
สัมภาษณ์
เริ่มต้นปี 2568 มา ตลาดหุ้นทั่วโลกต้องเผชิญภาวะความไม่แน่นอน โดยเฉพาะจากการกลับมาสู่อำนาจอีกครั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ทำให้สงครามการค้ากลับมารุนแรงอีกครั้ง ซึ่งตลาดหุ้นไทยที่ทำผลงานไม่ดีมาหลายปีอยู่แล้ว ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
มองไปข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ต้องปรับ ต้องแก้ไขกันอย่างไร รุ่นใหญ่ในวงการตลาดทุนไทยอย่าง “ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ” ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจ
“ทรัมป์” ป่วนลงทุนทั่วโลก
“ดร.ก้องเกียรติ” กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนทั่วโลกปีนี้ จะเป็นปีที่เผชิญกับความเสี่ยงใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมาจากสงครามการค้ารอบใหม่ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านอื่น ๆ ตามมา โดยท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน ล้วนสร้างแรงกดดันตลาดเงินและตลาดทุนให้มีความผันผวนรุนแรงมาก ทำให้มองว่าปีนี้ การลงทุนไม่ว่าตลาดใดก็ยากขึ้น ทั้งตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นต่างประเทศ
“สาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วนคงหนีไม่พ้นการกลับมาของทรัมป์ โดยลักษณะของทรัมป์เป็นคนที่ช่างเจรจาต่อรอง และรับผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก ซึ่งเรื่องเก็บภาษีเม็กซิโก แคนาดา รวมถึงจีน ยังต้องติดตาม”
หุ้นไทยแย่นักลงทุนหนีไปหุ้นนอก
โดยภาวะตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันไม่ค่อยดีมากนัก สาเหตุหลักเป็นเพราะปัจจัยภายใน ที่หากมองในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเกิดใหม่มีค่อนข้างน้อย บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนมากเป็นธุรกิจดั้งเดิมในอุตสาหกรรมเก่า (Old Economy) ขณะที่เม็ดเงินลงทุนยังมาจากนักลงทุนยังเป็นกลุ่มเดิม ๆ (Old Investor) ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ออกมาก็ไม่ค่อยโตได้เท่าที่ควร ซึ่งในปัจจุบันมีทางเลือกในการลงทุนต่างประเทศค่อนข้างมาก นักลงทุนจึงหันไปมองหาตลาดที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า
“จะเห็นได้ว่าผลประกอบการของ บจ.ไทยที่ผ่านมาเติบโตได้ต่ำ ในขณะที่ปัจจุบันมีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลาย ดังนั้น เมื่อนักลงทุนลงทุนในตลาดหุ้นไทยแล้วขาดทุน จึงไม่มีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนต่อไป”
หวังผลประกอบการ บจ.ดีขึ้น
สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทย “ดร.ก้องเกียรติ” ชี้ว่า จะต้องติดตามผลประกอบการ บจ.ที่จะประกาศออกมาเป็นหลัก โดยมองว่าหุ้นกลุ่มที่ยังสามารถทำกำไรได้ดี ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มสื่อสาร และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการส่งออก
และเม็ดเงินลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) ด้วย ว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนได้เมื่อไหร่ ถ้าเข้ามาได้อย่างต่อเนื่องก็จะเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจาก FDI จะเป็นปัจจัยที่นำหน้าตลาดหุ้นอยู่แล้ว
“ผมมองว่าตลาดหุ้นไทยคงไม่แย่ไปตลอด แต่หวังว่าผลประกอบการที่ประกาศมาจะมีอะไรดีขึ้น ประเทศไทยมีธนาคารพาณิชย์ที่ผลประกอบการดีเป็นตัวช่วย รวมถึงธุรกิจสื่อสาร นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่ต้องดูในมุม Valuation และ P/E ด้วย ว่าแพงเกินไปหรือไม่ อย่างธุรกิจอาหาร Valuation ค่อนข้างถูก แต่เนื่องจากสภาพคล่องไม่ค่อยมี นักลงทุนจึงอาจจะไม่ได้โฟกัสมากนัก”
“ดร.ก้องเกียรติ” กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2568 กำลังเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันจากภายนอกที่รุนแรงขึ้น และความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่สูงขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งทิศทางนโยบายการค้าโลก ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยก็พยายามเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ
“ประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.9% เงินเฟ้อมีแนวโน้มจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% ซึ่งปีนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 1.1%”
ธุรกิจโบรกเกอร์ทยอยปิดตัว
“ดร.ก้องเกียรติ” กล่าวอีกว่า ในมุมของธุรกิจหลักหลักทรัพย์ถือว่าวิกฤต ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การดำเนินธุรกิจไม่มีกำไรจากธุรกิจโดยตรง แต่มาจากธุรกิจเสริมเป็นหลัก หรือให้บริการกู้ยืมเงินหรือหลักทรัพย์ (Margin Loan) มากกว่า ทำให้บางบริษัทหลักทรัพย์ปิดตัว หรือมีการควบรวมกันมากขึ้น นอกจากนี้ ลูกค้าหันไปเทรดหุ้นเองมากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ธุรกิจหลักทรัพย์จะต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป
“โลกมันเปลี่ยนไปเยอะ ถ้าใครไม่ปรับตัวก็ต้องปิดกิจการ หรือแม้กระทั่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ต้องระมัดระวังในการออกใบอนุญาตควรให้ที่มีหลักเกณฑ์เข้มมากขึ้น”
“เอเซีย พลัส” ปรับลุย Wealth
สำหรับธุรกิจหลักทรัพย์ของ บล.เอเซีย พลัส มุ่งสู่เป้าหมายหลักขององค์กรในการ Transform To Wealth ด้วยการยึดหลักกลยุทธ์ที่ชัดเจนสร้างการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์และบริการ จากการเป็นเพียงนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) ได้ยกระดับขึ้นสู่การเป็น ผู้ให้บริการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management)
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการจัดกลุ่ม Segment ออกมาจะทำให้สามารถโฟกัสกลุ่มลูกค้า High Net Worth ได้อย่างชัดเจน และสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินการลงทุนให้ลูกค้าเลือกได้อย่างตรงกลุ่ม ด้วยการ Customize แผนการลงทุนเฉพาะบุคคล
ขณะที่บริษัทเองมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้เลือกลงทุนหลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเภทหลักทรัพย์ต่าง ๆ ในตลาดทุน กองทุนรวม Structure Note หุ้นกู้ พันธบัตร การลงทุนนอกตลาด อาทิ Private Equity, Hedge Fund, Startup รวมไปถึงประกันภัย
“ดังนั้น บริษัทจึงให้ความสำคัญในการอบรมเพิ่มทักษะด้านการบริหารความมั่งคั่ง และการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนแบบ Cross Selling ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้แนะนำการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีศักยภาพในการให้คำแนะนำที่ดีและแม่นยำ แก่ลูกค้าที่ต้องการสร้างผลตอบแทนเติบโตในระยะยาว ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมในแต่ละ Segment” ดร.ก้องเกียรติกล่าว