
ค่าเงินผันผวน เนื่องจากความไม่แน่นอนด้านสงครามการค้าโลก
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินราประจำวันที่ 10-14 กุมภาพันธ์ 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (10/2) ที่ระดับ 33.87/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/2) ที่ระดับ 33.64/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการแข็งค่าของดอลลาร์ภายหลังการเปิดเผยตัวเลขภาคแรงงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐ
โดยในวันศุกร์ (7/2) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 143,000 ตำแหน่งในเดือน ม.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 169,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 307,000 ตำแหน่งในเดือน ธ.ค. โดยมีการปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือน ธ.ค. เป็นเพิ่มขึ้น 307,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้นเพียง 256,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 4.0% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.1%
ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งเสริมการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะสามารถยืดระยะเวลาในการตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไป นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า เขาวางแผนที่จะประกาศใช้ภาษีศุลกากรตอบโต้ ซึ่งจะเป็นการยกระดับการทำสงครามการค้ากับพันธมิตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และกล่าวว่าการดำเนินการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อทุกคน โดยไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนถึงมาตรการที่วางแผนจะดำเนินการ ซึ่งภาษีตอบโต้อาจจะมาแทนแผนภาษีนำเข้าพื้นฐานในอัตรา 10-20% ซึ่งถูกใช้ในการหาเสียง โดยทรัมปกล่าวว่าเขามีแนวโน้มที่จะใช้ภาษีตอบโต้เป็นหลักมากกว่าอัตราภาษีศุลกากรพื้นฐานทั่วไป และกำลังพิจารณาการเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์เป็นพิเศษ
ขณะที่ในวันอังคาร (11/2) นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรส โดยนายพาวเวลล์กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับตลาดแรงงาน ขณะที่เงินเฟ้อกำลังชะลอตัวลง แต่ยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมาย 2% ของเฟด ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ไม่เฟดไม่ต้องรีบผ่อนคลายนโยบายการเงิน
นอกจากนี้ในวันพุธ (12/2) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวสูงขึ้นเกินคาดในเดือน ม.ค. ซึ่งเปิดเผยว่า ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.9% และเพิ่มขึ้นจากระดับ 2.9% ในเดือน ธ.ค.
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.1% และเพิ่มขึ้นจากระดับ 3.2% ในเดือน ธ.ค. โดยในวันพฤหัสบดี (13/2) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวขึ้น 3.5% ในเดือน ม.ค.หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.5% ในเดือน ธ.ค.เช่นกัน
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จับตาอย่างใกล้ชิด ปรับตัวขึ้น 3.6% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 3.7% ในเดือน ธ.ค. ตลาดติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ยอดค้าปลีก รวมถึงยอดผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือน มกราคม ที่จะมีการรายงานในคืนนี้
สำหรับปัจจัยภายในภูมิภาค ในวันอาทิตย์ (9/2) สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยรายงานว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเร่งตัวขึ้นจากเดือน ธ.ค. ที่เพิ่มขึ้น 0.1% และสูงกว่าคาดการณ์ที่ 0.4% และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ปรับตัวขึ้น 0.7% จากระดับ 0% ในเดือน ธ.ค. แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.8%
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือน ม.ค. หดตัว 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเท่ากับอัตราการลดลงในเดือน ธ.ค. และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัว 2.1% โดยนักวิเคราะห์มองว่า จีนยังมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะเงินฝืดต่อเนื่องตลอดปีนี้ หากภาครัฐไม่สามารถกระตุ้นการบริโภคที่ซบเซาให้ฟื้นตัวได้ อีกทั้งยังมีปัจจัยกดดันเพิ่มเติมจากการที่สหรัฐปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน
นอกจากนี้ธนาคารกลางจีน (PBOC) เพิ่มปริมาณทองคำสำรองเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันในเดือน ม.ค. แม้ราคาทองคำจะพุ่งขึ้นทุบสถิติใหม่นับตั้งแต่ต้นปีก็ตามปริมาณทองคำแท่งที่ PBOC ถือครองอยู่เพิ่มขึ้น 0.16 ล้านทรอยออน์เมื่อเดือนที่แล้ว
โดย PBOC เริ่มกลับมาเพิ่มทองคำเข้าทุนสำรองอีกครั้งในเดือน พ.ย. หลังจากหยุดพักไปเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากที่เข้าซื้ออย่างต่อเนื่อง 18 เดือนติดต่อกัน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า PBOC มีความมุ่งมั่นที่จะกระจายความเสี่ยงของทุนสำรอง แม้ราคาทองจะอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งการเข้าซื้อของ PBOC สะท้อนให้เห็นว่าจีนมีมุมมองเชิงบวกต่อทองคำ โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.62-34.22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (14/2) ที่ระดับ 33.64/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (10/2) ที่ระดับ 1.0305/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/2) ที่ระดับ 1.0390/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการแข็งค่าของดอลลาร์ ท่ามกลางการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจยุโรปที่ยังคงไร้ทิศทาง โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีรายงานในวันศุกร์ (7/2) ว่า การส่งออกเดือน ธ.ค.เพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.6% ยอดส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป (EU) เพิ่มขึ้น 5.9% ในเดือน ธ.ค.
ขณะที่การส่งออกไปยังประเทศนอก EU หดตัว 0.5% ด้านการนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. ส่งผลให้เดือน ธ.ค. เยอรมนีมีดุลการค้าเกินดุล 2.07 หมื่นล้านยูโร เพิ่มขึ้นจาก 1.92 หมื่นล้านยูโรในเดือน พ.ย. อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติรายงานว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค. ลดลง 2.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะลดลงเพียง 0.6% ในวันพฤหัสบดี ค่าเงินยูโรได้แรงหนุนจากการที่รัสเซียกับยูเครนใกล้บรรลุข้อตกลงสันติภาพ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0291-1.0472 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (14/2) ที่ระดับ 1.0466/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (10/2) ที่ระดับ 152.06/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/2) ที่รดับ 151.82/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการแข็งค่าของดอลลาร์ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่แท้จริงของญี่ปุ่นจะขยายตัว 1% ในไตรมาส 4/2567 เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 1.2% และเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส คาดว่า GDP จะขยายตัว 0.3%
ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การอุปโภคบริโภคในภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้น มีแนวโน้มลดลง 0.3% ในไตรมาส 4 หลังจากที่ปรับตัวลง 0.7% ในไตรมาส 3 โดยระบุว่า ผลกระทบจากการที่ค่าจ้างที่แท้จริงปรับตัวลงเป็นเวลานานถึง 3 ปี ได้สร้างแรงกดดันต่อกำลังซื้อของภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดี คาดว่าการใช้จ่ายด้านทุน (CapEX) ในไตรมาส 4 จะเพิ่มขึ้น 1%
นอกจากนี้ ชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ตกลงกันเมื่อวันศุกร์ (7/2) ที่จะมุ่งสู่ “ยุคทองใหม่” ของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ และญี่ปุ่นในการพบปะกันครั้งแรก โดยสัญญาว่าจะผลักดันความร่วมมือในด้านการป้องกัน, เศรษฐกิจ, เทคโนโลยี และด้านอื่น ๆ ในการแถลงข่าวร่วมที่ทำเนียบขาวหลังการประชุมสุดยอด ทรัมป์กล่าวว่า เขาได้ยืนยันกับอิชิบะว่าพันธมิตรทวิภาคีระหว่างสหัฐและญี่ปุ่นยังคงเป็นเสาหลักของสันติภาพ, ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ท่ามกลางความท้าทายด้านความมั่นคงจากจีนและเกาหลีเหนือ
นอกจากนี้ ในวันพฤหัสบดี (13/2) ญี่ปุ่นมีการรายงาน ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อภาคการผลิตรายปีของญี่ปุ่นในเดือน ม.ค. 2568 พุ่งขึ้นสู่ระดับ 4.2% นับเป็นการเร่งตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันด้านราคาที่ยังคงอยู่ในระดับสูง พร้อมทั้งตอกย้ำการคาดการณ์ของตลาดที่ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในเร็ววันนี้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ข้อมูลดังกล่าวได้เผยแพร่ออกมาภายหลังจากที่คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ได้ส่งสัญญาณเตือนเมื่อวันพุธ (12 ก.พ.) ว่าการที่ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชน สะท้อนให้เห็นว่า BOJ กำลังจับตามองความเสี่ยงที่ราคาสินค้าอาจปรับตัวสูงขึ้นอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ในช่วงระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 151.24-154.79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (14/2) ที่ระดับ 152.56/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ