
ธนาคารไทยเครดิตประกาศเป้าหมายทางธุรกิจปี’68 ตั้งเป้าโตสินเชื่อ 2 หลัก หลังยกระดับคอร์แบงกิ้ง เจาะสินเชื่อเอสเอ็มอี-สินเชื่อบุคคล-สินเชื่อใช้บ้านเป็นหลักประกัน ควบคู่สร้างผลตอบส่วนต่างดอกเบี้ย 8.5-9% กดหนี้เสียต่ำ 4.5%
นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ CREDIT กล่าวว่า ธนาคารมุ่งมั่นให้ความสำคัญเรื่องการเติบโตที่ยั่งยืนสำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายย่อยและกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อที่อยู่ในระบบ โดยธนาคารมุ่งเน้นไปที่การบริหารคุณภาพของสินเชื่อที่ดี รอบคอบ รัดกุม รวมถึงความเป็นเลิศในการดำเนินการ เพื่อให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจเกินความคาดหมาย ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่ส่งมอบคุณค่าที่แท้จริง เน้นการยึดหลักมองลูกค้าเป็นศูนย์กลาง มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความยืดหยุ่นสูง เพื่อให้สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจของลูกค้าบนสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ที่ดีที่สุดกับลูกค้า โดยใช้กลยุทธ์เข้าใจและเข้าถึงลูกค้า เพื่อให้ธนาคารสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจของลูกค้าอย่างราบรื่นและเติบโตได้ต่อไปในอนาคต
นายรอยย์ ออกุสตินัส กุนารา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ CREDIT เปิดเผยว่า ธนาคารไทยเครดิตกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลระยะที่ 2 (Digital Transformation) กล่าวคือ การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและเปิดตัวระบบคอร์แบงกิ้งใหม่ของธนาคาร (New Digital Core Banking System) โดยถือเป็นการยกระดับระบบและแพลตฟอร์มของธนาคารให้สมบูรณ์แบบ ตอบสนองต่อกระแสดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรมธนาคารในปัจจุบันและอนาคต
ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างรากฐานของระบบให้แข็งแกร่ง เพื่อรักษาความสามารถในการเติบโตในระยะยาว พร้อมพัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มธุรกิจใหม่ ๆ
โดยธนาคารได้มีการกําหนดเป้าหมายสำคัญทางการเงินสําหรับปี 2568 ดังนี้
-ด้านการเติบโตของการให้สินเชื่อ (Loan Growth) ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการเติบโตสินเชื่อหลักที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (MSME) สินเชื่อที่ใช้บ้านเป็นหลักประกัน และสินเชื่อบุคคล อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่ออย่างรอบคอบ พร้อมตั้งเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อในปี 2568 ในระดับเลขสองหลัก
-ด้านส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในช่วง 8.5-9.0% ควบคู่ไปกับการเติบโตของสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ พร้อมรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (CIR) ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า
-ด้านเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL) ที่ให้อยู่ในระดับที่น้อยกว่า 4.5%
ทั้งนี้กลยุทธ์สำคัญที่ธนาคารใช้ขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วย 2 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การขยายสินเชื่อในส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักที่เป็นจุดแข็งของธนาคาร
และ 2.การปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานระยะยาวของธนาคาร เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
อีกทั้งเพื่อยกระดับการเข้าถึงธนาคารที่สะดวกยิ่งขึ้น ธนาคารได้ตระหนักถึงความสำคัญของการออมเงินอย่างชาญฉลาด และสร้างเสริมอนาคตทางการเงินที่แข็งแกร่ง ผ่านแอปพลิเคชั่น alpha by Thai Credit ที่ช่วยให้ลูกค้าบุคคลสามารถบริหารจัดการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกทุกที่ทุกเวลา
โดยในปี 2567 มีผู้ใช้งานเติบโตอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 68% และมีมูลค่าธุรกรรมทางการเงินเพิ่มขึ้น 46% จากปีก่อน เป็นประมาณ 19,000 ล้านบาท ในปี 2567
ด้านการเติบโตของ “ไมโครเพย์ อี-วอลเลต” แอปพลิเคชั่นที่ช่วยในการจัดการทางการเงินของกลุ่มลูกค้านาโนและไมโครเครดิต มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 12% และมีมูลค่าธุรกรรมทางการเงินเพิ่มขึ้น 25% จากปีก่อน เป็นประมาณ 26.1 ล้านบาท พิสูจน์ให้เห็นถึงความแข็งแรงในการเข้าถึงฐานลูกค้าของธนาคาร รวมถึงสามารถขับเคลื่อนกระบวนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยธนาคารได้มีแผนรักษาฐานลูกค้าเก่าและเพิ่มฐานลูกค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง
ธนาคารไทยเครดิตเดินหน้ายกระดับการให้บริการทางการเงินอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ผ่านการสร้างประสบการณ์ที่ดีและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเน้นการนำเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนกระบวนการให้บริการ
ตลอดจนการให้ความรู้ พัฒนา และเสริมทักษะทางการเงินแก่ผู้ประกอบการรายย่อย เจ้าของกิจการขนาดเล็ก ร้านขายของชำ รวมทั้งกลุ่มเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอี เพื่อใช้ในการวางแผนทางการเงินเพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ปรัชญา “Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ” ที่มุ่งหวังให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ที่มีความเท่าเทียมและเป็นธรรมอย่างยั่งยืน