
ธนาคารโลกเผยแพร่รายงาน ‘Thailand Economic Monitor’ ระบุว่าไทยเสี่ยงทางการคลัง หลังภาครัฐเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านนโยบายการคลังแบบขยายตัว พร้อมแนะให้ไทยลดเงินอุดหนุนพลังงาน เพิ่มรายรับภาษี และลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า จากรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย (Thailand Economic Monitor) ของธนาคารโลก (World Bank) เผยว่า ความพยายามของรัฐบาลไทยในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังแบบขยายตัว กำลังเผชิญกับความเสี่ยงทางด้านต้นทุนที่สูงขึ้น ในการดูแลผู้สูงอายุ การลงทุน และความจำเป็นในการรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน
ธนาคารโลกแนะนำว่า ไทยสามารถเสริมความยืดหยุ่นทางการคลังได้ด้วยการลดเงินอุดหนุนด้านพลังงาน เพิ่มรายได้ภาษี และเร่งภาครัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีและทุนมนุษย์ (Human Capital)
นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังระบุด้วยว่ามาตรการกระตุ้นการบริโภคเพื่อเร่งการเติบโตอย่าง นโยบายดิจิทัลวอลเลต สร้างแรงกดดันทางการคลังอย่างมาก
ไทยต้องเผชิญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยต่ำกว่า 2% ซ้ำเติมด้วยระดับหนี้ครัวเรือนที่พุ่งทะลุเพดานแตะ 90% ของจีดีพี ทั้งยังมีปัญหาสินค้าราคาถูกจากจีนหลั่งไหลทะลักเข้ามาทำร้ายอุตสาหกรรมภาคการผลิตในประเทศ
ธนาคารโลกมองว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้นในปีนี้ ขับเคลื่อนโดยอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแรงจากมาตรการกระตุ้นทางการคลัง ขณะที่ปัจจัยภายนอกจะส่งผลกระทบเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าจีดีพีจะเติบโต 2.9% จากที่โต 2.6% ในปีก่อน และคาดว่าจะเติบโตชะลอตัวเหลือ 2.7% ในปี 2569 ทั้งนี้ ธนาคารโลกประเมินว่าไทยจะฟื้นตัวเต็มที่ในปี 2028
ด้วยแรงกดดันจากการใช้จ่ายภาครัฐและต้นทุนการลงทุนในทุนมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น จากผู้สูงอายุที่มากขึ้น ธนาคารโลกคาดว่าหนี้สาธารณะจะพุ่งทะลุเพดานเป็น 70% ของจีดีพีในอีก 5 ปีข้างหน้า จากราว 64.85% ที่ประมาณไว้ภายในปีงบประมาณปัจจุบัน
รายงานของธนาคารโลกระบุว่า แม้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินอย่างระมัดระวังของธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัว ซึ่งมุ่งเป้าบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือน พร้อมผ่อนคลายสินเชื่อ ขณะที่ยังต้องรักษาเสถียรภาพทางการเงินไปด้วย
ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% ในเดือนธันวาคม หลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างกะทันหัน 0.25% ในเดือนตุลาคม และมีกำหนดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้