จัดพอร์ตลงทุนให้อยู่รอดในยุคโลกป่วน

เปิดปี 2568 มาด้วยสถานการณ์มากมายน่าตื่นเตระหนกของทั่วโลก ที่ดูเหมือนว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างหนักและเดือดดาลกว่าทุกที เช่นกันกับโลกของเหล่านักลงทุนที่ต้องคอยเฝ้าจับตาอย่างระมัดระวัง เพื่อติดตามสถานการณ์และการจัดพอร์ตของตัวเองให้ทันท่วงที

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

เราเข้าสู่เดือนแห่งความรักกันมาได้ครึ่งเดือนแล้วนะครับ แต่ดูเหมือนโลกการลงทุนไม่ได้น่ารักกับเราสักเท่าไรเลย จริงไหมครับ

ประเด็นใหญ่ของโลกที่มองเห็นเป็นความเสี่ยงหลักของปีนี้ เห็นกันมาตั้งแต่ปลายปีก่อน ก็เริ่มออกฤทธิ์ออกเดชตามที่คาด นั่นก็คือการกลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ก็ไม่รอช้าดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามที่ได้หาเสียงไว้ โดยเฉพาะในเรื่องภาษีที่กลายเป็นสงครามการค้าที่เร่งเครื่องให้โลกร้อนระอุไปอีกขั้น

ปัจจุบันทรัมป์ได้มีการประกาศขึ้นภาษีจริงสำหรับแคนาดา เม็กซิโกและจีนตามที่ได้มีการประกาศไว้ตั้งแต่ช่วงที่มีการหาเสียงแล้วครับ แม้จะได้ดีเลย์ออกไปจนถึงช่วง 6 มีนาคม 2568 หลังจากที่มีการเจรจากับเม็กซิโกและแคนาดาไปแล้ว แต่ในส่วนของจีนนั้น ได้มีการบังคับใช้ไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยการปรับเพิ่มขึ้นภาษีอีก 10%

ผลกระทบหลัก ๆ จากมาตรการดังกล่าว จะมาในรูปของอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาระภาษีที่ผู้ผลิตจะต้องผลักดันราคาไปสู่ผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ทำให้ราคาสินค้าที่บริษัทต่างๆ ได้จำหน่ายจะบวกในส่วนของค่าใช้จ่ายด้านภาษีนำเข้าไปแล้ว ซึ่ง Revenue หรือรายได้ส่วนที่เพิ่มขึ้นมานี้ คาดว่าทรัมป์จะนำไปช่วยสนับสนุนนโยบายการปรับลดภาษีเงินได้ทั้งบุคคลและนิติบุคคลที่อาจจะมีการปรับลด Corporate Tax ลงเหลือ 15%

ทั้งนี้การที่ทรัมป์มีการปรับเพิ่มภาษีนำเข้านั้นเพื่อที่จะพยายามกระตุ้นให้บริษัทสร้างฐานการผลิตสินค้าภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นเพื่อที่จะสามารถสร้างรายได้และสร้างงานให้กับผู้คนในประเทศเพิ่มมากขึ้น

ADVERTISMENT

ขณะเดียวกัน Bloomberg รายงานถึงเม็ดเงินรายได้ที่จะลดน้อยลงในช่วง 10 ปีข้างหน้า จากการลดภาษีนิติบุคคลลงมาเหลือ 15% อาจจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ 4.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แผนการขึ้นภาษีของทรัมป์ หากดำเนินการเต็มรูปแบบ อาจสร้างรายได้ให้รัฐบาล 2.5 – 3 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกัน

ซึ่งถือว่ารายได้ที่สร้างมาจากการขึ้นภาษีอาจจะน้อยกว่า benefit ที่บริษัทต่าง ๆ ได้รับ ส่วนปัจจุบันยังไม่มีการประกาศภาษีนำเข้าจากประเทศไทย แต่ทั้งนี้ต้องรอดูต่อไปว่าการขึ้นภาษีของทรัมป์จะรุนแรงแค่ไหน และในส่วนของประเทศไทยจะได้รับผลกระทบไปด้วยหรือไม่อย่างไร

ADVERTISMENT

อีกหนึ่งประเด็นที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังท้าทายตลาดการเงินโลกคือการสร้างแรงกดดันในดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด โดยรมว.คลังสหรัฐฯ ได้มีการส่งสัญญาณเพื่อกดดันให้เฟดลดอัตราดอกเบี้ยลง

ในระยะกลางถึงยาวการขึ้นภาษีของทรัมป์จะต้องใช้เวลาที่บริษัทและผู้ประกอบการจะมีการปรับขึ้นราคาตามภาระภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่อาจปรับเพิ่มสูงขึ้น

แต่คาดว่าจะไม่รุนแรงเท่ากับช่วงปี 2020 – 2021 ที่มีการปรับลดดอกเบี้ย + การอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านมาตรการ QE เพราะส่วนนี้จะเป็นการจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นจากผู้ประกอบการ ขณะที่เงินที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจเวลานี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากมาตรการ QE เหมือนช่วงก่อนหน้า

แต่ทั้งนี้เฟดก็จะต้องคอยมอนิเตอร์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ เพราะการลดดอกเบี้ยรวดเร็วในปัจจุบันอาจส่งผลกระทบให้เงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้นอีก

แต่ส่วนของการกดดันให้เฟดลดดอกเบี้ยนั้น คาดว่าจะไม่มีผลกระทบมากนัก เพราะสุดท้ายการตัดสินใจด้านนโยบายต่างๆ ของเฟด จะต้องเป็นอิสระจากองค์กรอื่นๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

และปัจจุบันเฟด ยังมีแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยในระยะยาวอยู่แล้ว เพียงแค่อาจจะชะลอตัวลงจากช่วงก่อนเพื่อรอดู action ต่อๆ ไปของทรัมป์เพื่อปรับนโยบายให้เหมาะสม หากประเมินเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะนี้ถือว่ายังมีแนวโน้มในเชิงบวกมากกว่า โดยงบการเงินของบริษัทต่างๆ ยังค่อนข้างแข็งแกร่ง

โดยไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ที่ผ่านมา กว่า 36% ของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในดัชนี S&P 500 ได้มีการรายงานผลประกอบการจริง มีสัดส่วน 77% รายงานผลกำไรต่อหุ้น (EPS) สูงกว่าที่คาดการณ์ และ 63% ของบริษัทในดัชนี S&P 500 รายงานรายได้สูงกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งถือว่าส่วนใหญ่แล้วรายได้และกำไรของบริษัทยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่

ขณะที่ JP Morgan ระบุไว้ว่า Real GDP ของสหรัฐฯ ยังอยู่สูงกว่าคาดการณ์ ในแต่ละครั้งหากดูจากกราฟจะเห็นได้ว่าการเติบโตของ GDP นั้นอยู่เหนือการคาดการณ์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงธันวาคม 2565 แสดงให้เห็นว่าช่วงที่ผ่านมาการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์มองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไปในทางลบกว่าความเป็นจริงพอสมควรเลยครับ

อย่างไรก็ตามนักลงทุนคงไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เพราะความผันผวนในตลาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอในโลกปัจจุบัน และในช่วงที่เหลือของปีนี้เชื่อได้เลยว่าความผันผวนของตลาดหุ้นจะยิ่งเพิ่มขึ้นจากความกังวลที่อาจจะเกิดขึ้นจากประเด็นหลักดังต่อไปนี้

ข้อแรกที่เห็นกันมาและยังคงรุนแรงขึ้นไปอีกในช่วงเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายทรัมป์คือเรื่องของสงครามการค้า การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อแคนาดา เม็กซิโก และจีน เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ “สงครามการค้าในยุคทรัมป์ 2.0”

โดยล่าสุดมีสัญญาณว่า สหภาพยุโรป อาจเป็นเป้าหมายถัดไป รวมถึงประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างเวียดนามและไทย ก็มีความเสี่ยงต่อการถูกขึ้นภาษีในอนาคต และการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้านี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการค้าโลกและการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ยังเพิ่มแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินเฟดและจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดหุ้น

ประเด็นถัดมา คือ สงครามเทคโนโลยี ที่พลุลูกแรกถูกจุดขึ้นแล้ว จากความก้าวหน้าของ DeepSeek AI ที่แสดงให้เห็นถึง ศักยภาพของจีนในการพัฒนาเทคโนโลยีภายใต้ข้อจำกัด

แม้ว่าสหรัฐฯ จะสกัดกั้นด้วยมาตรการห้ามส่งออกชิปประสิทธิภาพสูง แต่จีนยังสามารถพัฒนานวัตกรรมได้สำเร็จ เรามองว่าการแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่าง จีน-สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น โดยอาจส่งผลกระทบต่อ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีทั่วโลก

และประเด็นสุดท้าย แต่เชื่อว่าจะไม่ท้ายสุด คือสงครามจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากความขัดแย้งที่มีอยู่ในปัจจุบัน ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และในตะวันออกกลางแล้ว จากคำอวยพรปีใหม่ของประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ซึ่งเน้นย้ำเป้าหมายการรวมชาติระหว่างจีนและไต้หวัน ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในภูมิภาคทะเลจีนใต้ ซึ่งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นนี้ก็อาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพของตลาดทุนทั่วโลก

ประเด็นเหล่านี้พร้อมที่จะเขย่าโลกการลงทุนให้สั่นไหวได้ตลอดเวลา แต่ท่ามกลางความผันผวนนี้เอง หากถามถึงโอกาสในการลงทุนผมก็ยังมองว่ามีอยู่แน่นอนครับ แต่คุณต้องเลือกมากขึ้นและกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตอยู่เสมอ

อย่างที่ได้เห็นกันตั้งแต่ต้นปีนี้จากการเปิดฉากแข่งขันด้าน AI ของจีนที่เปิดตัว Deepseek AI ต้นทุนต่ำมาเขย่าวงการ หุ้นเทคฯ ยักษ์ใหญ่ร่วงระนาว ดังนั้นผมมองว่าในปีนี้โฟกัสหลักแล้วน่าจะอยู่ที่กลุ่ม AI เป็นหลัก

เราจะได้เห็นการแข่งขันด้าน AI ดุเดือดมากยิ่งขึ้น หลายประเทศพยายามเป็นผู้นำในด้านการทำ product ที่จะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เมื่อจีนสามารถปั้น Deepseek ที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ GPT-4 ของ Open-AI หลายด้าน

อีกทั้งค่าใช้จ่ายในด้าน Training ตํ่ากว่า OpenAI หลายเท่ามาก จากที่บริษัทเคลมว่าการพัฒนามีค่าใช้จ่ายเพียง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ GPT-4 ใช้เงินพัฒนากว่า 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นที่เกี่ยวกับชิปเซมิคอนดักเตอร์ร่วงจากความกังวลว่าจริงๆ แล้วบริษัทเหล่านี้มีมูลค่าที่ Overvalue เกินไปแล้วหรือไม่

ซึ่งด้าน AI ของสหรัฐฯเองก็มีการประกาศเกี่ยวกับโปรเจค Stargate ที่มีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน AI ใหม่สำหรับ OpenAI ในสหรัฐอเมริกาในอีกสี่ปีข้างหน้า โดยจะเริ่มดำเนินการด้วยเงินทุน 1 แสนล้านดอลลาร์ทันที

โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยเสริมความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในด้าน AI อยู่ตลอด แต่ส่วนของจีนเองก็มีแผนพัฒนาเกี่ยวกับ AI ที่เขียนไว้ตั้งแต่ช่วงปี 2017 แต่เป็นแผนระยะยาวถึงปี 2030 ที่มีชื่อว่า “Next Generation Artificial Intelligence Development Plan” ที่สนับสนุนการพัฒนา AI และมีเป้าหมายที่ให้หลายอุตสาหกรรม adopt การใช้งานและดันเศรษฐกิจในปี 2030 ให้ถูกขับเคลื่อนด้วย AI มากขึ้น

อย่างไรก็ตามถือว่า เป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกในการใช้ AI มากยิ่งขึ้นในราคาที่ตํ่าลงในระยะยาวเปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ สามารถ Intergrate AI เข้าไปใน workflow ต่างที่จะช่วยเพิ่ม productivity ในบริษัทได้และจะมีธีมอีกหลากหลายที่จะ benefit จากการปรับตัวให้เข้ากับ AI ในอนาคตเพราะจะสามารถลด cost และเพิ่ม efficiency ของบริษัทได้

จากที่เห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมาหุ้นชิปค่อนข้างร้อนแรงอย่าง Nvidia, Qualcomm หรือ TSMC แต่แนวโน้มการขยายตัวของกลุ่มธีมนี้ยังสูงอยู่ ข้อมูลจาก Statista ระบุไว้ว่า การเติบโตของรายได้กลุ่ม Semiconductor จะอยู่ที่ราวๆ 8.7% จนถึงปี 2029

และยังมีการแข่งขันของโปรเจค Stargate ที่มีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน AI ใหม่ กับฝั่งของจีนเองที่จะเร่งการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรม Semiconductor ไปอีกมหาศาล เพราะ ธีมกลุ่มนี้ทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมอื่น ๆ เร่งตัวขึ้นตาม ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิตหรือสินค้าอื่นๆที่เพิ่ม efficiency ได้จากการใช้ AI

หรือลงทุนในประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งอย่างประเทศเวียดนามก็เป็นประเทศที่มีความน่าสนใจ หลัง GDP ปี 2567 เติบโต 7% สูงกว่าเป้าหมายรัฐบาล และปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 8%

สำหรับปีนี้คงจะเป็นปีที่ท้าทายในการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า แต่ประเทศเวียดนามจะยังคงเป็นประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่แข็งแกร่งอยู่ครับ

โอกาสในประเทศที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างจีนที่ผมมองว่า แม้จีนจะได้รับแรงกดดันจากสงครามการค้า แต่ประเทศก็ยังมีศักยภาพในการใช้นโยบายทั้งการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โอกาสการลงทุน จึงอยู่ในบริษัทที่มุ่งเน้นตลาดภายในประเทศและได้รับประโยชน์โดยตรงจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครับ

และสำหรับธีมการลงทุนที่นักลงทุนควรระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงไปก่อน ก็คือบริษัทที่พึ่งพาการส่งออกไปประเทศสหรัฐฯ โดยเฉพาะจากประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯสูง เพราะจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามการค้า

แน่นอนครับ ในความผันผวนมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง แต่ภายใต้ความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ผมยังคงแนะนำให้นักลงทุนทุกท่านตระหนักถึงการบริหารความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน​ โดยเฉพาะการใช้แนวทางการจัดพอร์ตแบบ Core & Satellite โดยพิจารณาความเสี่ยงที่แต่ละคนสามารถรับได้

ในส่วนของ Core Port ซึ่งเป็นส่วนหลักของพอร์ต ควรเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง เช่น ตราสารหนี้ และกองทุนหุ้นดัชนี ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ที่สัดส่วน 70-80% ของพอร์ต ขณะที่ Satellite Port ซึ่งเป็นส่วนที่สามารถสร้างโอกาสในการเติบโตสูงขึ้น อาจจัดสัดส่วน 20-30% โดยเน้นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นและมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

อย่างไรก็ตามนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูง ผมมองว่าความผันผวนที่เกิดขึ้นในระยะสั้น โดยเฉพาะจากการปรับฐานของบริษัทที่มีงบการเงิน การเติบโตของรายได้ และกำไรที่แข็งแกร่ง จะเป็นโอกาสที่ดีในการเพิ่มสัดส่วนของ Satellite Port ที่สูงกว่าปกติเพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตของพอร์ตในระยะยาว

และเมื่อภาวะตลาดกลับเป็นปกติ ก็ทำการปรับพอร์ตลดสัดส่วน Satellite Port กลับไปที่สัดส่วน Core & Satellite ตามปกติ ก็จะเป็นโอกาสในการสร้างพอร์ตให้เติบโตได้สูงขึ้นในช่วงที่เกิดความผันผวนในระยะสั้น

หัวใจของการลงทุนให้ประสบความสำเร็จคือเรื่องของการกระจายความเสี่ยงการลงทุน สร้างสมดุลให้กับพอร์ตนะครับ อย่าให้น้ำหนักของความเสี่ยงและผลตอบแทนหนักไปที่ข้างใดข้างหนึ่งมาก