จับเข่าคุย อธิบดีสรรพากร มุมมอง…ปฏิรูปโครงสร้างภาษี ?

Pinsai
ปิ่นสาย สุรัสวดี
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

“เมื่อดูฝั่งรายจ่ายกับรายได้ ผลปรากฏว่าตามแผนการคลังระยะปานกลาง ชัดเลยว่าเหมือนทางรถไฟคู่ขนานมี Gap อยู่ เราไม่สามารถจะลดฝั่งรายจ่ายลงมาได้ เพราะมีรายจ่ายที่จําเป็น งบฯประจํา งบฯลงทุน รวมทั้งงบฯ โครงการใหม่ ๆ ตามนโยบาย ดังนั้น ฝั่งรายได้ก็ต้องเก็บขึ้นไปชนให้ได้ ปัจจุบันเราก็เพิ่มประสิทธิภาพ แต่ทำบนพื้นฐานของโครงสร้างกฎหมายเดิม ซึ่งคงได้แค่ระดับหนึ่ง ถ้าแบบนี้ยังไม่ได้ ก็จะต้องคิดถึงโครงสร้างภาษีใหม่”

คำกล่าวของ “ปิ่นสาย สุรัสวดี” อธิบดีกรมสรรพากร ที่กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแนวคิดเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างภาษี

ปฏิรูปภาษีต้องทำทั้งระบบ

“ปิ่นสาย” กล่าวว่า การปฏิรูปภาษีจริง ๆ แล้ว ภาพใหญ่คือทั้งกระทรวงการคลัง ที่มีทั้งกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร แม้กระทั่งกรมธนารักษ์ และสํานักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แต่การที่คนพูดถึงกรมสรรพากรกันมาก ก็เพราะมีสัดส่วนเก็บรายได้เข้ารัฐเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในส่วนของกรมสรรพากรมีภาษีหลัก 3 ตัวด้วยกันคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีนิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างโดยทฤษฎีทำได้ 3 แบบคือ ปรับเชิงนโยบาย ปรับเชิงบริหาร และปรับเชิงกฎหมาย

โดยปรับเชิงนโยบายคือ มีกฎหมายเดิมอยู่แล้ว เก็บภาษีอยู่ที่อัตราหนึ่ง ถ้าจะปรับในเชิงนโยบายก็คือ จะเก็บเพิ่มขึ้นหรือไม่ ขึ้นเท่าไหร่ ขณะที่ปรับเชิงบริหาร ก็เนื่องจากปัจจุบันมีธุรกิจสมัยใหม่เกิดขึ้นมา อย่างเช่น อีคอมเมิร์ซ โครงสร้างภาษีปัจจุบันยังไปได้ แต่อาจจะมีช่องว่างช่องโหว่อยู่ อาจจะเก็บได้ไม่เต็มหน่วย ก็ต้องปรับรูปแบบการบริหารมา เพื่อเก็บให้ได้

ส่วนปรับเชิงกฎหมายก็คือ กฎหมายอาจจะมีอยู่แล้ว แต่โครงสร้างอาจจะไม่เหมาะสม อย่างเช่น บริษัท หรือผู้ประกอบการ ที่แบ่งเป็นขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ แต่กฎหมายให้เก็บเหมือนกันทั้งหมด เอสเอ็มอีก็ต้องมาเสียภาษีเหมือนบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะไม่เป็นธรรมหากปรับ ยกตัวอย่าง อาจจะให้เอสเอ็มอีมีวิธีเสียเป็นพิเศษง่าย ๆ การคํานวณไม่ต้องสลับซับซ้อนเหมือนนิติบุคคลทั่วไป โดยเรื่องนี้ก็ศึกษาอยู่ หรือธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล อาจจะไม่มีกฎหมายในการจัดเก็บ ก็ต้องออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บ

ADVERTISMENT

“สุดท้ายคือ Mindset การเก็บ เดิมค่อนข้างยึดตามฐานรายได้ ฐานการบริโภค ในทิศทางข้างหน้า ก็อาจจะมีฐานอื่น เช่น ฐานทรัพย์สิน ฐานหนี้สิน ก็ต้องไปศึกษาว่า ถ้าจะเก็บฐานทรัพย์สินต้องคิดเก็บอะไร อย่างไร ต้องไปดูประเทศอื่นที่เก็บบนฐานทรัพย์สินแล้ว ทําอย่างไร ก็มีหลายรูปแบบ ซึ่งเรื่องนี้กรมสรรพากรไม่ได้ทําคนเดียว กระทรวงการคลังก็ตั้งคณะทํางานขึ้นมาดูด้วย เพราะการปรับภาษีในระยะยาวไม่ควรปรับแค่จุดใดจุดหนึ่ง ต้องดูให้เป็นธรรม ดูทั้งระบบ ก็ค่อนข้างใช้เวลาพอสมควร แล้วก็ต้องให้ทางนโยบายตัดสินใจว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะสมที่สุด”

เทรนด์โลกเก็บฐานบริโภคเพิ่ม

อธิบดีกรมสรรพากรอธิบายว่า เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วในเวทีภาษีโลกสัมมนาระหว่างภาษี ทั่วโลกกว่า 100 ประเทศเห็นตรงกันว่า ในอนาคตพอมีแพลตฟอร์มดิจิทัลขึ้นมาแล้ว ภาษีเงินได้ต้องลดลง ส่วนภาษีฐานการบริโภคจะต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์การแข่งขันดึงดูดการลงทุน โดยภาษีนิติบุคคลต้องลด แล้วปรับขึ้นภาษีด้านการบริโภค หรือหากทำได้ก็อาจจะมีภาษีตัวใหม่ขึ้นมา อย่างเช่น สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น นอกจากนี้ ก็ต้องสอดคล้องกับต่างประเทศด้วย

ADVERTISMENT

ขึ้น VAT ดูแลกลุ่มเปราะบาง

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นภาษี VAT “ปิ่นสาย” กล่าวว่า ในเชิงทฤษฎี VAT ก็คือเก็บจากฐานการบริโภค บริโภคมากก็เสียมาก บริโภคน้อยก็เสียน้อย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องจนหรือรวย โดยย้อนไปเมื่อตอนเริ่มทำเรื่อง VAT ก็มองกันอยู่แล้วว่า สินค้าบางอย่างก็อาจจะยกเว้น อย่างเช่น ที่เป็นปัจจัย 4 เพราะทุกคนกระทบ

“สมมุติเราจะปรับ VAT ก็ต้องดูว่าจะช่วยอย่างไร อาจจะมีเครื่องมืออีกตัวนึงของรัฐ เช่น อาจจะไปทํา Negative Income Tax หรือพวกโครงการช่วยเหลือของกระทรวงต่าง ๆ อย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีการช่วยในหลายช่อง ท้ายสุดต้องบูรณาการกัน”

ส่วนจะเริ่มปรับเมื่อไหร่นั้น อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า “ถามผมในนามอธิบดีก็เก็บภาษีให้ได้เป้าก่อน ด้านอื่นก็ขึ้นกับนโยบาย อย่างที่บอก ขึ้นไม่ได้ยาก จะทำก็แก้กฎหมาย ซึ่งเราก็เคยทำสมัย IMF (ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง) มีข้อมูลอยู่แล้ว”

ตั้งกรรมการ 2 คณะปฏิรูปภาษี

สำหรับการศึกษาปรับโครงสร้างภาษีนั้น ตอนนี้กระทรวงการคลังมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดู 2 เรื่องคือ เรื่อง Negative Income Tax กับเรื่องรายได้ ซึ่งกรมสรรพากรเป็นส่วนหนึ่ง โดยทุกอย่างมีโครงที่ศึกษาไว้เกือบหมดอยู่แล้ว ซึ่งทุกฝ่ายต้องนำมาหารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปในภาพรวม

“เรื่องพวกนี้ไม่ได้ใหม่ มีศึกษากันมาเป็น 10 ปีแล้ว ถ้าเข้าไปดูโจทย์หลักตั้งแต่แรก ก็คือศึกษาไว้ให้พร้อมใช้ ก็รอดูในปีนี้ทุกอย่างจะออกมา เพียงแต่ว่าจะมีอะไรหรือไม่ เป็นเรื่องนโยบายรัฐบาล”

ถามว่าหากไม่ทำอะไร ไม่ปรับโครงสร้างภาษี อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า “ถ้าไม่ปรับเลยก็ต้องใช้วิธีบริหารจัดเก็บ คือต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้จัดเก็บให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยเก็บบนฐานของกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน”