คลังเร่งสางปัญหาสินเชื่อรถชะงัก บสย.งัดมาตรการรับโอนหนี้เสีย

บสย.

คลังเร่งหาทางแก้ปัญหาสินเชื่อรถชะลอตัว ชี้เหตุลีสซิ่งขาดสภาพคล่อง เข้มงวดสินเชื่อใหม่ เผยไม่ง่าย เพราะอยู่นอกเหนือการกำกับของคลัง-ธปท. ขณะ บสย.ออกโรงผุดมาตรการช่วย ให้กู้รับโอนหนี้ส่วนที่เหลือ เสนอเงื่อนไขผ่อนน้อย-ผ่อนนาน ช่วยแบ่งเบาภาระ คาดเปิดตัวต้นมีนาคมนี้

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาสินเชื่อรถยนต์ชะลอตัวว่า ยังอยู่ระหว่างกระบวนการ ซึ่งต้องมีการพูดคุยกับหลายฝ่าย ซึ่งการให้สินเชื่อรถยนต์นั้น ส่วนใหญ่อยู่ที่สินเชื่อลีสซิ่ง และปัญหาคือ เรื่องสภาพคล่องในการปล่อยสินเชื่อของลีสซิ่ง มีการประเมินความเสี่ยงที่เข้มงวด เลยทำให้ระมัดระวังเกินไป

นายเผ่าภูมิกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ธุรกิจลีสซิ่งนั้น ไม่ได้อยู่ในกำกับของกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดังนั้น การดำเนินการจะยากพอสมควร จะต้องขอความร่วมมือ หรือสร้างแรงจูงใจอื่น ๆ กับผู้ประกอบการ โดยรัฐบาลมีโจทย์ว่าจะให้ผู้ให้บริการปล่อยสินเชื่อรถปิกอัพต้องรับความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น แต่การรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นนั้น รัฐจะเข้าไปรับกลไกความเสี่ยงของประชาชนให้ได้ ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกับ ธปท. กำลังดูแลเรื่องนี้อยู่

“เรากำลังเร่งดูแลเรื่องนี้อยู่ แต่ยอมรับว่าไม่ง่าย เพราะทุกครั้งที่เราช่วยจะผ่านกลไกธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเราพอหารือได้ ส่วนกลไกของสถาบันการเงินของรัฐ ก็อยู่ภายใต้กำกับอยู่แล้ว ขณะที่เรื่องน็อนแบงก์ ก็ยังไม่ยากเท่าไหร่ แต่เรื่องลีสซิ่งนั้น อยู่นอกการกำกับดูแลทั้ง ธปท.และคลัง” นายเผ่าภูมิกล่าว

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย.อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อรถพาณิชย์ของลีสซิ่งในเครือธนาคารพาณิชย์ โดยกำหนดว่าจะต้องมีธนาคารพาณิชย์ถือหุ้นเกิน 50% เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจลีสซิ่งประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ลูกหนี้ได้รับผลกระทบจากธุรกิจชะลอตัว ทำให้การผ่อนชำระหนี้ไม่ราบรื่น ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ในภาพรวม เพราะรายใหม่กู้ยาก ทำให้ยอดขายรถยนต์ชะลอไปด้วย

“จากการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้มองเห็นปัญหาที่ส่งผลบานปลาย รถเก่าค้างชำระ รถใหม่ก็ขายลำบาก เพราะการขอกู้ซื้อรถยนต์ก็ถูกเข้มงวดไปด้วย ดังนั้น ทาง บสย.จะศึกษาหาแนวทางการเข้าไปช่วยเหลือ โดยเน้นหนักไปที่ทำอย่างไรให้ได้ลูกหนี้ที่เป็นลูกหนี้คนดีจริง ๆ แต่มีปัญหา”

ADVERTISMENT

นายสิทธิกรกล่าวว่า แนวทางการปล่อยกู้ จะทำได้เฉพาะบริษัทลีสซิ่งที่อยู่ในเครือของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากข้อจำกัดของ บสย.กำหนดไว้ โดยจะดำเนินการใน 2 แนวทาง คือ 1.ลูกหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน มีประวัติในการผ่อนชำระที่ดี เหลือวงเงินค้างไม่ถึง 20% ของวงเงินกู้ หรือไม่เกิน 2 แสนบาท และยังมีความประสงค์ที่จะใช้รถในการทำมาหากินต่อไป ซึ่ง บสย.จะเข้าปล่อยกู้ให้กับบริษัทลีสซิ่ง โดยรับโอนมาเป็นลูกหนี้ของ บสย. พร้อมกับยืดระยะเวลาการผ่อนชำระ ลดค่างวดผ่อนชำระ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับลูกหนี้

2.กรณีลูกหนี้ค้างชำระ และไม่ประสงค์จะเก็บรถไว้ โดยเสนอให้ลีสซิ่งยึดเพื่อปิดหนี้ ซึ่งในกรณีนี้ บสย.จะเข้าปล่อยกู้ส่วนที่เหลือของหนี้ และรับโอนลูกหนี้มาเป็นลูกหนี้ บสย.เช่นกัน ซึ่งจะมีภาระการผ่อนชำระที่ผ่อนปรน แต่ภาระการจัดการกับรถ การขายเพื่อคำนวณส่วนต่างที่ลูกหนี้ต้องรับเพิ่ม จะอยู่ที่ลีสซิ่งเป็นผู้ดำเนินการแทน บสย.

ADVERTISMENT

“มาตรการนี้จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระ ขณะเดียวกันก็เพิ่มสภาพคล่องให้กับลีสซิ่ง สามารถนำไปปล่อยกู้ใหม่ให้กับผู้ซื้อรถรายใหม่ได้ เพื่อช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์โดยรวม อย่างไรก็ตาม บสย.จะต้องศึกษารายละเอียดของมาตรการอย่างรอบคอบ รัดกุม เพื่อปิดช่องโหว่ ไม่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นอีก โดยคาดว่า จะสามารถประกาศใช้ได้ในต้นเดือนมีนาคมนี้”