คปภ. รื้อใหญ่ ‘ประกันรถ’ เพิ่มคุ้มครอง-แก้ปมเรียกร้องค่าขาดประโยชน์

คปภ. รื้อใหญ่ “ประกันรถ” อีกครั้ง จ่อทบทวนเพิ่มคุ้มครองประกันรถภาคบังคับ-ความรับผิดรถยนต์ภาคสมัครใจ-แก้ปัญหาการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ หวังลดข้อพิพาท-หาข้อยุติ เล็งระบุในเงื่อนไขกรมธรรม์เป็นจำนวนเงินที่ชัดเจน

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ในปี 2568 นี้ คปภ. เตรียมทบทวน 1.ความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) 2.ความคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ของบุคคลภายนอกของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ และ 3.การเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ

หลังจากที่ผ่านมาได้ทบทวนเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ (สันดาป) ไปโดยบังคับให้ระบุชื่อผู้ขับขี่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา สำหรับรถป้ายแดง และจะบังคับใช้กับรถยนต์ทุกคันในวันที่ 1 ม.ค. 2569

โดยเรื่องแรก เกี่ยวกับการทบทวนความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกัน พ.ร.บ. ปัจจุบันมีรถที่ทำประกัน พ.ร.บ. เกือบ 30 ล้านคัน เป็นรถจักรยานยนต์ 60% และรถยนต์ 40% มีขนาดเบี้ยประกันภัยกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยมีอัตราการเคลมสินไหมสูงถึง 4 แสนครั้งต่อปี เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก

แม้ว่า คปภ.ไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องการลดอุบัติเหตุ แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากรถ บริษัทประกันต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในการจ่ายเคลมถึง 4 แสนครั้งต่อปี เพราะฉะนั้น คปภ.จึงมีแนวความคิดว่าควรจะต้องมีการทบทวนความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกัน พ.ร.บ. ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โดยขณะนี้กำลังให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยคำนวณโดยใส่สมมุติฐานในหลาย ๆ ปัจจัยเข้าไปอยู่ อาทิ การเพิ่มความคุ้มครองการเสียชีวิตเฉพาะส่วนของรถที่มีประกัน, การเพิ่มความคุ้มครองกรณีทุพพลภาพแยกออกจากการเสียชีวิต, การเพิ่มความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลส่วนค่าเสียหายเบื้องต้น, ผลกระทบต่อการปรับเบี้ยประกัน

ADVERTISMENT

“ในเวลานี้เราศึกษาในทุกมิติ แต่ยังต้องผ่านคณะกรรมการอีกหลายชุด เรามองว่าปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลโตขึ้นมาก บางอย่างต้องมีการปรับปรุงบ้างแล้ว ระบบการเคลมต่าง ๆ ด้วย เพื่อให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เพราะเกี่ยวข้องกับ 30 ล้านกรมธรรม์

นอกจากนี้จะผลักดันให้การขายประกัน พ.ร.บ.ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมไปถึงการออกกรมธรรม์เป็น e-Policy ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนภาคธุรกิจได้มาก และเพิ่มความสะดวกรวดเร็วขึ้นให้กับลูกค้าในการต่อภาษีประจำปี”

ADVERTISMENT

นายชูฉัตรกล่าวว่า ส่วนประเด็นการทบทวนความคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ของบุคคลภายนอกของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ อย่างเหตุการณ์รถทัวร์นักเรียนเกิดไฟไหม้ ซึ่งเป็นรถโดยสาร 20 ที่นั่ง ได้รับความคุ้มครองพื้นฐานตามประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ กรณีเสียชีวิตบริษัทประกันต้องจ่ายเคลม 5 แสนบาทต่อที่นั่ง วงเงินประกันภัยรวม 10 ล้านบาท ซึ่งเคสนี้บรรทุกผู้โดยสารเกิน 20 ที่นั่ง ทำให้วงเงินถูกเฉลี่ยภัย

“คปภ.เล็งเห็นว่าต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยจะเพิ่มวงเงินความคุ้มครองที่สูงขึ้น รวมไปถึงการเอาผิดกรณีการแจ้งข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงกับสภาพรถ โดยเมื่อเกิดเหตุบริษัทประกันยังต้องจ่ายเคลมเหมือนเดิม แต่สามารถจะเรียกคืนจากเจ้าของรถที่แจ้งเท็จได้”

สุดท้ายเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดในเวลานี้ เพราะฉะนั้น ต้องหาข้อยุติให้ได้ภายในปีนี้ เบื้องต้นทางฝ่ายกฎหมายและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ คปภ. กำลังหาแนวทางกันอยู่

โดยอาจกำหนดค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระบุในเงื่อนไขกรมธรรม์ให้เป็นจำนวนเงินที่ชัดเจนไปเลย โดยไม่มีขั้นต่ำ และจ่ายไม่เกินกี่วัน ถ้าต้องการมากกว่านี้สามารถซื้อเพิ่มได้ เพื่อช่วยลดข้อพิพาทระหว่างบริษัทประกันกับประชาชนผู้เอาประกันได้ คือเกิดเหตุขึ้นจ่ายตามนั้นไปเลย

นอกจากนี้จะมีประเด็นเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มักจะเจอการรอคิวซ่อมและรออะไหล่เป็นเวลานาน เบื้องต้นได้หารือกับสมาคมประกันวินาศภัยไทยแล้วว่า ในส่วนเรื่องคิวซ่อม เป็นไปได้หรือไม่ หากรถอีวีที่มีการทำประกันไว้กับบริษัท ถ้าเกิดอู่ซ่อมนั้นไม่สามารถรองรับการจัดซ่อมให้มีความรวดเร็วได้ จะต้องเป็นหน้าที่ของบริษัทประกันในการจัดหาอู่ซ่อมใหม่ให้ลูกค้า เพื่อจะได้ไม่ต้องรอคิวนาน

และในส่วนเรื่องรออะไหล่ ต้องยอมรับว่าบางยี่ห้อของรถอีวีในเวลานี้ไม่มีอะไหล่รองรับที่เพียงพอ ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าจะเปลี่ยนการขนส่งจากเดิมทางเรือเป็นทางอากาศ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้น และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายได้ตั้งประเด็นคำถามว่า การที่ผู้จำหน่ายรถยนต์ไม่มีอะไหล่ให้กับผู้เอาประกันหรือเจ้าของรถจะซ่อม เป็นความผิดของใครกันแน่

ซึ่งเรื่องนี้มองว่าหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องอาจต้องเข้ากำกับดูแลในการให้ผู้จำหน่ายรถยนต์ ต้องจัดหาอะไหล่ให้เพียงพอในการจัดซ่อมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้วย อย่างไรก็ดี ได้มีการโยนประเด็นเรื่องนี้เข้าไปในการประชุมร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทยไปแล้วในครั้งที่แล้ว ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันในครั้งต่อไปช่วงเดือน มี.ค. 2568 คงจะมีความคืบหน้าที่มากขึ้น

“ข้อร้องเรียนเรื่องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ไม่ได้เกิดปัญหาขึ้นในเฉพาะประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ก็หวังว่าถ้าแก้ไขผลกระทบตรงนี้ได้ น่าจะทำให้เรื่องร้องเรียนลดลงไปได้มาก ซึ่งถือเป็นเรื่องแรก ๆ ที่เราต้องจัดการในปีนี้” เลขาธิการ คปภ.กล่าว