
SME D Bank จัด 3 สินเชื่อพิเศษวงเงิน 30,000 ล้านบาท ยกระดับเอสเอ็มอีสู่ธุรกิจยุคใหม่ พร้อมตั้งเป้าปี’68 หนุนเข้าถึงแหล่งทุนได้กว่า 14,000 กิจการ กระตุ้นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 160,000 ล้านบาท
นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ SME D Bank เปิดเผยว่า ธนาคารพร้อมขานรับนโยบายรัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลัง ที่ต้องการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยในปี 2568 นี้ SME D Bank ยังคงยึดมั่นนโยบายหลักของการเป็นธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทยที่พร้อมจะสนับสนุน “ด้านการเงิน” ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อวงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาทต่อราย
ควบคู่กับ “ด้านการพัฒนา” โดยสิ่งที่เพิ่มเติม คือ ลงลึกในรายละเอียดของบริการทั้ง 2 ด้าน ที่ต้องการจะสนับสนุนเอสเอ็มอีให้ยกระดับปรับเปลี่ยนธุรกิจ มีศักยภาพเพิ่มขึ้น พร้อมก้าวสู่ธุรกิจยุคใหม่ ที่สอดคล้องแนวโน้มเทรนด์ธุรกิจของโลกในปัจจุบันและอนาคต ดังนั้น ผลิตภัณฑ์สินเชื่อหรือบริการพัฒนาจะมุ่งตอบโจทย์ให้ธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึง มุ่งสนับสนุนธุรกิจในกลุ่มเป้าหมายของประเทศ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจเกษตรแปรรูป ธุรกิจยานยนต์ และยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ เป็นต้น
3 โครงการสินเชื่อพิเศษ
ทั้งนี้ เพื่อจะสนับสนุนให้เอสเอ็มอี สามารถปรับตัวเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างราบรื่น ธนาคารจัดเตรียมบริการด้านเงินทุนและด้านการพัฒนาไว้พร้อมแล้ว สำหรับด้านการเงิน ผ่านโครงการสินเชื่อตามนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึง สอดคล้องกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยมีจุดเด่นอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพียง 3%ต่อปี คงที่ตลอด 3 ปีแรก ผ่อนชำระนานสูงสุด 10 ปี ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 เดือน ได้แก่
1.สินเชื่อ “SME Green Productivity” สำหรับสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการติดตั้งระบบอุปกรณ์ ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต เครื่องจักร อุปกรณ์ เพื่อใช้พลังงานสะอาด และมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เช่น ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ในอุตสาหกรรมผลิตหรือบริการสีเขียว โรงงาน ร้านอาหาร โรงแรม เพื่อช่วยลดต้นทุนพลังงานในระยะยาว หรือมีกระบวนการผลิตหรือเทคโนโลยีเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท
2.สินเชื่อ “ปลุกพลัง SME” สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายเล็กที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 2 ล้านบาท นำไปใช้ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ รวมถึง หมุนเวียน และเสริมสภาพคล่องในธุรกิจ เช่น ร้านโชห่วย/ขายปลีก ร้านอาหาร ธุรกิจดิจิทัล/อิเล็กทรอนิกส์ ร้านขายยา และแฟรนไชส์รายย่อย เป็นต้น วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 1.5 ล้านบาท และ
3.สินเชื่อ “Beyond ติดปีก SME” สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไป นำไปเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ ปรับเปลี่ยนทรัพย์สินหรือเครื่องจักร เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ เช่น เกษตรแปรรูป อาหารเพื่อสุขภาพ โรงแรมที่พัก/ร้านอาหารขนาดใหญ่ ธุรกิจนำเข้าติดตั้งเครื่องจักร ธุรกิจบริการดิจิทัล/อิเล็กทรอนิกส์ แฟรนไชส์ เป็นต้น วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาท
ส่วนด้านการพัฒนา พร้อมให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม DX by SME D Bank (dx.smebank.co.th) ซึ่งธนาคารเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2567 ที่ผ่านมา และมีการพัฒนามาต่อเนื่อง สามารถตอบโจทย์ยกระดับธุรกิจครบวงจร โดยปีนี้ (2568) จะต่อยอดการพัฒนาในหลักสูตรเชิงลึก ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรมากกว่า 50 แห่งที่เข้ามาเชื่อมโยงการสนับสนุน ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการได้สะดวกสบาย ตลอด 24 ชม. มีฟีเจอร์สำคัญ ๆ เช่น Business Health Check ระบบตรวจประเมินสุขภาพธุรกิจ , E-Learning รวบรวมหลักสูตรความรู้สำคัญ ช่วยเพิ่มศักยภาพการประกอบธุรกิจ , SME D Coach ที่ปรึกษาและให้คำแนะนำธุรกิจจากโค้ชมืออาชีพ และ Privilege สิทธิประโยชน์เพื่อยกระดับธุรกิจ เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีโครงการและกิจกรรมการพัฒนาที่ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชนต่อเนื่องตลอดทั้งปี มุ่งเติมความรู้เชิงลึก และให้คำปรึกษา มอบเครื่องมือ เพื่อผลักดันให้สามารถยกระดับสู่อุตสาหกรรมสีเขียวอย่างแท้จริง รวมถึง เพิ่มรายได้ และขยายตลาด
“การสนับสนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนที่มีสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ และการพัฒนา จะมีส่วนสำคัญผลักดันให้เอสเอ็มอียกระดับเพิ่มศักยภาพ สร้างการเติบโตทางธุรกิจ เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ในทุกพื้นที่ ตั้งเป้าปีนี้ (2568) สนับสนุนเข้าถึงแหล่งทุนและยกระดับธุรกิจได้กว่า 14,000 กิจการ รักษาการจ้างงานได้ประมาณ 198,000 คน และสร้างเงินลงทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 160,000 ล้านบาท” นายพิชิต กล่าว