ตลท. ชงคลังขอ 2 สิทธิประโยชน์ภาษี ดึงบจ.เข้า Jump+ คาดเริ่ม พ.ค.นี้

SET ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จ่อชงคลังขอ “ยกเว้นภาษีกำไรส่วนเพิ่ม” บจ. เข้าโครงการ Jump+ คาดเสนอภายใน 2 สัปดาห์นี้ หวังดึงดูดบริษัทจดทะเบียน เชื่อเป็นผลดีกับประเทศระยะยาว ยันไม่กระทบฐานะการคลัง ตั้งเป้าเฟสแรก 50 บริษัท เริ่มโครงการ พ.ค.68

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการเข้าหารือกับกระทรวงการคลังในหลายประเด็น เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้มีความผันผวนสูง

ประเด็นที่จะได้เข้าหารือ ได้แก่ การขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีในโครงการ Jump+ (จัมป์ พลัส) ซึ่งจะเป็นการยกเว้นกำไรภาษีส่วนเพิ่ม ให้กับบริษัทที่เสนอแผนในการเพิ่มมูลค่าแล้วสามารถดำเนินการสร้างการเติบโตได้ตามเป้าหมายตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการได้ โดยอยากขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาการยกเว้นภาษีในส่วนที่เป็นกำไรส่วนเพิ่ม ซึ่งในเดือน พ.ค.นี้ จะเริ่มดำเนินการเปิดโครงการ jump+ และคัดเลือกบริษัทเข้าร่วมโครงการ 50 บริษัทในปีนี้

“ยกตัวอย่าง ธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จากปกติมีกำไรอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท เมื่อเข้าร่วมโครงการมีการทำแผนขึ้นมา 3 ปี และสามารถมีรายได้จากกำไรปกติเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านบาท อยากจะขอเว้นในส่วน 100 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งเท่าที่หารือกับรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในเบื้องต้น หากไม่กระทบกับสถานะทางการคลังลดลง กระทรวงการคลังก็พร้อมที่จะพิจารณาสนับสนุน”

สำหรับโครงการ Jump+ เป็นมาตรการกระตุ้นตลาดระยะกลางที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ นำเสนอตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา เพื่อจูงใจให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าให้แก่บริษัทของตนเอง โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสนับสนุนการสื่อสารแก่นักลงทุนในอนาคต เพื่อช่วยเหลือในการวิเคราะห์ธุรกิจที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม

ขณะที่บริษัทที่มีการวางแผนการเติบโตอยู่แล้ว ก็สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ ซึ่ง ตลท.พร้อมสนับสนุนด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านเทคโนโลยี AI ค่าที่ปรึกษาหรือ FA ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รวมทั้งการ Roadshow ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตามหากบริษัทไม่สามารถดำเนินงานได้ตามแผนอาจมีการระงับ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะได้จากการเข้าร่วมโครงการ

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ยังมีการหารือในประเด็นการควบรวมกิจการ หรือ M&A เพื่อให้ บจ.มีความมั่นคงมากขึ้น สามารถแข่งขันได้กับทั่วโลก ทั้งในเชิงธุรกิจพื้นฐานและการเงิน และหาก M&A เกิดมากขึ้นก็จะขอให้ใช้แนวทางที่จะยกเว้นภาษีย้อนหลัง กรณีที่บริษัทที่เข้าร่วมโครงการเข้าไปร่วมลงทุนหรือซื้อกิจการกับบริษัทนอกตลาด เนื่องจากรัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีกับบริษัทที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้ถูกเก็บภาษี จากกรณีใดก็ตามได้

ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวจะไม่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากเงินภาษีเนื่องจากรายได้ภาษีเดิมยังเก็บได้ปกติและรัฐจะได้บริษัทใหม่ ๆ เข้ามาในระบบภาษีมากขึ้น นอกจากนี้หลังจบโครงการแล้วบริษัทที่มีการเติบโตของกำไรที่มากขึ้นจะทำให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้นด้วย

ADVERTISMENT

“หากสามารถทำได้มองว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศในระยะยาว หาก บจ. เข้าโครงการ Jump+ และมีกำไรที่โตขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ บจ. ที่จะได้ประโยชน์ เพราะหลังพ้น 3 ปีแล้ว ตัวเลขกำไรจะโตมากยิ่งขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจะได้ภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ไม่ได้”

นอกจากนี้ยังมีการหารือถึงประเด็นการถ่ายโอนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ไปยังกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) เพื่อกระตุ้นตลาดทุน โดยมองว่าจะต้องมีการใช้กลไกใดจึงจะมีประสิทธิผลมากที่สุด โดยมองทั้งมุมของการสนับสนุน ESG และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดทุน ซึ่งขณะนี้ยังมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามสิทธิจูงใจ และสิทธิประโยชน์ทางภาษี ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากเป็นประเด็นที่ต้องคำนึงถึงและวางแผนด้านนี้อยู่ โดยหลังจากนี้คาดว่ากระทรวงการคลังจะเป็นผู้ชี้แจง ทั้งนี้จะนำประเด็นต่าง ๆ หารือทางกระทรวงการคลังภายใน 2 สัปดาห์นี้ ทั้งในประเด็น LTF และโครงการอื่น ๆ อย่าง Jump+ ด้วย

สำหรับแผนในระยะสั้นที่จะกระตุ้นตลาดทุน นอกจากการหารือเรื่องถ่ายโอนกองทุน LTF ไปยังกองทุน Thai ESG แล้ว โครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อการบริหารทางการเงิน (Treasury Stock) ยังเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยให้มูลค่าของกิจการสะท้อนได้อย่างเหมาะสม

โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อปรับเปลี่ยนเกณฑ์ระยะเวลาการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียนให้สะดวก และคล่องตัวขึ้น เดิมเมื่อซื้อหุ้นคืนกลับมาแล้ว ต้องจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนออกไปภายในเวลาที่กำหนด หากช่วงเวลาที่ต้องจำหน่าย สภาวะตลาดไม่ดี อาจเป็นการซ้ำเติมตลาด

นอกจากนี้ยังมีแผนอยู่ระหว่างดำเนินการเรื่อง Co-location (แผนความเท่าเทียม) ซึ่งจะเริ่มไตรมาส 2/2568 ปรับให้เป็นบริการพื้นฐานเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้ลงทุนทุกกลุ่ม เป็นบริการพื้นฐานที่บริษัทหลักทรัพย์สามารถใช้บริการฟรี มีค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ซึ่งผู้ลงทุนที่เป็นลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์เหล่านี้สามารถได้ประโยชน์จากบริการนี้ คาดว่าหลังไตรมาส 2 ของปีนี้น่าจะมีบริษัทหลักทรัพย์ใช้บริการมากกว่าครึ่งหนึ่ง

ด้านแผนในระยะยาว จะทำการสนับสนุนให้ไทยเป็น Listing hub แหล่งระดมทุนของบริษัทในภูมิภาคและทั่วโลก เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย สร้างความง่ายในการประกอบธุรกิจ (ease of doing business)

สำหรับความคืบหน้า การหารือกับสำนักงาน ก.ล.ต. และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. เพื่อเปิดเผยข้อมูล บจ. หลังมีกรณีจำนำหุ้นบ่อยครั้งขึ้น ซึ่งทั้ง ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ยอมรับว่าเป็นเรื่องสำคัญ หากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วนักลงทุนควรจะต้องรับทราบ ซึ่ง ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างการหารือด้านกฎหมาย โดยจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้

“บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่อยากทำมากขึ้นคือ การสื่อสารและเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนและรวดเร็ว ให้นักลงทุนไปเป็นข้อมูลประกอบการลงทุน และเชื่อว่าระยะยาวจะสามารถฟื้นตลาดหุ้นให้กลับมามั่นคงแข็งแรงได้ต่อไป”