ธปท. ประกาศ 2 มาตรการใหญ่ สั่งแบงก์ยกระดับโมบายแบงกิ้ง สกัดมิจฉาชีพ

ธปท. ประกาศยกระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยบริการทางการเงิน-การชำระเงินบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ กำหนด 2 มาตรการ กำชับแบงก์ “ป้องกันการสวมรอยทำธุรกรรม-รักษาความปลอดภัยบริการ Mobile Banking” ป้องกันมิจฉาชีพ-กำหนดการโอนเงินคุมความเสี่ยง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศเรื่อง การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการให้บริการทางการเงิน และการชำระเงินบนอุปกรณ์เคลื่อนที่สำหรับสถาบันการเงิน

โดยสาระสำคัญของการออกประกาศ เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการ Mobile Banking ให้มีมาตรฐานขั้นต่ำที่จำเป็นสำหรับการให้บริการทารทางการเงินและการชำระเงินบนแอปพลิเคชั่นของสถาบันการเงินอย่างปลอดภัย

โดยสถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องติดตามดูแล และปรับปรุงระบบงานและบริการ Mobile Banking ให้มีความมั่นคงปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เท่าทันภัยคุกคามทางไซเบอร์และภัยทุจริตรูปแบบ ใหม่ที่มีเทคนิคซับซ้อนขึ้น ครอบคลุมทั้งในส่วนของระบบการให้บริการของสถาบันการเงิน และความมั่นคงปลอดภัยของอุปกรณ์เคลื่อนที่ของผู้ใช้บริการ

ทั้งนี้ การออกประกาศดังกล่าวมาจาก ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology : IT) มีบทบาทสำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการให้บริการทางการเงิน และการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่นของสถาบันการเงินแก่ผู้ใช้บริการที่เป็นบุคคลธรรมดาบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ (บริการ Mobile Banking) ที่มีการใช้งานอย่างรวดเร็ว และยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันการให้บริการ Mobile Banking ก็นำมาซึ่งความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ (cyber threat) และภัยทุจริตทางการเงิน (faud) ที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ และใช้เทคนิควิธีการที่ซับซ้อนมากขึ้น อันอาจสร้างความเสียหายต่อผู้ใช้บริการในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของระบบสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงินของประเทศ

ADVERTISMENT

ธปท.ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันภัยทุจริตดังกล่าว จึงได้ออก ประกาศหลักเกณฑ์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการให้บริการทางการเงิน และการชำระเงินบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ เพื่อยกระดับการให้บริการ Mobile Banking ให้มีมาตรฐานขั้นต่ำที่จำเป็นสำหรับการให้บริการทางการเงิน และการชำระเงินบนแอปพลิเคชั่นของสถาบันการเงินให้เป็นไปอย่างปลอดภัยเท่าทันความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ และภัยทุจริตทางการเงินที่มีการสวมรอยทำธุรกรรมแทนผู้ใช้บริการ (Unauthorized Payment Fraud)

โดย หลักเกณฑ์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการให้บริการทางการเงิน และการชำระเงินบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ ประกอบด้วยมาตรการ 2 ส่วน ได้แก่

ADVERTISMENT
  1. การป้องกันการสวมรอยทำธุรกรรม แทนผู้ใช้บริการ (Unauthorized Payment Fraud)

2. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของบริการ Mobile Banking คือ การป้องกันการสวมรอยทำธุรกรรมแทนผู้ใช้บริการ สถาบันการเงินต้องมีการป้องกันการสวมรอยทำธุรกรรมแทนผู้ใช้บริการโดยอย่างน้อยต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1. งดเว้นการแนบลิงก์ผ่านช่องทางข้อความสั้น (SMS) และช่องทางอีเมล์ แต่สำหรับกรณีช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (social media) ให้สถาบันการเงินงดแนบลิงก์เฉพาะที่มี การขอข้อมูลในการยืนยันตัวตน หรือข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน รหัสใช้ครั้งเดียว (one time password-OTP) รหัส PIN หมายเลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด เพื่อป้องกันการสวมรอยเป็นสถาบันการเงิน การขอให้เปิดเผยข้อมูลสำคัญ (sodal engineering) หรือการถูกติดตั้ง mobile malware

อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินสามารถแนบลิงก์ผ่านทั้ง 3 ช่องทางดังกล่าวได้หากผู้ใช้บริการดำเนินการร้องขอเอง โดยสถาบันการเงินสามารถแนบลิงก็ได้เป็นรายครั้ง พร้อมทั้งต้องมีการสื่อสารย้ำให้ผู้ใช้บริการทราบว่าการส่งลิงก์ดังกล่าวเป็นกรณีเฉพาะตามคำร้องขอของผู้ใช้บริการเป็นรายครั้งเท่านั้น

2. มีกระบวนการติดตามและรับมืออย่างทันการณ์ต่อแอปพลิเคชั่นที่ปลอมแปลง หรือแอบอ้างเป็นแอปพลิเคชั่นของสถาบันการเงินที่ให้บริการ Mobile Banking ในแพลตฟอร์มที่เป็นทางการของผู้ให้บริการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น (official app store) เช่น Google Play Store Apple App Store รวมทั้งมีกระบวนการรับมือ และตอบสนองอย่างเหมาะสม และทันการณ์สำหรับแอปพลิเคชั่นปลอมแปลงที่อยู่นอกแพลตฟอร์มดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้ใช้บริการจะหลงเชื่อ และเปิดเผยข้อมูลสำคัญ ถูกติดตั้ง malware หรือถูกติดตั้งแอปพลิเคชั่นปลอม

3. จำกัดการใช้บริการ Mobile Banking ของผู้ใช้บริการไว้เพียง 1 บัญชีผู้ใช้งานต่อ 1 บริการ Mobile Banking ของแต่ละสถาบันการเงิน และจำกัดการใช้บริการดังกล่าว โดยให้ใช้งานบน 1 อุปกรณ์เคลื่อนที่ของผู้ใช้บริการเท่านั้น

4. ต้องจัดให้มีกระบวนการยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการเพิ่มเติมในขั้นตอน การทำธุรกรรมผ่านบริการ Mobile Banking บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ โดยใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า (face comparison) ร่วมกับการตรวจจับการปลอมแปลงชีวมิติ (presentation attack detection) ที่สามารถป้องกันการใช้รูปภาพ วิดีโอ หรือการปลอมแปลงชีวมิติในรูปแบบต่าง ๆ ได้

เช่น การใช้ เทคโนโลยี liveness detection เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้บริการเป็นผู้ทำธุรกรรมด้วยตนเอง ซึ่งต้องจัดให้มีกระบวนการยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการเพิ่มเติมดังกล่าวอย่างน้อยในกรณี ดังต่อไปนี้

4.1 การทำธุรกรรมโอนเงินในแต่ละครั้งมีมูลค่าตั้งแต่ 50,000 บาท ขึ้นไป หรือ (4.2) การทำธุรกรรมโอนเงินมูลค่ารวมกัน ครบทุก 200,000 บาท ในรอบระยะเวลา 1 วัน หรือ (4.3) การปรับเพิ่มวงเงินการทำธุรกรรมโอนเงินต่อวัน ให้สามารถได้ ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป

ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ใช้บริการมีข้อจำกัดในการใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า (face comparison) เช่น เป็นคนพิการทางสายตา สถาบันการเงินอาจพิจารณางดเว้นการยืนยันตัวตนเพิ่มเติมตามที่กำหนดข้างต้นได้ โดยต้องมีแนวทางลดความเสี่ยงทดแทน หรือกรณีการทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำ

เช่น การทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างบัญชีตนเอง การทำธุรกรรมโอนเงินประจำ อัตโนมัติ (automatic recurring transfer) ที่ได้ยืนยันตัวตนไปแล้วในครั้งแรก สถาบันการเงินอาจพิจารณางดเว้นการยืนยันตัวตนเพิ่มเติมตามที่กำหนดข้างต้นได้

5.กำหนดเพดานวงเงินสูงสุดต่อวันสำหรับธุรกรรมถอนเงินหรือโอนเงิน ผ่านบริการ Mobile Banking ให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ใช้บริการ เพื่อลดความเสียหายเมื่อผู้ใช้บริการตกเป็นเหยื่อ หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทุจริต เช่น กรณีกลุ่มผู้ใช้บริการที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ให้กำหนดวงเงินสูงสุดของการทำธุรกรรมถอนหรือโอนเงินรวมกันไม่เกิน 50,000 บาทต่อวันเป็นต้น

ทั้งนี้ สถาบันการเงินสามารถใช้แนวทางหรือกำหนดที่ได้จัดทำร่วมกัน (industry standard) มาใช้ประกอบการจัดระดับความเสี่ยง หรือกำหนดเพดานวงเงินสูงสุดของกลุ่ม ผู้ใช้บริการได้ และในกรณีที่ผู้ใช้บริการขอยกเว้นการกำหนดวงเงินตามกลุ่มความเสี่ยงที่กำหนดไว้สถาบันการเงินต้องมีกระบวนการพิจารณาการขอยกเว้นที่ชัดเจน และรัดกุมด้วย เป็นต้น

2. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของบริการ Mobile Banking สถาบันการเงินต้องกำหนดให้มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยแอปพลิเคชั่นที่ให้บริการ Mobile Banking ภายใต้กรอบหลักการที่สำคัญ คือ 1.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล 2.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของแอปพลิเคชั่น และ 3.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของอุปกรณ์เคลื่อนที่ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์และภัยทุจริตทางการเงินที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการและความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงิน ดังนี้

1. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล สถาบันการเงินต้องรักษาความลับและความปลอดภัยของข้อมูลสำคัญของผู้ใช้บริการอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันข้อมูลสำคัญของผู้ใช้บริการรั่วไหล หรือถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข ทั้งขณะจัดเก็บ แสดงผล และรับ-ส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์เคลื่อนที่ของผู้ใช้บริการและระบบงานของสถาบันการเงิน โดยต้องดำเนินการอย่างน้อย ดังนี้

1.1 หลีกเลี่ยงการจัดเก็บข้อมูลสำคัญไว้ในอุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น ข้อมูลที่ใช้ยืนยันตัวตน ข้อมูลส่วนบุคคล โดยหากจำเป็นต้องจัดเก็บข้อมูลดังกล่าว ต้องมีกระบวนการรักษาความปลอดภัยที่รัดกุม โดยอย่างน้อยสถาบันการเงินต้องเข้ารหัสข้อมูล (data encyption) ด้วยวิธีการที่ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และทำลายข้อมูลเมื่อสิ้นสุดการใช้งานข้อมูล

1.2 แอปพลิเคชั่นของสถาบันการเงินต้องแสดงผลข้อมูลสำคัญ (sensitive information) ของผู้ใช้บริการเท่าที่จำเป็นและเป็นไปอย่างรัดกุม โดยอย่างน้อยต้องปิดบัง การแสดงข้อมูลรหัสผ่าน และปิดบังหน้าจอเมื่อย่อแอปพลิเคชั่น (application blurring)

1.3 ใช้ช่องทางสื่อสารที่ปลอดภัย (secure protocol) และยืนยันตัวตนด้วยเทคนิค certifcate pinning หรือวิธีอื่นที่เทียบเท่า รวมทั้งต้องดำเนินการเข้ารหัสข้อมูลสำคัญในระดับแอปพลิเคชั่น (application layer) ในการรับ-ส่งข้อมูล เพื่อป้องกันการถูกดักจับหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลระหว่างการรับส่ง (man in the middle attack)

2. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของแอปพลิเคชั่น สถาบันการเงินต้องติดตามดูแลและปรับปรุงแอปพลิเคชั่นให้มีความมั่นคงปลอดภัยตามมาตรฐานสากลและเท่าทันภัยคุกคามรูปแบบใหม่อยู่เสมอ โดยต้องดำเนินการอย่างน้อยดังนี้

2.1 แอปพลิเคชั่นของสถาบันการเงินต้องขอสิทธิเข้าถึงทรัพยากรหรือบริการบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ของผู้ใช้บริการ (application permission) เท่าที่จำเป็น และมีการทบทวน การขอสิทธิดังกล่าวทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงแอปพลิเคชั่นอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ รวมถึงเป็นช่องโหว่ที่อาจถูกใช้โดยผู้อื่นที่กระทำการโดยทุจริต

2.2 ไม่ให้บริการบนแอปพลิเคชั่นเวอร์ชั่นเก่าที่อาจมีช่องโหว่ และอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการสวมรอยทำธุรกรรมแทนผู้ใช้บริการ

2.3 ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแอปพลิเคชันทุกครั้งในทันทีที่ผู้ใช้บริการเข้าใช้งาน (ant-tamperine) และไม่อนุญาตให้ผู้ใช้บริการใช้งานแอปพลิเคชั่นที่ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลผู้ใช้บริการรั่วไหลหรือเกิดความเสียหายจากแอปพลิเคชันที่มีการดัดแปลงแก้ไข
เช่น การฝัง malicious code

2.4 จัดการการเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์ (session) ให้ปลอดภัยเพื่อป้องกันการสวมรอยเข้าใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต (session hjacking)

2.5 ป้องกัน source code ของแอปพลิเคชั่นไม่ให้อยู่ในรูปแบบที่อ่านเข้าใจโดยง่าย เช่น การทำ source code obfuscation เพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถเข้าถึงและทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไข source code ได้

3. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของอุปกรณ์เคลื่อนที่สถาบันการเงินต้องให้บริการ Mobile Banking ในสภาพแวดล้อมของอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้ไม่ประสงค์ดีกระทำการทุจริตโดยอาศัยช่องโหว่ของระบบปฏิบัติการเข้าถึง Mobile Banking และบัญชีของผู้ใช้บริการ โดยต้องดำเนินการอย่างน้อย ดังนี้

3.1 ไม่อนุญาตให้แอปพลิเคชั่นของสถาบันการเงินใช้งานบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ตรวจพบว่ามีการเปิดสิทธิให้เข้าถึงระบบปฏิบัติการ (rooted/jailbroken)

3.2 ไม่อนุญาตให้แอปพลิเคชั่นของสถาบันการเงินทำงานบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ในขณะที่มีแอปฟลิเคชั่นอื่นกำลังทำงานและมีพฤติกรรมการทำงานที่เสี่ยงจะก่อให้เกิดการสวมรอยทำธุรกรรมแทนผู้ใช้บริการ เช่น แอปพลิเคชั่นที่ขอสิทธิช่วยเหลือคนพิการ (accessibility services) โดยไม่จำเป็น แอปพลิเคชั่นที่สามารถควบคุมคุมอุปกรณ์เคลื่อนที่จากระยะไกลได้ (remote control) แอปพลิเคชั่นที่มีการปิดบังหรือขโมยข้อมูลที่แสดงบนหน้าจอของผู้ใช้งาน เพื่อลดความเสี่ยงที่แอปพลิเคชั่นของสถาบันการเงินจะถูกควบคุมหรือเข้าถึงโดย malware ที่มีการติดตั้งบนอุปกรณ์เคลื่อนที่

3.3 หลีกเลี่ยงการให้บริการ Moble Banking ของสถาบันการเงินบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ใช้ระบบปฏิบัติการที่หน่วยงานด้านความมั่นคงปลอดภัยที่เป็นที่ยอมรับ เช่น Thailand Banking Sector Computer Emersency Response Team (TB-CERT) กำหนดว่ามีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์ หรือการสวมรอยทำธุรกรรมแทนผู้ใช้บริการกรณีสถาบันการเงินมีการให้บริการบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ใช้ระบบปฏิบัติการที่มีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์ หรือการสวมรอยทำธุรกรรมแทนผู้ใช้บริการสถาบันการเงินต้องจัดให้มีแนวทางการควบคุมความเสี่ยงเพิ่มเติม

โดยการแจ้งเตือนถึงความเสี่ยงจากกรณีดังกล่าว รวมทั้งจำกัดวงเงินการทำธุรกรรมของกลุ่มผู้ใช้บริการดังกล่าวให้ทำธุรกรรมโอนเงินได้ไม่เกินวันละ 5,000 บาท

ทั้งนี้ สถาบันการเงินต้องติดตามและปรับปรุงการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการให้บริการ Mobile Banking ให้เท่าทันภัยคุกคามทางไซเบอร์และภัยทุจริตรูปแบบใหม่ เป็นไปตามมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง

โดยกรณีที่พบช่องโหว่ใหม่ สถาบันการเงินต้องเร่งดำเนินการให้มีแนวทางป้องกัน เพื่อปิดช่องโหว่ภายในกรอบเวลาที่เหมาะสม หรือดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

5.4 การขอผ่อนผันการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ กรณีที่สถาบันการเงินมีเหตุจำเป็นหรือพฤติการณ์พิเศษที่ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศฉบับนี้ได้ ให้ยื่นขอผ่อนผันเป็นรายกรณีต่อธนาคารแห่งประเทศไทยพร้อมแสดงเหตุผลความจำเป็นและแผนการดำเนินการเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดได้ต่อไป

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับคำขอและเอกสารถูกต้องครบถ้วน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ให้ถือปฏิบัติเพิ่มเติมด้วยก็ได้

สำหรับวันเริ่มต้นบังคับใช้ประกาศนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป