ธนาคารโลกคาดปี’68 จีดีพีไทยโต 2.9% ด้วยแรงหนุนจากการลงทุนของรัฐ

worldbank

ธนาคารโลกคาดปี 2568 เศรษฐกิจไทยเติบโต 2.9% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนของภาครัฐ ส่วนท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับมาในระดับก่อนโควิด-19 ภายในกลางปี ด้านนโยบายแจกเงินหมื่นส่งผลให้ความยากจนลดลง 8.29% ในปี 2567 แต่จีดีพีของไทยยังคงต่ำ และยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า รายงานการตามติดเศรษฐกิจ Thailand Economic Monitor ฉบับล่าสุด คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 2.9% ในปี 2568 จาก 2.6% ในปี 2567

โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้มาจากการลงทุนที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะภาครัฐได้รับการสนับสนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่สูงขึ้น และการดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในแผน นอกจากนี้ การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงมีบทบาทสำคัญ โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในกลางปี 2568

ขณะที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก นวัตกรรม ผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีความยึดหยุ่นและพลวัตสูง จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและกระตุ้นการเติบโตอย่างยั่งยืน

“ประเทศไทยมีกรรมเก่าคือหนี้ครัวเรือนที่สูง แต่ก็ยังมีบุญเก่า คือเสถียรภาพอยู่ในอันดับดี ดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้กลับมาบวกจากการส่งออก และการท่องเที่ยวดี เงินเฟ้อต่ำแต่ยังต่ำกว่าระดับของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งแม้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะดีกว่าที่คาดไว้ แต่จีดีพีของไทยยังคงต่ำกว่าระดับศักยภาพที่ควร โดยคาดการณ์ปี 2569 จีดีพีไทยที่ 2.7%”

ความท้าทายหลัก ได้แก่ การลดระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง, การกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน และการเสริมสร้างความยั่งยืนทางการคลัง ท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จากความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งสงครามการค้า และความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ประเทศไทยควรเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางการคลังผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน การขยายฐานภาษีและการให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ส่งเสริมการเติบโตในด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีใหม่จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความยั่งยืนในระยะยาว

น.ส.เมลินดา กูด ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและเมียนมา เปิดเผยว่า จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและโครงการโอนเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล ส่งผลต่ออัตราความยากจนลดลงเหลือ 8.29 ในปี 2567 จาก 8.5% ในปี 2566

ADVERTISMENT

“ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างโดดเด่นในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตในอนาคตจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินการที่กล้าตัดสินใจ การลงทุนในระบบนิเวศนวัตกรรม การพัฒนาทักษะสำหรับอนาคต และการสร้างสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้ออำนวย จะช่วยให้คนไทยสามารถปรับตัวรับมือกับความท้าทายระดับโลกและเติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต”