
ก.ล.ต.-ตลาดหลักทรัพย์ฯ ย้ำให้บริษัทจดทะเบียน ต้องให้ความสำคัญกับระบบควบคุมภายใน-ระบบบริหารความเสี่ยง หวังป้องกันทุจริตตั้งแต่ต้นทาง ยืนยันการบังคับใช้กฎหมายจะมีความเข้มงวดเป็นรูปธรรมมากขึ้น อยู่ระหว่างปรับปรุงกฎหมายเอาผู้กระทำผิดมารับโทษได้
ศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย ด้วยมาตรฐานการตรวจสอบใหม่ระดับสากล (Strengthening Market Confidence Through Audit Excellence)” ภายในงานสัมมนา SET Sustainability Forum 1/2568 ว่า ก.ล.ต.ต้องการให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ให้ความสำคัญกับระบบควบคุมภายใน ระบบบริหารความเสี่ยง เพื่อป้องกันการกระทำที่อาจทำให้เกิดผลเสียหาย ไม่เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ถือหุ้น เพราะผู้ถือหุ้นเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ในลำดับสุดท้ายของบริษัทจดทะเบียน
ถัดมา บจ.ต้องมีการมอนิเตอร์ระบบดังกล่าวในกระบวนการทำงานที่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะฝ่ายการเงินที่ต้องสอบทานตัวเลขเมื่อเกิดการเบิกจ่าย ขณะเดียวกันต้องมีการติดตามจากหน่วยงานตรวจสอบภายในที่เข้าไปตรวจสอบหน่วยงานอื่น ๆ ได้อย่างเป็นอิสระ เพื่อช่วยให้ความรู้หรือคำแนะนำและสามารถจะลดความบกพร่องได้
นอกจากนั้น บจ.ต้องจัดให้มีการรายงานงบการเงิน และรายงานความเสี่ยง ต่อคณะกรรมการบริษัท หรือหน่วยงานภายนอก อาทิ Stakeholder ที่เกี่ยวข้อง หรือหากเกิดเหตุการณ์ความเสี่ยงที่มีสาระสำคัญ ก็จะมีแนวปฏิบัติที่สามารถรายงานต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ได้ทันที
โดยผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในการกำกับ ดูแล และติดตาม จัดให้มีระบบควบคุมภายในที่ดีของ บจ. ก็คือ บทบาทของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบ รวมทั้งหน่วยงานตรวจสอบภายในของ บจ. ที่ไม่ใช่เพียงสิ่งที่ต้องปฏิบัติหรือจัดให้มีเพื่อให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์เท่านั้น แต่ต้องกำหนดเป็นประเด็นเชิงกลยุทธ์ เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานให้มีระบบควบคุมภายในที่มีความเพียงพอและเหมาะสม ฉะนั้นบทบาทเหล่านี้จะเป็นกลไกที่สำคัญมาก
“ฝากถึงกรรมการบริษัทและกรรมการตรวจสอบของ บจ. ข้อมูลอยู่ในมือของท่าน อย่าให้โอกาสการกระทำผิดเกิดขึ้นได้ในบริษัทที่ท่านดำรงตำแหน่งอยู่” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าถ้าเราเสริมสร้างธรรมาภิบาลแล้ว จะสร้างมูลค่า ประโยชน์ และการเติบโตอย่างยั่งยืนของแต่ละบริษัทจดทะเบียนได้ โดยเฉพาะในภาวะตลาดทุนไทยปัจจุบัน ที่คำว่าความเชื่อมั่น (Trust & Confidence) เป็นสิ่งสำคัญที่สุด และเราก็อยากเห็น Trust & Confidence อยู่คู่ไปกับตลาดทุนไทยด้วย
ดังนั้น บทบาทของทั้งสำนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทจดทะเบียน รวมไปถึงผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ในตลาดทุนไทย ทุกคนมีหน้าที่ มีบทบาทที่ต้องช่วยกันทำให้เกิดธรรมาภิบาล ความยั่งยืนของ บจ. และสร้าง Trust & Confidence กลับมาและอยู่ต่อเนื่องไปในตลาดทุนไทย
โดยยืนยันว่าการบังคับใช้กฎหมายของสำนักงาน ก.ล.ต. จะมีความเข้มงวดและเป็นรูปธรรมมากขึ้นแน่นอน เพื่อเป็นการปราบปรามสิ่งไม่ดี โดยการใช้เทคโนโลยี การประสานความร่วมมือ และการแก้กฎหมายเพื่อให้อำนาจหรือการบังคับใช้กฎหมายมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีมากขึ้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายให้สามารถนำผู้กระทำผิดมารับโทษได้
ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ท่ามกลางความท้าทายของตลาดทุนโลก ทั้งความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และวิกฤตความเชื่อมั่น การยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการและการตรวจสอบภายใน คือกุญแจสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งการผสานความร่วมมือระหว่าง Audit Committee (AC), Chief Executive Officer (CEO) และ Chief Audit Executive (CAE) หรือที่เรียกว่า ‘The Governance Trinity’ จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
นายพงศ์ศักดิ์ แสงสิงคี นายกสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย กล่าวย้ำว่า มาตรฐานการตรวจสอบภายในฉบับใหม่ที่เริ่มบังคับใช้เมื่อปลายปี 2567 ซึ่งได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องมาตรฐานสากล คำนึงถึงบริบทของตลาดทุนไทย และมุ่งเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง AC-CEO-CAE จะยกระดับการกำกับดูแลกิจการสู่การสร้างมูลค่าที่ยั่งยืนได้