ดอลลาร์อ่อนค่า แม้เงินเฟ้อสหรัฐสูงกว่าคาด

ดอลลาร์อ่อนค่า แม้เงินเฟ้อสหรัฐสูงกว่าคาด ล่าสุดดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ขณะที่นักลงทุนยังจับตามาตรการภาษีศุลกากรของรัฐบาลสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (13/2) ที่ระดับ 33.96/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (11/2) ที่ระดับ 34.05/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าเทียบเงินสกุลหลัก หลัง Dollar Index ปรับตัวขึ้นที่ระดับ 107.939 แม้ว่ากระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวสูงขึ้นเกินคาดในเดือน ม.ค. ซึ่งเปิดเผยว่า ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือน ม.ค.เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.9% และเพิ่มขึ้นจากระดับ 2.9% ในเดือน ธ.ค.

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.1% และเพิ่มขึ้นจากระดับ 3.2% ในเดือน ธ.ค. นักลงทุนจับตาตามมาตรการภาษีศุลกากรของรัฐบาลสหรัฐ

ล่าสุดมีรายงานว่าทีมที่ปรึกษาด้านการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเร่งสรุปแผนการใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับทุกประเทศที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ ซึ่งการใช้มาตรการทางภาษีของสหรัฐอาจยังเป็นปัจจัยกดดันให้เงินเฟ้อของสหรัฐอ่อนตัวลงได้ยาก

อีกทั้งดัชนี CPI ที่สูงเกินคาดถือเป็นการตอกย้ำการส่งสัญญาณล่าสุดของเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดที่กล่าวว่า เฟดไม่จำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%

ADVERTISMENT

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้ โดยได้กล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันอังคาร ก่อนที่จะกล่าวต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรช่วงค่ำวานนี้

นายพาวเวลล์กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความแข็งแกร่งเช่นเดียวกับตลาดแรงงาน ขณะที่เงินเฟ้อกำลังชะลอตัวลง แต่ยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมาย 2% ของเฟด ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เฟดไม่ต้องรีบผ่อนคลายนโยบายการเงิน ขณะที่เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 93.5% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมนโยบายการเงินประจำเดือน มี.ค.

ADVERTISMENT

ด้านปัจจัยภายในประเทศ วันนี้ (13/2) นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า จากผลสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน ม.ค. 2568” มีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 109 แห่ง พบว่าปีนี้ธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่กังวลปัจจัย “เศรษฐกิจโลกชะลอตัว” โดยอาจส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยมากที่สุด

นอกเหนือจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกชะลอตัวแล้ว ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ยังระบุถึงปัจจัยที่กระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทย รองลงมาคือ ต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งค่าแรง ราคาพลังงาน วัตถุดิบ และการแข่งขันด้านราคาระหว่างธุรกิจโรงแรมที่รุนแรงขึ้น กดดันต่อการขยายตัวของรายได้ และกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยกว่าคาดการณ์อีกด้วย

นอกจากนี้ ตลาดยังคงความกังวลว่าไทยอาจถูกเก็บภาษีจากสหรัฐ เนื่องจากมีการเกินดุลสหรัฐในลำดับต้น ๆ ทั้งนี้ระหว่างวันการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอยู่ในกรอบระหว่าง 33.81-34.03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.80/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (13/2) ที่ระดับ 1.0394/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (10/2) ที่ระดับ 1.0318/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

โดยวันนี้ (13/2) นักลงทุนกำลังรอการเปิดเผยข้อมูล GDP ของสหราชอาณาจักรสำหรับเดือน ธ.ค. รวมถึงตัวเลขเบื้องต้นของไตรมาส 4 และข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการผลิตเดือน ธ.ค. ซึ่งจะให้ภาพรวมเศรษฐกิจของอังกฤษในวันนี้ (13/2) เมแกน กรีน ผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) กล่าวว่า ควรใช้แนวทางที่ระมัดระวังและค่อยเป็นค่อยไปในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยเน้นย้ำถึงความเสี่ยงที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้ออาจยังคงอยู่

ทั้งนี้ BOE ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2568 ลงครึ่งหนึ่งท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งนี้ ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0381-1.0439 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0416/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ส่วนค่าเงินเยนเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (13/2) ที่ระดับ 154.44/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (11/2) ที่ระดับ 151.97/98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าบริเวณกรอบล่าง 154 เยนในการซื้อขายเช้านี้ที่ตลาดโตเกียว หลังสหรัฐรายงานที่เปิดเผยในวันนี้ (13/2) ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อภาคการผลิตรายปีของญี่ปุ่นในเดือน ม.ค. 2568 พุ่งขึ้นสู่ระดับ 4.2% นับเป็นการเร่งตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันด้านราคาที่ยังคงอยู่ในระดับสูง พร้อมทั้งตอกย้ำการคาดการณ์ของตลาดที่ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในเร็ว ๆ วันนี้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ข้อมูลดังกล่าวได้เผยแพร่ออกมาภายหลังจากที่คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ได้ส่งสัญญาณเตือนเมื่อวันพุธ (12 ก.พ.) ว่า การที่ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชน สะท้อนให้เห็นว่า BOJ กำลังจับตามองความเสี่ยงที่ราคาสินค้าอาจปรับตัวสูงขึ้นอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนอยู่ในกรอบระหว่าง 153.93-154.66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 153.94/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ของสหรัฐ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (13/2), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ม.ค. (13/2), ยอดค้าปลีกเดือน ม.ค. (14/2), ตัวเลขนำเข้าและส่งออกเดือน ม.ค. (14/2), การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ม.ค. (14/2), สต๊อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือน ธ.ค. (14/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap Point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -5.70/-5.65 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.15/-3.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ