
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังการเจรจาระหว่างญี่ปุ่น และสหรัฐ ที่จะช่วยผลักดันความร่วมมือในด้านการป้องกัน, เศรษฐกิจ, เทคโนโลยี และด้านอื่น ๆ
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/02) ที่ระดับ 33.86/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (07/02) ที่ระดับ 33.65/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากดัชนีดอลลาร์ที่ปรับตัวสูงขึ้นสู่ที่ระดับ 108.30 ในเช้าวันนี้
โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยในวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 143,000 ตำแหน่งในเดือนมกราคม ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 169,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 307,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีการแก้ไขจากที่ประกาศครั้งแรกในเดือนธันวาคม ที่ 256,000 ตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 4.0% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.1% และค่าแรงรายชั่วโมงก็มีการปรับตัวสูงขึ้น 0.5% เทียบรายเดือนจากที่มีการคาดการณ์ไว้ที่ 0.3%
นอกจากนี้ นายชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้มีการพบปะกันในวันศุกร์ (7 ก.พ.) เพื่อจะผลักดันความร่วมมือในด้านการป้องกัน, เศรษฐกิจ, เทคโนโลยี และด้านอื่น ๆ
นายทรัมป์กล่าวว่า เขาได้ยืนยันกับอิชิบะว่า พันธมิตรทวิภาคีระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่น ยังคงเป็นเสาหลักของสันติภาพ, ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ท่ามกลางความท้าทายด้านความมั่นคงจากจีนและเกาหลีเหนือ นายทรัมป์ยังคงมีเป้าหมายที่จะลดการขาดดุลการค้ากับทางญี่ปุ่นด้วยการเพิ่มการส่งออกสินค้าประเภทน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)
ทางนายอิชิบะกล่าวว่า เขามุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับทรัมป์เพื่อสร้างสันติภาพในโลก และญี่ปุ่นจะเพิ่มการลงทุนในสหรัฐต่อไป โดยนายอิชิบะเสริมว่าทาง Nippon Steel มีการเปลี่ยนเป้าหมายจากการเข้าซื้อกิจการของทาง US Steel เป็นการลงทุนขนาดใหญ่แทน หลังจากที่ถูกขัดขวางโดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ นายโจ ไบเดน
หลังจากการพูดคุยกับนายอิชิบะ ทรัมป์ได้มีการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวบนเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวัน เมื่อวันอาทิตย์ (9 ก.พ.) ว่า เขาจะประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมในอัตรา 25% จากทุกประเทศในวันจันทร์ (10 ก.พ.) แต่ยังไม่ได้ระบุวันที่จะมีผลบังคับใช้
พร้อมทั้งกล่าวว่า เขาจะประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tarifis) ภายในสัปดาห์นี้ โดยจะนำมาใช้กับประเทศที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ โดยภาษีศุลกากรตอบโต้นั้นจะยังไม่มีผลบังคับใช้ในวันที่ประกาศซึ่งอาจเป็นวันอังคารหรือวันพุธ แต่จะมีผลบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้
ด้านปัจจัยภายในประเทศ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ หรืออย่างช้าในช่วงต้นเดือนมีนาคม จะนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเพื่อพิจารณาโครงการเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท เฟส 3 สำหรับบุคคลทั่วไปที่ได้ลงทะเบียนแล้ว
นายพิชัยมีการพูดถึงการพบปะคณะผู้บริหารของบริษัท Google ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ความมั่นคงไซเบอร์ และการส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ในประเทศไทย พร้อมทั้งยังได้เชิญชวนให้ Google เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาซูเปอร์แอปของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อช่วยสนับสนุนโครงการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งทาง Google แสดงความยินดี และพร้อมให้ความร่วมมือ และเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรม Data Center และ AI ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.82-34.90
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/02) ที่ระดับ 1.0305/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (07/02) ที่ระดับ 1.0388/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยในระหว่างวันค่าเงินยูโรแข็งค่าต่อเนื่อง จากการที่ตลาดจับตาถ้อยแถลงของ นางคริสติน ลาการ์ด ในค่ำคืนนี้ ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวกรอบระหว่าง 1.0297-1.0334 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0326/27 ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/02) ที่ระดับ 151.87/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (07/02) ที่ระดับ 151.91/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยหลังจากการพบปะของอิชิบะและทรัมป์ ค่าเงินเยนมีการแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะมีการปรับตัวกลับมาที่ระดับเดิมที่ 151.87/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 151.60-152.53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 152.22/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเดือนมกราคม (12/02), รายงานคลังน้ำมันสำรอง ประจำสัปดาห์ (12/02), ดัชนีราคาผู้ผลิตของเดือนมกราคม (13/02), การประกาศจำนวนคนยื่นขอรับสิทธิประกันการว่างงานรายสัปดาห์ (13/02), ดัชนียอดขายปลีกพื้นฐาน (14/02), การแถลงการณ์ของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ต่อสภา (Congress) (11/02-12/02)
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ของประเทศอื่น ๆ ได้แก่ มูลค่าหนี้สินใหม่ในประเทศจีน (11/02), การคาดการณ์เงินเฟ้อของประเทศนิวซีแลนด์ (13/02), ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของสหราชอาณาจักร (13/02), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของประเทศไทย (13/02-14/02), ทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศไทย (14/02)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap Point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -5.65/-5.55 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.5/-1.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ