เงินบาทอ่อนค่า ตามสกุลเงินในภูมิภาค

ธนบัตร แบงก์

เงินบาทอ่อนค่าตามสกุลเงินในภูมิภาค โดยเฉพาะค่าเงินหยวนที่ปรับตัวอ่อนค่าจากข่าวสงครามการค้ากับสหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 33.77/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (06/02) ที่ระดับ 33.56/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (05/02) ที่ระดับ 33.56/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า หลังสหรัฐประกาศบังคับใช้มาตรการภาษีเมื่อวันอังคาร (04/02) และรัฐบาลจีนได้ตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐ ในอัตรา 15% ภาษีนำเข้าน้ำมันดิบ อุปกรณ์ด้านการเกษตร และรถยนต์บางประเภท ในอัตรา 10% โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.

ด้านทำเนียบขาวเปิดเผย การสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนอาจจะมีขึ้นอย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์นี้ เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งด้านการค้าของทั้ง 2 ประเทศ ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่าไม่รีบร้อนที่จะหารือกับผู้นำจีน

สำหรับตัวเลขสหรัฐที่ประกาศในคืนที่ผ่านมา ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP0 เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 183,000 ตำแหน่งในเดือน ม.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 150,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 176,000 ตำแหน่งในเดือน ธ.ค.

อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐ 24.7% สู่ระดับ 9.84 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน ธ.ค. 2567 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี อีกทั้งการนำเข้าพุ่งขึ้น 3.5% สู่ระดับ 3.65 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และการส่งออกลดลง 2.6% สู่ระดับ 2.66 แสนล้านดอลลาร์

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ มีเจ้าหน้าที่เฟดได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีศุลกากรและประเด็นอื่น ๆ ภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์นั้น อาจกระทบกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะใช้ความระมัดระวังในการตัดสินใจว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้หรือจะคงอัตราดอกเบี้ยต่อไป

ด้านปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน ม.ค.อยู่ที่ 100.57 ปรับขึ้น 1.32% จากเดือน ม.ค. 2567 โดยมีปัจจัยจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และผลจากฐานราคาต่ำในปีที่ผ่านมา ประกอบกับราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นสำคัญ

ADVERTISMENT

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ม.ค.อยู่ที่ 101.08 ปรับขึ้น 0.83% จากเดือน ม.ค. 2567 คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสที่ 1/2568 จะอยู่ที่ 1.1-1.2% ตามกรอบเป้าหมาย โดยในปี 2568 นี้ กระทรวงพาณิชย์วางเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไว้ที่ 0.3-1.3% หรือเฉลี่ยทั้งปีที่ 0.8% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง คงกรอบนโยบายการเงิน หรือเป้าหมายเงินเฟ้อปีนี้ไว้ที่ 1-3%

ขณะที่มาตรการแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป (เงินหมื่น เฟด 2) เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมานั้น นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค.กล่าวว่าไม่ได้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ในระหว่างวันค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค โดยเฉพาะค่าเงินหยวนที่ปรับตัวอ่อนค่าจากข่าวสงครามการค้ากับสหรัฐ ประกอบกับ การปรับลงของราคาทองคำและการปรับตัวลงของตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ปรับตัวร่วงลงราว -24.67 จุด ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอยู่ในกรอบระหว่าง 33.56-33.86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.77/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้า (06/02) ที่ระดับ 1.0400/02 สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (05/02) ที่ระดับ 1.0422/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นักลงทุนจับตาธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในวันนี้ (06/02) เพื่อเป็นการพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา ขณะที่ยังคงมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในระดับสูง

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่าเศรษฐกิจอังกฤษแทบไม่มีการขยายตัวนับตั้งแต่กลางปี 2567 โดยได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับการที่ราเชล รีฟส์ รัฐมนตรีคลังประกาศเก็บภาษีเพิ่มขึ้นสำหรับนายจ้าง ความเสี่ยงของสงครามการค้าระดับโลกที่จุดชนวนโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้แอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการ BOE และคณะกรรมการต้องระมัดระวังในการแสดงจุดยืนเกี่ยวกับแผนการดำเนินนโยบาย ในปี 2568 ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยายของ BOE อยู่ที่ 4.75% ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ตามที่ตลาดคาดการณ์ในวันนี้ จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของ BOE อยู่ที่ระดับเดียวกับของนอร์เวย์ และใกล้เคียงกับกรอบอัตราดอกเบี้ยที่ 4.25-4.5% ของเฟด

โดยค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0357-1.0405 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0362/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ส่วนค่าเงินเยนเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (06/02) ที่ระดับ 152.51/52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (05/02) ที่ระดับ 152.63/65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังกรรมการรายหนึ่งมองว่า BOJ ควรปรับขึ้นดอกเบี้ยให้ถึงอย่างน้อย 1% ภายในครึ่งหลังของปีงบประมาณ 2568 ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนอยู่ในกรอบระหว่าง 151.82-152.89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 152.67/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ของสหรัฐ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน และผลิตภาพ-ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยในไตรมาส 4/2567 (ประมาณการเบื้องต้น) รวมถึงการประชุมนโยบายการเงินของ BOE

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -5.56/-5.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.20/-4.15 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ