียว จนทำให้กลุ่มการแพทย์ ซึ่งเมื่อย้อนหลังไป 10 ปีที่แล้ว กลุ่มนี้นับว่าเป็นกลุ่มที่เล็ก market cap ทั้งกลุ่มมีมูลค่าน้อยมากเมื่อเทียบกับ market cap รวมของตลาด ต่อมาหลังจากเริ่มได้รับความนิยมจากนักลงทุน ทำให้กลุ่มการแพทย์มี P/E ที่สูงขึ้น จนถึงปัจจุบันเฉลี่ยประมาณ 30-40 กว่าเท่า เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาอัตราการเจริญเติบโตของรายได้และกำไรค่อนข้างสูง ประเทศไทยเรายังมีจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งสถานพยาบาลค่อนข้างน้อย ยิ่งต่างจังหวัดแล้วยิ่งน้อยใหญ่ ทำให้โอกาสของธุรกิจนี้ยังมีอีกมากมาย

นี่ยังไม่รวมผลกระทบจาก AEC ซึ่งทำให้ hospital chain ของไทย ไม่ว่าจะเป็น chain ใหญ่หรือเล็ก มีโอกาสสอดแทรกเข้าไปตั้งคลินิกหรือโรงพยาบาลที่ประเทศในกลุ่ม ASEAN โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar และ Vietnam) ซึ่งยังขาดแคลนโรงพยาบาลชั้นนำอย่างมาก นอกจากการไปตั้งสถานพยาบาลในประเทศเหล่านี้แล้ว ยังสามารถที่จะรับบริหารจัดการโรงพยาบาลอื่น ๆ โดยรับรู้เป็นค่าจ้างบริหารจัดการ อย่างเช่น ที่กลุ่ม IHH ของมาเลเซียทำอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ ทำให้บริษัทมีโอกาสได้เรียนรู้ตลาดในประเทศนั้น ๆ ว่ามีความต้องการบริการในรูปแบบไหน และประเภทของโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้สามารถตั้งเป็นศูนย์รักษาโรคเฉพาะทางได้อีกด้วย ซึ่งการรับบริหารเป็นหนึ่งในนโยบาย asset light ทำให้กลุ่มโรงพยาบาลที่รับบริหารไม่ต้องลงทุนมากมายเหมือนการลงทุนแบบ green field ที่ใช้การลงทุนที่มากและต้องใช้เวลาในการก่อสร้างโรงพยาบาล หรืออาจจะเข้าไป takeover โรงพยาบาลทั้งในต่างจังหวัด และโรงพยาบาลในกลุ่ม ASEAN ด้วยกัน ยิ่งเครือข่ายที่ใหญ่มากขึ้นเท่าไร economy of scale ก็จะมากขึ้นเท่านั้น อำนาจในการต่อรองทางธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการสั่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ

ผมยังสงสัยว่าทำไมกลุ่มโรงพยาบาลต่าง ๆ ไม่เข้ามาสนับสนุนสถานศึกษาต่าง ๆ ให้สามารถรับนิสิตนักศึกษาเข้ามาเรียนได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น และให้ทุนการศึกษาแก่นิสิตนักศึกษาที่เรียนดี โดยอาจจะมีข้อผูกพันว่าจะต้องมาทำงานใช้ทุนที่โรงพยาบาลที่ให้ทุนการศึกษาต่อจากการใช้ทุนของรัฐ คิดแล้วโรงพยาบาลเอกชนที่ให้ทุนน่าจะได้ประโยชน์ เพราะว่าบุคลากรทางการแพทย์จบใหม่เหล่านี้ ในช่วงการใช้ทุนของรัฐ ก็เปรียบเสมือนได้ฝึกงานไปในตัว พอเริ่มทำงานใช้ทุนให้กับโรงพยาบาลเอกชน ก็จะมีประสบการณ์มากขึ้นแล้ว ซึ่งจะมีส่วนทำให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ สามารถรับนิสิตนักศึกษาที่จะมาศึกษาคณะที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะพยาบาลศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยทำให้อัตราส่วนของจำนวนบุคลากรทางการแพทย์เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรไทยทั้งหมดสูงขึ้น ทำให้โอกาสที่คนไทยจะเข้ารับการรักษาพยาบาลได้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นจากการที่ปัจจุบันประเทศไทยเราเป็นฮับทางการแพทย์ของเอเชีย ซึ่งเรามีจุดที่ได้เปรียบคือค่ารักษาพยาบาลยังถูกกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยเรายังได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการให้บริการแบบประทับใจ ซึ่งเกิดจากพื้นฐานของนิสัยใจคอของคนไทยเรานั่นเอง


ผมอยากให้ BDMS เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ ปัจจุบัน BDMS มีโรงพยาบาลในเครือเกือบ 50 แห่งแล้ว ยังตั้งเป้าหมายจะเพิ่มอีกหลายแห่งในอนาคต นับว่ามีโรงพยาบาลในเครือมากที่สุดในประเทศไทย และเห็นว่ากำลังจะทำโครงการเวลเนสเซ็นเตอร์บนที่ดินผืนใหญ่ ที่เคยเป็นที่ตั้งของโรงแรมปาร์คนายเลิศในอดีต คงจะต้องการใช้บุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก รีบ ๆ ทำเถอะครับ เพราะว่าโครงการดี ๆ แบบนี้ถือเป็น CSR ที่ตรงกับลักษณะธุรกิจและดีมาก ๆ ครับ ยิ่งถ้าโครงการเหล่านี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ก็จะเป็นการนำร่องให้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ เข้ามาร่วมโครงการสนับสนุนทางการศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น จากดัชนีชี้วัดความสุขของประเทศไทย ที่รายงานโดย Bloomberg ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก ก็จะทำให้เราครองตำแหน่งนี้ไปได้อีกนาน นานจนคนชาติอื่นจะต้องอิจฉาเรา