
คอลัมน์ : เล่าให้รู้กับ ก.ล.ต. ผู้เขียน : อาชินี ปัทมะสุคนธ์ สำนักงาน ก.ล.ต.
ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลก ดังที่เห็นปรากฏเป็นข่าวซึ่งถูกจับตามองของคนทั่วไป เมื่อสหรัฐอเมริกามุ่งหมายจะเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน (รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล) ในส่วนของประเทศไทยนั้น ก.ล.ต.มีความพร้อมในการเปิดรับเทคโนโลยีที่จะมาช่วยให้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
โดยมีแนวคิดในการพัฒนาระบบนิเวศหลักทรัพย์ดิจิทัล (Digital Securities Ecosystem) ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนตลาดทุนไทยไปสู่โลกดิจิทัล โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทย ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานและเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ยังเพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงการลงทุนได้อย่างเท่าเทียม โดยอาศัยเทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT)
หากมองถึงความจำเป็นหรือเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ก็มีอยู่หลายประการ เช่น ที่ผ่านมาการพัฒนาระบบต่าง ๆ ของผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนเป็นการปรับปรุงบนระบบเดิมทำให้เกิดความซับซ้อนโดยไม่จำเป็น การทำงานที่เน้นใช้บุคลากรที่อาจทำให้ต้องอาศัยระยะเวลาในการดำเนินการ
การมีต้นทุนค่าใช้จ่ายจากตัวกลางหลายประเภท การมีข้อจำกัดในการตรวจสอบย้อนหลังเนื่องจากมีหลายฐานข้อมูลหรือยังจัดเก็บเป็นเอกสาร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงเป็นตัวเร่งให้ต้องเกิดการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้ระบบตลาดทุนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ด้านจุดเด่นของเทคโนโลยีบล็อกเชน หรือ DLT ที่จะมาใช้กับตลาดทุน เช่น ใช้การเข้ารหัสเพื่อความปลอดภัยป้องกันการปลอมแปลง กระจายข้อมูลในเครือข่าย เพิ่มความโปร่งใส ลดความเสี่ยงเชิงระบบ ข้อมูลไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลได้หรือทำได้ยากมาก ๆ เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเครือข่ายยอมรับธุรกรรมร่วมกัน
นอกจากนี้ ยังสามารถเขียนชุดคำสั่งให้ทำงานอัตโนมัติ ลดการพึ่งพาตัวกลาง เช่น การใช้ Smart Contracts หรือสัญญาอัจฉริยะ ที่ทำงานโดยอัตโนมัติผ่านเครือข่ายบล็อกเชน โดยมีการระบุเงื่อนไขและข้อตกลงล่วงหน้าในรูปแบบของโค้ดโปรแกรม เมื่อเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเกิดขึ้น ระบบก็จะดำเนินการตามข้อตกลงทันทีโดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางหรือบุคคลที่สามในการยืนยัน
สำหรับตัวอย่างที่จะนำเทคโนโลยีบล็อกเชน หรือ DLT มาใช้ในกิจกรรมตลาดทุนได้ ก็มีทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง โดยการนำมาใช้ในตลาดแรก เช่น การออกหลักทรัพย์รูปแบบดิจิทัลซึ่งออกได้ทั้งแบบที่เรียกว่า Digital Twin คือการออกหลักทรัพย์ในรูปแบบเดิมแต่อาจจะให้ Custodian หรือผู้เก็บรักษาทรัพย์สินเก็บหลักทรัพย์นั้นไว้แล้วนำมา Tokenize ออกมาเป็นโทเค็นดิจิทัลเพื่อให้สามารถซื้อขายบนบล็อกเชนได้และยังสามารถทำให้เป็นหน่วยย่อยได้ด้วย
แต่รูปแบบนี้ก็ยังต้องคอยมาเช็กหรือคอยตรวจสอบข้อมูลให้ตรงกันเสมอ อีกรูปแบบหนึ่งคือ Digital Native ที่เป็นการออกหลักทรัพย์ที่เป็นดิจิทัลตั้งแต่ต้นและอยู่บนบล็อกเชน ตอนนี้การจะออกหลักทรัพย์แบบ Digital Native ยังอยู่ระหว่างแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ให้รองรับการออกหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ตลอดสาย เนื่องจากการออกหลักทรัพย์ในรูปแบบกระดาษก็อาจไม่สอดคล้องกับแนวทางของโลกดิจิทัลที่ต้องมีความจริงเพียงหนึ่งเดียว หรือ Single Source of Truth ที่อยู่บนบล็อกเชน
อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนยังสามารถขอออกเอกสารแสดงสิทธิเป็นสำเนาเอกสารสิ่งพิมพ์เพื่อใช้ยืนยันได้ นอกจากนี้ ในส่วนของตลาดแรก DLT ยังสามารถนำมาใช้ในการสร้างฐานข้อมูลหลักทรัพย์บน Distributed Ledger และการเข้าถึงหลักทรัพย์ดังกล่าวก็จะเปลี่ยนเป็นการใช้ Private Key โดยที่ลูกค้าอาจจะเก็บไว้เอง หรือฝากไว้กับ Custodian เป็นผู้เก็บรักษาแทนก็ได้ เป็นต้น ส่วนตลาดรองก็มีกิจกรรมที่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งในเรื่องระบบการซื้อขาย การส่งมอบ ไปจนถึงการให้บริการ Post-trade Service เรียกว่ารองรับได้ทุกกิจกรรมหลัก
ทั้งนี้ แนวคิดในการพัฒนาระบบนิเวศหลักทรัพย์ดิจิทัล (Digital Securities Ecosystem) มีเป้าหมายที่จะช่วยตอบโจทย์ในหลายด้าน เช่น ทำให้การระดมทุนและการลงทุนทำได้อย่างรวดเร็ว ลดต้นทุน โปร่งใส สามารถเอื้อให้เกิดการแข่งขันเพื่อสร้างบริการและนวัตกรรมใหม่ ๆ เชื่อมโยงระบบที่หลากหลายเข้าด้วยกัน ตลอดจนทำให้สามารถเกิดการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการในตลาดทุนได้ง่ายยิ่งขึ้น
เมื่อถามถึงก้าวต่อไปที่ ก.ล.ต.จะดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนแนวคิดการพัฒนาระบบนิเวศหลักทรัพย์ดิจิทัลนี้ มีทั้งเรื่องการพิจารณา Use Case ที่จะนำไปใช้ในตลาดทุน เช่น การนำเทคโนโลยี DLT มาใช้ทำ Tokenize พันธบัตรรัฐบาลที่เดิมฝากไว้กับศูนย์รับฝาก (TSD) ให้เป็นหน่วยย่อย (Fractional) เพื่อให้ผู้ลงทุนรายย่อยเข้าถึงได้มากขึ้น และมีการซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดรอง
ควบคู่ไปกับการสรรหาผู้พัฒนาและจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ อีกเรื่องที่สำคัญคือ การปรับปรุงกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้ยืดหยุ่นและทันสมัย รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมถึงการกำหนดมาตรฐานชุดข้อมูล และวิธีการรับ-ส่งข้อมูลระหว่างกันในตลาดทุนด้วย
จะเห็นได้ว่าการพัฒนาระบบนิเวศหลักทรัพย์ดิจิทัลเป็นก้าวสำคัญในการปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันที่ ก.ล.ต.ได้ติดตามพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง และแนวคิดนี้เป็นแผนงานสำคัญที่จะเดินหน้าผลักดันตามแผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ลงทุนเพื่อให้ระบบนิเวศหลักทรัพย์ดิจิทัลมีความพร้อมและสามารถสร้างประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วนได้