BBL เดินหน้าธุรกิจต่างประเทศ ปักหมุดโตตลาดอาเซียนดันรายได้ 25%

BBL เดินหน้าธุรกิจต่างประเทศ ปักหมุดโตตลาดอาเซียนดันรายได้ 25%
เจริญลาภ ธรรมาณิชานนท์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

หลายปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทยหลายแห่ง ให้ความสำคัญกับการออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศกันมากขึ้น มีการไปเข้าไปถือหุ้น หรือแม้กระทั่งซื้อกิจการสถาบันการเงิน โดยเฉพาะในแถบประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคกันอย่างคึกคัก ซึ่งธนาคารกรุงเทพ (BBL) แบงก์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

โดยปัจจุบันมีเครือข่ายสาขาในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดถึง 25 แห่ง ครอบคลุม 13 เขตเศรษฐกิจสำคัญ ล่าสุด “เจริญลาภ ธรรมาณิชานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กิจกรรมธนาคารต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ ได้มาอัพเดตการทำธุรกิจต่างประเทศให้ฟัง

ธุรกิจต่างประเทศซัพพอร์ตลูกค้า

“แผนยุทธศาสตร์ของธุรกิจต่างประเทศในปี 2568 ธนาคารกรุงเทพยังคงโฟกัสสนับสนุนลูกค้าขยายโอกาสและการลงทุนไปยังต่างประเทศในทุกพื้นที่ ตอกย้ำบทบาทในฐานะธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค ผ่านการสนับสนุนลูกค้าธุรกิจผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายและครบวงจร” คำตอกย้ำจาก “เจริญลาภ” ถึงทิศทางของแบงก์ในปีนี้

พร้อมชี้ว่า แม้ว่าในทุกพื้นที่ในทุกประเทศจะมีโอกาสการเติบโต แต่ที่จะเด่นชัดที่สุดและมีศักยภาพมากกว่าที่อื่น คือ ภูมิภาคอาเซียน โดยธนาคารจะใช้เครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีอยู่ในการสนับสนุนการเติบโตของลูกค้า ซึ่งไม่ได้เฉพาะแค่นักลงทุนไทย แต่ยังมีนักลงทุนจีน สิงคโปร์ และอื่น ๆ ให้ความสนใจลงทุนในอาเซียน หรือแม้กระทั่งไกลออกไปอย่าง สหรัฐ หรืออังกฤษ ธนาคารก็พร้อมสนับสนุนลูกค้า ผ่านบุคลากรที่มีความรู้ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาธุรกิจอย่างแข็งแกร่ง ช่วยตอบโจทย์และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

อาเซียนมีศักยภาพ-มีโอกาส

สิ่งที่ทำให้อาเซียนเป็นที่น่าสนใจ มาจาก 2 ธีมสำคัญ คือ 1.การเชื่อมโยงกันเองในภูมิภาค ภายใต้ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า และหลังการระบาดของโควิด-19 ที่จะเห็นว่าซัพพลายเชนโลกถูกเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ทุกคนต้องปรับซัพพลายเชน เพื่อรับกับสงครามการค้าที่เกิดขึ้น จะไม่สามารถโฟกัสที่จีนแห่งเดียวได้

“ดังนั้นจะทำให้การลงทุนในภูมิภาคมีมากขึ้น โดยจะเห็นว่าภูมิภาคอาเซียนเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และเศรษฐกิจจะขึ้นเป็นอันดับ 4 ของโลกภายในปี 2573 จึงเกิดการลงทุนในอาเซียนที่เป็น Product Based เพื่อเสิร์ฟตลาดอาเซียน ที่ไม่ใช่จีนอย่างเดียว”

ADVERTISMENT

2.การเข้าสู่ความเป็นเมือง (Urbanization) หากดู 4 ประเทศหลัก อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จะเห็นว่าอัตราการเติบโตของประชากรค่อนข้างสูง และเศรษฐกิจที่เติบโตสูง ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมเมือง โดยพบว่าคนเข้ามาอยู่ในหัวเมืองใหญ่ ส่งผลให้เกิดการอุปโภคบริโภค ทำให้สังคมเมืองมีโอกาสเติบโตสูงขึ้น เพราะต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับประชากรและการบริโภคอุปโภคที่เพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจภาคการผลิตและที่อยู่อาศัยมีโอกาสเติบโตและได้อานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงของ Urbanization ด้วย

“แม้ว่าตลาดอาเซียนจะมีโอกาสมากกว่าที่อื่น แต่ก็มีปัจจัยลบที่ต้องติดตามอยู่คือ เรื่องของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ใช่แค่ Trade War แค่ระหว่างจีนและสหรัฐ แต่เราเห็นสงครามในตะวันออกกลาง ซึ่งปัญหา Geopolitics ค่อนข้างเปราะบาง จึงต้องจับตาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย”

ADVERTISMENT

4 ประเทศ Growth Market

โดยภูมิภาคอาเซียนจะมีอยู่ 4 ประเทศ ที่เป็น “Growth Market” ที่มีการเติบโตได้ต่อเนื่อง ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ สะท้อนจากปริมาณการให้สินเชื่อและความต้องการของลูกค้าที่มากขึ้น ทั้งธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) และธุรกรรมเงินโอนที่มีมากขึ้นเช่นกัน

“โดยเฉพาะอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่แบงก์กรุงเทพมีอัตราการเติบโตสูงสุด ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารเพอร์มาตาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารกรุงเทพ ทำให้แบงก์มีศักยภาพสนับสนุนลูกค้าได้มากขึ้น และมีฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น เนื่องจากเพอร์มาตาเป็นผู้นำด้านดิจิทัลแบงกิ้งและเทคโนโลยีการชำระเงิน ถือเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย มีเครือข่ายสาขากว่า 200 แห่งใน 61 เมือง ทำให้สามารถให้บริการและต่อยอดลูกค้าได้”

ขณะที่ฟิลิปปินส์ เป็นตลาดที่มีความคาดหวังอีกประเทศ เพราะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจและประชากรที่เติบโตสูง แต่รูปแบบการเข้าไปทำธุรกิจนั้น แบงก์ไม่จำเป็นต้องมีสาขาจำนวนมาก ปัจจุบันธนาคารกรุงเทพมีสาขาอยู่ที่กรุงมะนิลา ถือเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งเดียวที่มีสาขาในฟิลิปปินส์ โดยให้บริการลูกค้าธุรกิจ และเห็นสัญญาณลูกค้าที่ไปลงทุนในฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่อง

นอกจาก 4 ประเทศดังกล่าวแล้ว “ตลาดอินเดีย” ก็เป็นอีกตลาดที่มีศักยภาพ ซึ่งธนาคารอยู่ระหว่างการศึกษา เพราะการจะทำธุรกิจในประเทศใดก็ตาม อาจจะต้องมีลูกค้าก่อนที่จะเข้าไปลงทุน โดยต้องศึกษาหลายปัจจัยทั้งลูกค้า ความพร้อมของธนาคาร และด้านอื่น ๆ เช่น การเปิดกว้างของระบบการเงินในประเทศนั้น ๆ ดังนั้นแม้ว่าตลาดมีศักยภาพ ธนาคารคงไม่ได้ไปในทันที แต่ปัจจุบันยอมรับว่ามีลูกค้าทั้งไทยและอินเดียที่ให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนและทำธุรกิจในอินเดีย

“สัดส่วนรายได้จากธุรกิจต่างประเทศของแบงก์ยังคงอยู่ที่ราว 25% ของรายได้รวมทั้งหมด ซึ่งเป้าหมายการเติบโตยอมรับว่าการเติบโตในต่างประเทศค่อนข้างสูง และสอดคล้องกับจีดีพีของแต่ละประเทศ โดยกลุ่มประเทศในอาเซียนเติบโตค่อนข้างดีมากกว่าไทย ดังนั้น เราจะเห็นดีลการค้าและการลงทุนในตลาดอาเซียนมีต่อเนื่อง และหลากหลายรูปแบบ ทั้งการลงทุนโดยตรง และควบรวมกิจการ (M&A) และการขอวงเงินสินเชื่อทำธุรกรรม เป็นต้น”

“จีน-เมียนมา” ช่วงเปลี่ยนผ่าน

“เจริญลาภ” กล่าวว่า ส่วนธุรกิจในจีน ธนาคารกรุงเทพยังให้ความสำคัญ แต่ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือเรียกว่า Economy Transition ซึ่งจะมีความท้าทายเกิดขึ้นบ้าง เพราะในช่วงการเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทาง คือ คลื่นลมต้าน เช่นเดียวกับธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ไม่ได้เพิ่งเกิด แต่จีนสนับสนุนมาแล้วเป็น 10 ปี ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจจีนไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก และธนาคารกรุงเทพผ่านมาแล้วหลายเหตุการณ์ ดังนั้น ธนาคารยังคงดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบและสอดคล้องกับสถานการณ์

เช่นเดียวกับเมียนมา ซึ่งอาจจะมีลมต้านสูง ทำให้การทำธุรกิจมีความท้าทาย อย่างไรก็ดี แม้ว่าในเมียนมาอาจจะไม่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แต่การบริโภคภายในประเทศยังคงมีความต้องการ ดังนั้น ลูกค้าที่เน้นเรื่องการบริโภคภายในประเทศ มองว่ายังไปได้ แต่การปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารอาจจะต้องให้ความระมัดระวัง

“การแข่งขันของแบงก์ไทยที่ต้องการรุกตลาดอาเซียนและต่างประเทศนั้น เป็นการแข่งขันกันเองในแต่ละภูมิภาค เพราะแต่ละประเทศต่างก็มีธนาคารท้องถิ่น ส่วนธนาคารต่างประเทศ จะโฟกัสในด้านอื่น แต่ในการแข่งขัน เราจะต้องหาว่าเราจะเน้นอะไร ซึ่งธนาคารกรุงเทพ เราจะเน้นธุรกิจลูกค้ารายใหญ่ ส่วนในประเทศ ซึ่งจะเห็นว่า FDI เพิ่ม New High ทุกปี เราก็พร้อมสนับสนุนลูกค้าทุกรูปแบบ” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพกล่าว