กอบศักดิ์ เชื่อไทยเสี่ยงถูกตั้งกำแพงภาษี เตือนรับมือ ‘ทรัมป์’ 5 ช่องทาง

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
กอบศักดิ์ ภูตระกูล

ดร.กอบศักดิ์ มองไทยมีโอกาสสูงถูกสหรัฐตั้งกำแพงภาษี แนะหาทางเจรจาสหรัฐ รับมือผลกระทบ 5 ช่องทาง ทั้งด้าน “การค้า-การท่องเที่ยว-เงินลงทุน-ความผันผวนของสินทรัพย์-ความเชื่อมั่น” แนะเจรจาเงียบ ๆ-ไม่ทำตัวเป็นเป้า

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยในรายการ “ทันเศรษฐกิจกับธนาคารกรุงเทพ” ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐมาครบ 17 วันแล้ว ซึ่งเป็น 17 วันที่มีสีสันอย่างยิ่ง เพราะมีข่าวไม่เว้นแต่ละวัน แถมทุกวันมีข่าวเด็ด ๆ ให้ต้องติดตามอยู่เสมอ ทำให้เห็นว่าวันนี้เรากำลังอยู่ในโลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยความปันป่วนผันผวนมากกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดการเงิน เพราะทรัมป์พูดอะไรก็กระทบไปหมด ทั้งหุ้น อัตราแลกเปลี่ยน สินทรัพย์ต่าง ๆ

“วันที่ทรัมป์เข้ามา วันที่ 20 ม.ค. 2568 ยังไม่ประกาศเกี่ยวกับภาษี ตลาดหุ้นก็ปรับขึ้น จนกระทั่งวันที่ 31 ม.ค. 2568 มีการประกาศยืนยันจะเก็บภาษีแคนาดา และเม็กซิโก 25% รวมถึงจีนอีก 10% ก็ทำให้ราคาหุ้นดาวโจนส์ตก แล้วพอประกาศว่าจะชะลอภาษีเม็กซิโกกับแคนาดา 30 วัน ก็ทำให้หุ้นกลับขึ้นมาได้ แต่ระหว่างทางนั้น นักลงทุนก็เสียหายย่อยยับ ทั้งคนเล่น Short เล่น Long อะไรต่าง ๆ เรียบร้อยไปแล้ว

ไม่ใช่แค่สินทรัพย์เดียว ค่าเงินต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน แม้แต่บิตคอยน์ก็ผันผวน แล้วก็ยังมีหุ้นนิกเคอิของญี่ปุ่น ส่วนทองคำก็ผันผวนเล็กน้อย แต่คนคิดว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ดี ทำให้ราคาทะลุขึ้นมาใกล้ 2,900 ดอลลาร์”

ทั้งหมดนี้คือตลาดการเงินโลกกำลังอยู่ในช่วงของความปั่นป่วนผันผวนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งมาจาก “ลมปาก” ของคนคนเดียว และจะเป็นเช่นนี้ไปอีก 4 ปีที่โลกการเงินจะผันผวนต่อไป

“ผมบอกเลยว่า ถ้าอเมริกาประกาศทำกับแคนาดา เม็กซิโก และจีนได้ ทุกประเทศก็เข้าข่ายได้เช่นเดียวกัน เพราะว่า 3 ประเทศนี้คือคู่ค้าหลักของสหรัฐ เม็กซิโกอันดับหนึ่ง แคนาดาอันดับสอง และจีนอันดับสาม”

ADVERTISMENT

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า การที่สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าจีนแค่ 10% ไม่ใช่ 25% เหมือนกับอีกสองประเทศนั้น ก็เนื่องจากในสมัยทรัมป์ 1.0 เคยขึ้นภาษีจีนมาแล้ว เมื่อมาขึ้นอีก 25% ก็จะใกล้เคียงกับ 25% ที่สำคัญสหรัฐยังมีการยกเลิกการยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าที่ราคาต่ำกว่า 800 เหรียญด้วย ซึ่งทำให้แพลตฟอร์ม TEMU ที่ส่งสินค้าจีนเข้าไปตีตลาดสหรัฐจะได้รับผลกระทบด้วย

“แต่กรณีเม็กซิโกกับแคนาดาต่างจากจีนอย่างสิ้นเชิง เพราะทรัมป์รู้อยู่แล้วว่า สองประเทศนี้จะยอม แต่เมืองจีนคงไม่ยอม”

ADVERTISMENT

โดยแม้ว่าจีนจะมีการประกาศมาตรการตอบโต้สหรัฐไปแล้ว แต่ก็มองกันว่ามาตรการยังน้อยมาก เทียบกับการที่จีนได้รับผลกระทบ ซึ่งตกประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ดังนั้น ทุกคนจึงจับตาว่าการหารือกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน จะออกมาเป็นอย่างไร

“ผมคิดว่าหนังม้วนนี้เพิ่งอยู่ในช่วงไตเติ้ลเท่านั้น แค่ 17 วันแรกของ 4 ปี เราจะเห็นความขัดแย้ง สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐซึ่งสมน้ำสมเนื้อ ก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้น”

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ทรัมป์ให้ความสำคัญและประกาศตั้งแต่ต้นคือ Tariff (ภาษี) ต่อมาคือ คนอพยพเข้าเมือง อีกเรื่องภาษีในเชิงการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ และตามด้วยเรื่องเกี่ยวกับการกำกับดูแลต่าง ๆ

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ มีคนถามประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่ามองเรื่องการค้าอย่างไร ซึ่งเฟดบอกว่ามีการติดตามอยู่ 5-6 ประเด็น เพื่อดูผลกระทบ คือ 1.อัตราภาษีจะคิดเท่าไหร่ 10% 20% หรือ 60%

2.ครอบคลุมแค่ไหน 3.สงครามการค้ายาวนานแค่ไหน 4.ใครบ้าง หรือมีกี่ประเทศที่จะเข้าร่วม ที่สำคัญแต่ละประเทศจะตอบโต้อย่างไร สุดท้าย 5.สิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผ่านเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทางช่องทางไหนบ้าง

“ผมคิดว่านี่คือคำถามที่เราต้องจับตาดู อย่างน้อยก็ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า และหลังจากนั้น ผมคิดว่าหลาย ๆ ประเทศที่เล็ก ๆ ก็ต้องยอม จะมีเฉพาะยักษ์ใหญ่ที่เขาจะสู้กันได้สมน้ำสมเนื้อ”

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐอันดับ 10 กว่า ๆ แต่ยังน้อย เมื่อเทียบกับยุโรป หรือแม้กระทั่งเวียดนาม แต่มองว่าไทยมีโอกาสสูงที่จะถูกขึ้นภาษีด้วย ซึ่งผลกระทบต่อไทยสามารถเกิดขึ้นได้ 5 ช่องทาง

ดังนั้น ต้องคิดต้องเตรียมการรับมือ คือ 1.การค้า ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า โรงงานจีนแอบมาตั้งในไทย จะเป็นเป้าหมายการดำเนินการของสหรัฐ ขณะเดียวกัน หากจีนกับสหรัฐจะเดินหน้าเข้าสู่ความขัดแย้ง อีกช่องที่จะกระทบไทยได้ก็คือ สินค้าเล็ก ๆ ในเมืองจีนที่เคยส่งไปสหรัฐ ก็จะหาช่องทางเข้ามาในไทย

“ผมก็อยากเตือนเอสเอ็มอีในไทย ว่าจากเดิมที่สินค้าจีนทะลักเข้ามาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในอนาคตการหมุนของสินค้าจะหมุนอีกแบบ สินค้าจะส่งมาในไทย แล้วก็ส่งไปสหรัฐ ก็จะกระทบกับผู้ผลิตในประเทศอีกแบบหนึ่ง”

2.การท่องเที่ยว ก็เป็นอีกช่องทางที่ต้องจับตา ว่าสงครามการค้าจะกระทบความเชื่อมั่นของคนแค่ไหน 3.เงินลงทุน ทั้งในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร รวมถึงเงินลงทุนโดยตรง (FDI) ที่จะเข้ามาลงทุนในไทย 4.ความผันผวนของสินทรัพย์ต่าง ๆ และ 5.ความเชื่อมั่น

“ทั้ง 5 ช่องทาง เป็นช่องทางที่ปัญหาข้างนอกจะไหลเข้ามาในประเทศไทย เราต้องคิดดี ๆ ว่าเราจะเดินหน้าอย่างไร”

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ไทยทำได้ก็คือ เตรียมแนวทางในการเจรจากับสหรัฐ ต้องถามว่าเราได้เปรียบเขา หรือเอาเปรียบเขาตรงไหน หรือแม้กระทั่งประเด็นที่จีนจะใช้ไทยเป็นฐานในการส่งสินค้าไปสหรัฐ เราก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไร ขณะเดียวกัน ก็ต้องดูว่าสิ่งที่เราทำจะเป็นประโยชน์กับสหรัฐได้มีอะไรบ้าง เราจะไปลงทุนในสหรัฐได้ในจุดไหนบ้าง

นอกจากนี้ สหรัฐก็คงอยากให้ไทยซื้อสินค้าจากเขา เพราะไทยเกินดุลสหรัฐ ซึ่งหลายครั้งสหรัฐจะพูดถึงเรื่องเครื่องบิน รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ สินค้าอื่น ๆ ดังนั้น ก็คงต้องมาคิดว่าเราจะดำเนินการอะไรได้บ้าง

“แนวทางเจรจาที่เราจะเตรียมการไว้ในการเจรจา และการเตรียมการบรรเทาผลกระทบจาก 5 ช่องทาง ทั้งหมดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเตรียมการ ซึ่งผมขอเตือนเลยว่า ขนาดประเทศคู่ค้าหลักเขายังจัดการขนาดนี้แล้ว ก็ไม่ต้องนับประเทศคู่ค้าเล็ก ๆ อย่างเรา ถ้าไม่มีดีลดี ๆ ให้เขาก็คงถูกขึ้นภาษี

ส่วนเราก็ต้องดูว่าเป้าหมายของเราจะทำอย่างไรให้ผ่านจุดนี้ไปให้ได้ และในช่วง 4 ปีข้างหน้าเราคงต้องทำตัวให้เรียบร้อย ไม่ให้เป็นเป้าสายตาของเขา แล้วก็เจรจาเงียบ ๆ แล้วความสำเร็จของไทยในเรื่องสงครามการค้าครั้งนี้จะมาจากการที่ทุกประเทศปั่นป่วนหมด แต่ประเทศไทยอยู่ร่วมกับเขาได้”

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวตอนท้ายว่า ท่ามกลางความขัดแย้งอาจจะมีช่องให้ไทยสามารถยืนอยู่ได้ และอาจจะเป็นประโยชน์กับไทยด้วย เพียงแต่เราต้องไม่ไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสงคราม แล้วมองหาโอกาสของเราจริง ๆ อยู่ตรงไหน ซึ่งตอนนี้มีข้อมูลน่าสนใจว่า คลื่น FDI ที่เคยไหลไปจีนตอนนี้ไหลกลับมาอาเซียนอีกครั้ง สะท้อนจากตัวเลขคำขอบีโอไอที่เพิ่มขึ้นมาก และน่าจะยังไม่จบ