
คปภ. ยกร่างประกาศลงทุนสำหรับบริษัทประกันฉบับใหม่ ใช้เกณฑ์กำกับดูแลตามระดับความเสี่ยง จ่อบังคับใช้ไตรมาสแรกปี’69 เปิดทางบริษัทประกันที่มีความพร้อมลงทุน “Investment Token-Hedge Fund-Private Asset Fund” พร้อมขยับเพดานลงทุนหุ้นบริษัทนอกตลาดสูงขึ้น จากที่จำกัดไม่เกิน 1% “นายกสมาคมประกันชีวิตไทย” ชี้สอดคล้องแนวคิดภาคธุรกิจที่อยากเห็น คปภ.เปิดกว้างการลงทุนที่มากขึ้น
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ภายในปีนี้ คปภ.จะปรับปรุงประกาศลงทุนสำหรับบริษัทประกันภัยฉบับใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลตามระดับความเสี่ยง (Risk Proportionality) ที่มากขึ้น โดยมีแผนจะเปิดให้บริษัทประกันที่มีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีมาก และมีฐานะการเงินที่มั่นคง สามารถลงทุนในเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

ซึ่งช่วงที่ผ่านมา คปภ.ได้จัดทำ Focus Group กับบริษัทประกันภัยไปแล้ว โดยจะเพิ่มให้โทเค็นดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) เป็นสินทรัพย์ที่บริษัทประกันภัยสามารถลงทุนได้ เนื่องจากโลกดิจิทัลมีการปรับตัวไปมากในเวลานี้ และเพื่อให้สอดคล้องไปกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่เล็งยกระดับการนำเสนอ Investment Token
“คปภ.มองการลงทุนประเภทนี้น่าสนใจ เพราะโทเค็นดิจิทัลเพื่อการลงทุนถือเป็นสินทรัพย์ที่ค่อนข้างมีความมั่นคงมาก ๆ เพราะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันหนุนหลังอยู่”
นอกจากนี้ คปภ.จะเปิดให้บริษัทประกันภัยสามารถลงทุนได้ในกองทุนบริหารความเสี่ยง (Hedge Fund) และกองทุนรวมสินทรัพย์นอกตลาด (Private Asset Fund) เพิ่มเติมด้วย รวมไปถึงจะปรับปรุงเพดานการลงทุนในหุ้นของบริษัทนอกตลาด (Private Equity) ให้สูงขึ้น จากเดิมที่จำกัดลงทุนได้ไม่เกิน 1% ของสินทรัพย์บริษัท
“จากการทำ Focus Group ถือว่าภาคธุรกิจประกันในฐานะที่เป็นนักลงทุนสถาบันค่อนข้างให้ความสนใจมาก โดยภายในปีนี้ คปภ.ต้องกำหนดรูปแบบให้ชัดเจนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บริษัทประกันใดจะลงทุนได้ รวมไปถึงค่าความเสี่ยง (Risk Charge) จากการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าเงินลงทุนของบริษัทประกันภัยซึ่งเป็นเบี้ยประกันของประชาชนยังมีความปลอดภัยและมั่นคงอยู่ หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ คปภ. (บอร์ด) คาดว่าประกาศลงทุนฉบับใหม่นี้น่าจะมีผลบังคับใช้ได้ประมาณไตรมาส 1-2 ปี 2569”
เลขาธิการ คปภ.กล่าวว่า การออกประกาศลงทุน คปภ.ที่ผ่านมา จะมีผลใช้บังคับกับทุกบริษัทประกันภัย โดยยึดคอนเซ็ปต์ไม่ให้ลงทุนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะอาจสร้างความกังวลหากบริษัทประกันมีความรู้ไม่ดีพอ อาจเกิดความเสียหายขึ้นซึ่งจะกระทบต่อผู้เอาประกันภัยได้ แต่ปัจจุบัน คปภ.ได้ยึดหลักเกณฑ์ Risk Proportionality เพื่อไม่เป็นการปิดกั้นโอกาสสำหรับบริษัทประกันภัยที่มีความพร้อม ทั้งด้านการบริหารความเสี่ยงและมีฐานะการเงินที่มั่นคง สามารถจะยกระดับการลงทุนที่มีความเสี่ยงที่สูงกว่ามาตรฐานได้
“เกณฑ์ Risk Proportionality จะเป็นการคัดกรองบริษัทประกันภัยที่ผ่านคุณสมบัติทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ให้สามารถลงทุนในเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายได้มากกว่า และอาจขยายไปถึงการที่เขาสามารถเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์บางประเภทที่เคยจำกัดเพดานลงทุนไว้ด้วย เช่น จากเดิมจำกัดเพดานลงทุนไว้ไม่เกิน 30% ก็จะขยายเพดานที่สูงขึ้นได้ ดังนั้น ประกาศฉบับใหม่นี้จะไม่ใช่แบบ One Size Fits All อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษา ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด คปภ.ก่อน”
นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยสมุทรประกันชีวิต ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวคิดการออกประกาศลงทุน คปภ.ดังกล่าว ถือว่าสอดคล้องกับแนวคิดที่ภาคธุรกิจประกันชีวิตอยากเห็น เพราะถือเป็นการลงทุนที่เปิดกว้างมากขึ้นให้บริษัทประกันสามารถหาผลตอบแทนในหลายรูปแบบได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บริษัทประกันชีวิตใดจะลงทุนหรือไม่ มองว่าคงขึ้นอยู่กับการบริหารความเสี่ยงของแต่ละบริษัทประกันเป็นสำคัญ

“เมื่อ คปภ.เปิดกว้างเรื่องการลงทุนให้แล้ว สิ่งสำคัญคือบริษัทประกันชีวิตต้องบริหารความเสี่ยงด้วยตัวเองให้ดี โดยต้องมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีในสินทรัพย์ประเภทนั้น ๆ ที่จะลงทุน เช่น ถ้าลงทุน Investment Token ก็ต้องรู้ว่ามูลค่าหรือราคาโทเค็นนั้นว่าเป็นอย่างไร และโทเค็นนั้นมีสินทรัพย์อะไรหนุนหลังอยู่” นางนุสรากล่าว