
หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BANK) ถือว่ามีความแข็งแกร่งกว่าดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ในเวลานี้ เพราะถ้าเทียบปลายปี 2567 ที่ดัชนี SET อยู่ที่ 1,400 จุด และตอนนี้ปรับตัวลดลงมาเหลือประมาณ 1,270 จุด ติดลบไป 10% ในขณะที่เซ็กเตอร์แบงก์ยังปรับตัวเป็นบวกได้กว่า 3% สาเหตุที่เซ็กเตอร์แบงก์ยังแกร่งกว่าดัชนี SET
“กรกช เสวตร์ครุตมัต” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เป็นผลจากภาพรวมงบการเงินไตรมาส 4/2567 ที่ออกมาดีกว่าคาด สาเหตุหลักมาจากกำไรเงินลงทุนดีกว่าคาด และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่ต่ำกว่าคาด และมีความกังวลเรื่องคุณภาพสินทรัพย์สินเชื่อเช่าซื้อที่ลดลง
ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยรวมเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้ขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ และจำนวนผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ดูเหมือนจะสมัครน้อยมาก โดยจนถึงขณะนี้คิดเป็นเพียงไม่เกิน 1% ของสินเชื่อ
ในส่วนการบริหารเงินทุนให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผล (dividend yield) ถือว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนสนับสนุนให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาในช่วงที่ผ่านมา ตอนนี้หุ้นแบงก์หลายแห่งให้ dividend yield อยู่ในระดับ 7-8% ซึ่งสูงในระดับการซื้อหุ้นกู้เสี่ยงสูง (High Yield Bond) แต่จ่ายผลตอบแทนที่แน่นอนกว่า และผู้บริหารทุกรายมีแผนจะจ่ายปันผลที่เพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้งบางแบงก์ยังมีการประกาศโครงการซื้อหุ้นคืนเพิ่มเติม
“ทำให้เซ็กเตอร์แบงก์ราคาหุ้นค่อนข้างเพอฟอร์มดีเมื่อเทียบกับเซ็กเตอร์อื่น ๆ ในช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นค่อนข้างผันผวน ฝ่ายวิจัยกสิกรฯจึงได้ปรับเพิ่มมุมมองจาก “เชิงลบ” เป็น “เป็นกลาง” เนื่องจากเชื่อว่า Downside Risk จะมีอยู่อย่างจำกัดมากขึ้นจากการบริหารเงินทุนที่ดีขึ้น และแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ที่ทรงตัว และหุ้นมี Valuation ไม่แพง ซื้อขายด้วยราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (Price/Book Value) ต่ำกว่า 1 เท่า โดย PBV เฉลี่ยอยู่ที่ 0.68 เท่า”
แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันราคาหุ้นแบงก์หลายแห่งมีการปรับตัวตอบรับปัจจัยเชิงบวกขึ้นมามากพอสมควรแล้ว ดังนั้นสำหรับใครที่ยังไม่มีหุ้น คิดว่าไม่ควรไล่ในรอบนี้แล้ว แปลว่าซื้อตอนนี้จะได้แค่ dividend yield ที่ 4-5% ดังนั้นแต้มต่อไม่ได้มีมากแล้ว เหมือนกับช่วงปีที่แล้วหรือปลายปีที่แล้ว
แต่สำหรับคนที่ถือหุ้นแบงก์อยู่แล้ว ไม่ถึงขั้นต้องรีบขาย สามารถรอไปจนถึงช่วงประกาศจ่ายปันผลได้ และถึงตอนนั้นจะเป็นข่าวดีรอบสุดท้ายสำหรับการเล่นลงทุนในรอบนี้
ทั้งนี้สำหรับคำแนะนำการลงทุนหุ้นแบงก์ ยังชื่นชอบ TTB เป็นเบอร์ 1 เพราะมีการซื้อหุ้นคืน 2.1 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี (ซื้อคืนปีละ 7 พันล้านบาท) และการจ่ายปันผลมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ โดยถ้าย้อนไปช่วงปีกว่า ๆ SCB จะเป็นแชมป์ในเรื่องการจ่ายปันผล เพราะจ่ายปันผลคิดเป็นอัตราส่วนเงินปันผลต่อกำไร (Dividend Payout Ratio) ที่ 80% ได้ dividend yield ที่ 8% แซงหน้า TISCO ที่เป็นแชมป์มาเป็นเวลา 10 ปี
แต่ที่แนะนำ TTB เพราะเดิมตลาดคาดหวังอัตราส่วนเงินปันผลต่อกำไรที่ 60% แต่หลังการประชุมนักวิเคราะห์ของ TTB ทางผู้บริหารให้กรอบเพิ่มขึ้นเป็น 60-70% เพราะฉะนั้นถ้าปรับเป็น 70% จะได้ dividend yield ขึ้นไปที่กว่า 8%
ซึ่งจะแซง SCB จึงเป็นโอกาสที่นักลงทุน SCB ที่เน้นปันผล อาจจะหมุนเงินมาลงทุน TTB ได้บ้าง เพราะถ้าพิจารณาพอร์ตคุณภาพสินทรัพย์ TTB มีความปลอดภัยกว่า SCB ในระดับหนึ่ง
ถัดมาหุ้นแบงก์ที่จะแนะนำเป็นลำดับที่สองคือ KTB ที่จะมีอัพไซด์ราคาหุ้นจากเรื่องปันผล เพราะนโยบายจ่ายปันผลที่กำหนดไว้ว่า อัตราส่วนเงินปันผลต่อกำไรที่ 40% มีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้นได้ จากการให้สัมภาษณ์ของคุณผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ประกอบกับเงินทุนที่มีเหลืออยู่จำนวนมาก และไม่มีแผนในการลงทุนใหม่ ๆ ในช่วงเวลานี้ จึงเป็นหุ้นแบงก์ที่อาจจะต้องมีติดไว้ในพอร์ต
“แต่สำหรับ SCB ไม่แนะนำให้ซื้อแล้ว เพราะมองคุณภาพสินทรัพย์ไม่ได้ดีนักเมื่อเทียบกับกลุ่ม โดยยังเห็นการไหลตกชั้นเป็น NPL ที่สูงขึ้น จากลูกหนี้สินเชื่อ Stage 2 กับ Valuation ที่สูง โดย PBV สูงสุดในกลุ่มแบงก์ใหญ่
กล่าวโดยสรุปคือหุ้น SCB มีข้อดีเรื่องผลตอบแทนเงินปันผล แต่ราคาหุ้นแพงไปแล้ว และไม่มั่นใจเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ ประกอบกับการให้สัมภาษณ์ล่าสุดของคุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCBX ที่ไม่มีแนวทางจะซื้อหุ้นคืน โดยจะรักษาการจ่ายปันผลที่สูงในอัตราส่วนเงินปันผลต่อกำไรที่ 80%”
และหากไปเทียบแบงก์ใหญ่อย่าง BBL ถือว่าก็ยังน่าสนใจอยู่ ในแง่ PBV แค่ 0.6 เท่า น้อยมากเมื่อเทียบกับแบงก์ใหญ่ที่ขึ้นไปอยู่ระดับ 0.7-0.8 เท่ากันหมดแล้ว และฐานลูกค้าหลักเป็นกลุ่มลูกค้าองค์กรซึ่งไม่ได้มีความเสี่ยงสูงมาก
เพียงแต่ภายใต้ธีมของแบงก์ที่มีเงินทุนเหลืออยู่มาก และอยากจะจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นในอัตราที่สูง แต่เป้าหมายของ BBL ค่อนข้างชัดเจนที่จะไม่จ่ายปันผลสูง ดังนั้นช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นจะด้อยกว่ากลุ่ม
แต่อย่างไรก็ดี จากการให้สัมภาษณ์ของ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ที่อยากให้บริษัทจดทะเบียนหันมาพิจารณาการซื้อหุ้นคืน ซึ่ง ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ปัจจุบันก็เป็นกรรมการ BBL จึงมีลุ้นเซอร์ไพร์ส เพราะ BBL มี PBV แค่ 0.6 เท่า
ซึ่งทางทฤษฎีถ้าซื้อหุ้นคืนบน PBV ไม่ถึง 1 เท่า ถือว่าคุ้ม เพราะเงินที่ใช้ซื้อคืนหนุน PBV กลายเป็น 1 เท่าทันที ดังนั้นก็ต้องรอติดตาม ถ้า BBL มีมูฟเมนต์เรื่องจะจ่ายปันผลเพิ่ม หรือการซื้อหุ้นคืน จะเป็นตัว Unlock Value ให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นไปได้
“กรกช” กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับเป้าหมายทางการเงินปี 2568 ของธนาคารส่วนใหญ่อาจจะไม่น่าตื่นเต้นนัก จากกลยุทธ์การเติบโตของสินเชื่อเชิงอนุรักษ์นิยมมากขึ้น ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ลดลงเล็กน้อยจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปีนี้
และการควบคุมต้นทุนที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญที่ลดลงเพียงเล็กน้อย โดยคาดการณ์กำไรแบงก์ปี 2568 (ไม่รวม KBANK) จะอยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท ลดลง 2% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน
สุดท้ายการลงทุนหุ้นแบงก์ในเวลานี้ ถือเป็นอีกหนึ่งเซ็กเตอร์ที่ไม่เสี่ยงนักภายใต้สถานการณ์ที่ตลาดหุ้นค่อนข้างผันผวน และมีโอกาสได้รับเงินปันผล ซึ่งแต่ก่อนกลุ่มแบงก์จ่ายปันผลกันแค่ระดับ 3-4% แต่ปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นเกิน 5% ไปแล้ว ก็เป็นทางเลือกที่ดูน่าสนใจ
ประกอบกับเซ็กเตอร์แบงก์ก็เป็นกลุ่มที่มีรีพอร์ตในการวิเคราะห์ออกมาทุกเดือนว่า Performance เป็นอย่างไร ทำให้การลงทุนไปแล้วก็ยังพอกลับตัวได้ทัน และที่สำคัญเรื่องธรรมมาภิบาลค่อนข้างดีด้วย