บาทอ่อนค่า กังวลสงครามการค้า ขณะที่ทองทำ All Time High

ธนบัตร แบงก์

เงินบาทอ่อนค่า กังวลสงครามการค้า ขณะที่ทองคำทำ All Time High แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ปิดที่เหนือระดับ 2,900 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (11/2) ที่ระดับ 34.00/01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (10/2) ที่ระดับ 33.90/91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดอลลาร์สหรัฐปรับตัวในแนวแข็งค่าเทียบเงินสกุลหลัก หลัง Dollar Index ปรับตัวขึ้นที่ระดับ 108.38 โดยเมื่อคืนที่ผ่านมาประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐได้มีการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจาก 10% เป็น 25% ตลอดจนยุติโควตาสินค้าปลอดภาษีและการยกเว้นภาษีต่าง ๆ ที่อาจเพิ่มความตึงเครียดให้กับคู่ค้าของสหรัฐ และจุดชนวนให้เงินเฟ้อภายในของสหรัฐพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง

การประกาศดังกล่าวถือเป็นคำสั่งครั้งแรกของทรัมป์ที่ใช้มาตรการภาษีแบบกำหนดเป้าหมายเป็นรายอุตสาหกรรม นับตั้งแต่เขากลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเป็นสมัยที่สองในวันที่ 20 ม.ค.

นอกจากนี้เมื่อคืนที่ผ่านมาสัญญาณทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยปิดที่เหนือระดับ 2,900 ดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกและแตะระดับสูงสุดระหว่างวันที่ 2,942 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนหันมาซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษีของทรัมป์

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ได้เปิดเผยผลสำรวจในเดือน ม.ค. ระบุว่าผู้บริโภคชาวสหรัฐยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ทั้งนี้ ผู้บริโภคชาวสหรัฐคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับช่วง 1 ปีข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 3% สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 3% ในเดือน ธ.ค.

ADVERTISMENT

ด้านปัจจัยภายในประเทศ วันนี้ (11/2) นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ได้เปิดเผยภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวไทย ตั้งแต่ 1 ม.ค.-9 ก.พ. 2568 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสะสมทั้งสิ้น 4,804,876 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 234,958 ล้านบาท โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 825,617 คน มาเลเซีย 617,631 คน รัสเซีย 330,628 คน เกาหลีใต้ 263,572 คน และอินเดีย 232,828 คน

นอกจากนี้นักลงทุนยังเฝ้าระวังว่าไทยจะโดนมาตรการภาษีจากสหรัฐหรือไม่ เนื่องจากประเทศไทยมียอดเกินดุลการค้าเป็นอันดับที่ 10

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ระหว่างวันการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอยู่ในกรอบระหว่าง 33.95-34.12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.03/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (11/2) ที่ระดับ 1.0300/01 สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (10/2) ที่ระดับ 1.0324/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยวันนี้ (11/2) สำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส (Insee) รายงานว่าอัตราว่างงานลดลงสู่ระดับ 7.3% ในไตรมาส 4/2567 จากระดับ 7.4% ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 7.5%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ถึงแม้อัตราการว่างงานจะลดลง แต่ก็ยังสูงกว่าจุดต่ำสุดในรอบ 40 ปีที่เคยทำไว้ที่ 7.1% เมื่อปี 2565 ขณะที่บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ในฝรั่งเศสต่างออกมาเตือนว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองและการคลังนับตั้งแต่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ประกาศยุบสภา รวมถึงการขึ้นภาษีนิติบุคคล กำลังส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการจ้างงาน

ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0293-1.0321 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0317/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (11/2) ที่ระดับ 152.01/02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (10/2) ที่ระดับ 152.30/31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในระหว่างวันไม่มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจากการที่ตลาดเงินในประเทศญี่ปุ่นปิดทำการเนื่องในวันชาติ ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนอยู่ในกรอบระหว่าง 151.66-152.09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 151.92/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ของสหรัฐ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือน ม.ค.จากสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) (11/2), การแถลงการณ์ของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดต่อสภาคองเกรส (11/2-12/2), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ม.ค. (12/2) สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) (12/2),

จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (13/2), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ม.ค. (13/2), ยอดค้าปลีกเดือน ม.ค. (14/2), ตัวเลขนำเข้าและส่งออกเดือน ม.ค. (14/2), การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ม.ค. (14/2), สต๊อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือน ธ.ค. (14/2)

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ของประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ม.ค. ของญี่ปุ่น (13/2), อัตราเงินเฟ้อเดือน ม.ค. ของเยอรมนี (13/2), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2567 (ประมาณการเบื้องต้น) ของอังกฤษ (13/2), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2567 (ประมาณการครั้งที่ 2) ของสหภาพยุโรป (14/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -5.60/-5.55 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.75/-1.90 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ