
ครม.อนุมัติซอฟต์โลนธนาคารออมสิน 50,000 ล้านบาท หนุน Non-Banks ร่วมแก้หนี้ผ่านโครงการ “คุณสู้-เราช่วย” ช่วยลูกหนี้รายย่อยลดภาระผ่อนเหลือ 70% ลดดอก 10% หนี้ต่ำ 5,000 จ่าย 10% ปิดจบทันที เปิดลงทะเบียนถึง 30 เม.ย. 68
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของผู้ประกอบการธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) ภายใต้โครงการคุณสู้ เราช่วย และหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และกระบวนการเบิกจ่ายโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ Non-Banks ของธนาคารออมสิน ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ
โดยมาตรการมี 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่ 1 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของ Non-Banks ภายใต้โครงการคุณสู้ เราช่วย 1.มาตรการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดภาระดอกเบี้ยโดยการเน้นตัดต้นเงิน ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของลูกหนี้และประเภทสินเชื่อ ออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
1.สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ วงเงินรวมไม่เกิน 800,000 บาท 2.สินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ วงเงินรวมไม่เกิน 50,000 บาท 3.สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ วงเงินรวมไม่เกิน 100,000 บาท หรือ 200,000 บาท 4.สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล วงเงินรวมไม่เกิน 20,000 บาท 5.สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (Nano Finance) วงเงินรวมไม่เกิน 50,000 บาท
ทั้งนี้ การช่วยเหลือ คือ (1) ลดภาระผ่อนชำระค่างวดเป็น 70% ของค่างวดก่อนเข้าร่วมมาตรการ เป็นเวลา 3 ปี โดยสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving Loan) จะต้องจ่ายค่างวดไม่ต่ำกว่า 2% ของยอดหนี้ (2) ลดอัตราดอกเบี้ย 10% จากอัตราดอกเบี้ยก่อนเข้าร่วมมาตรการ เช่น จากดอกเบี้ย 25% ต่อปี เป็น 15% ต่อปี เป็นต้น ตลอดระยะเวลา 3 ปี โดยดอกเบี้ยส่วนที่ลดจะพักชำระไว้ทั้งหมดหากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้
(3) ลูกหนี้ที่อยู่ในมาตรการจะไม่สามารถก่อหนี้ใหม่ใน 12 เดือนแรกที่เข้าร่วมมาตรการ โดยจะถูกรายงานข้อมูลต่อบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) เป็นรหัสพิเศษ ทั้งนี้ สำหรับสินเชื่อวงเงินหมุนเวียนที่ลูกหนี้ยังไม่เบิกใช้ก่อนเข้าร่วมมาตรการ ลูกหนี้ยังสามารถใช้สภาพคล่องจากวงเงินส่วนที่เหลือได้ (4) หากลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาได้จนกลายมีสถานะเป็นหนี้ NPL ลูกหนี้ต้องออกจากมาตรการโดยจะต้องชำระดอกเบี้ยที่พักชำระไว้ตามเงื่อนไขเดิมในส่วนที่ภาครัฐไม่ได้สนับสนุน
2.มาตรการลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็น NPLs ที่มียอดหนี้ไม่สูง ซึ่งต้องเป็นลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 90 วัน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ (จัดชั้นเป็น NPLs) และมีภาระหนี้คงค้างไม่เกิน 5,000 บาท ทั้งนี้ ครอบคลุมสินเชื่อทุกประเภทที่กู้ในนามบุคคลธรรมดา
ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน โดยลดภาระให้ลูกหนี้จ่ายชำระหนี้เพื่อเป็นการชำระหนี้ปิดบัญชี โดยลดภาระให้ลูกหนี้จ่ายชำระหนี้ 10% ของภาระหนี้คงค้าง ส่วนภาระยอดหนี้คงค้างที่เหลืออีกร้อยละ 90 แบ่งเป็น (1) ภาครัฐอุดหนุนผ่านโครงการ Soft Loan สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ Non-Banks ของธนาคารออมสิน 90% และ (2) Non-Banks รับภาระเอง 10% ของภาระยอดหนี้คงค้างที่เหลือ
ส่วนที่ 2 หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และกระบวนการเบิกจ่ายโครงการ Soft Loan สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ Non-Banks ของธนาคารออมสิน โดยคุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ 1.เป็นผู้ประกอบการธุรกิจ Non-Banks ที่ให้บริการสินเชื่อแก่ลูกหนี้รายย่อย ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล สินเชื่อทะเบียนรถ และนาโนไฟแนนซ์ 2.มีผลกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักภาษีในรอบบัญชีปี 2566 โดยพิจารณาข้อมูลจากงบการเงินของกิจการ 3.กำหนดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) ของกิจการในปี 2566 ไม่เกิน 10 เท่า และมี NPLs ของพอร์ตสินเชื่อรวม ณ ปี 2566 ไม่เกิน 5% 4.ต้องให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการที่ ครม.มีมติเห็นชอบและ ธปท.กำหนด
ทั้งนี้ Non-Banks สามารถยื่นขอสินเชื่อได้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2568 โดยธนาคารออมสินจะเบิกจ่ายเงินกู้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธ.ค. 2568 ทั้งนี้ ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่เบิกจ่ายวงเงินกู้ครั้งแรก ซึ่งมีวงเงินโครงการทั้งหมด จำนวน 50,000 ล้านบาท
“วงเงินสินเชื่อต่อรายที่ธนาคารออมสินให้แก่ Non-Banks จะไม่เกิน 5,000 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยในโครงการ 0.01% ต่อปี โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมบริการสินเชื่อเพื่อธุรกิจ (Front End Fee) และค่าธรรมเนียมการชำระหนี้คืนก่อนครบกำหนด (Pre-Payment Fee) ทุกกรณี”
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า วงเงินสินเชื่อ Soft Loan ของ Non-Banks แต่ละรายขึ้นอยู่กับการสูญเสียรายได้ของ Non-Banks แต่ละแห่ง ที่เกิดจากการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ครั้งนี้
2 มาตรการ “คุณสู้ เราช่วย”
1.มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” ช่วยลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่สูงมากให้สามารถคงทรัพย์สินที่ใช้ในการดำรงชีพและประกอบอาชีพเอาไว้ได้ สำหรับสินเชื่อบ้าน/Home for Cash ไม่เกิน 5 ล้านบาท สินเชื่อรถยนต์ไม่เกิน 800,000 บาท สินเชื่อรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 50,000 บาท และสินเชื่อ SMEs ไม่เกิน 5 ล้านบาท
โดยมาตรการดังกลาวจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้และลดค่างวดในปีที่ 1 เหลือ 50% ในปีที่ 2 เหลือ 70% ในปีที่ 3 เหลือ 90% และ “พักภาระดอกเบี้ย” เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด ขณะที่ “ดอกเบี้ยที่พักไว้ตลอดระยะเวลา 3 ปี จะได้รับการยกเว้น” ตามเงื่อนไข
2.มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” ช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่ NPL แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่สูง (ไม่เกิน 5,000 บาท) โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ชำระหนี้ขั้นต่ำเพียง 10% ของยอดหนี้คงค้างเพื่อ “ปิดหนี้ได้ทันที”
ประชาชนสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ระบบลงทะเบียนของ ธปท. (www.bot.or.th/khunsoo) หรือติดต่อสถาบันการเงินเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมโครงการทุกแห่ง ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568
ธปท. ขยายเวลาลงทะเบียน 2 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคุณสู้ เราช่วยแล้ว จำนวน 746,912 บัญชีจากลูกหนี้ 642,030 ราย และยังพบว่ามีลูกหนี้ทยอยสมัครเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง ธปท.จึงขยายระยะเวลาการสมัครเข้าโครงการ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อเพิ่มโอกาสที่ลูกหนี้จะได้รับความช่วยเหลือและสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติในระยะข้างหน้าเมื่อรายได้ฟื้นตัว
น็อนแบงก์ 2 รายร่วมแก้หนี้
ล่าสุด ธปท.ร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน และผู้ประกอบธุรกิจ Nonbank อื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยตามโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพิ่มเติม โดยผู้ประกอบธุรกิจ Nonbank จำนวน 2 ราย ที่มีคุณสมบัติและผ่านการพิจารณา ได้แก่
1.บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) และ 2.บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) นั้น จะได้รับการสนับสนุน Soft Loan จากธนาคารออมสิน เพื่อลดต้นทุนในการส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ และ Nonbank ทั้ง 2 รายนี้ จะร่วมสนับสนุนเม็ดเงินในการช่วยเหลือลูกหนี้ด้วย
ซึ่งลูกหนี้ของ Nonbank ทั้ง 2 รายข้างต้น ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” สามารถศึกษารายละเอียดของมาตรการและสมัครเข้าร่วมได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 08.30 น. ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 เวลา 23.59 น. หรือติดต่อสาขาของ Nonbank ที่เข้าร่วมมาตรการ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ BOT Contact Center ของ ธปท. โทร.1213 หรือ Call Center ของผู้ประกอบธุรกิจ Nonbank ที่เข้าร่วมโครงการ
วิธีลงทะเบียน “คุณสู้ เราช่วย”
สำหรับผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ https://www.bot.or.th/khunsoo โดยมีขั้นตอนการลงทะเบียนดังนี้
1. เข้าสู่เว็บไซต์ “คุณสู้ เราช่วย” : https://www.bot.or.th/khunsoo
2. ตรวจสอบรายละเอียดมาตรการ คุณสมบัติ และเงื่อนไขการเข้าร่วมก่อนลงทะเบียน จากนั้นกดยอมรับ
3. สมัครเข้าใช้ระบบด้วยอีเมล์ หรือแอปพลิเคชั่น ThaID โดยสแกน QR บนแอป เพื่อยืนยันตัวตน
4. กรอกข้อมูลลงทะเบียนให้ครบถ้วน ได้แก่ ชื่อ-สกุล หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เบอร์ติดต่อ และอีเมล์
5. ส่งคำขอแก้หนี้ โดยเลือกผู้ให้บริการที่ต้องการเข้าร่วม และผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเข้าร่วม หากมีผู้ให้บริการหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเข้าร่วมมากกว่า 1 แห่ง/ประเภท สามารถกดเพิ่มได้
6. ลงทะเบียนเสร็จสิ้น ลูกหนี้เก็บหมายเลขคำร้องไว้เพื่อติดตามสถานะการลงทะเบียน
ทั้งนี้เมื่อลงทะเบียนสำเร็จ ทางเจ้าหนี้จะเริ่มติดต่อกลับตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 68 เป็นต้นไป สามารถตรวจสอบสถานะได้ทางเว็บไซต์ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย”