
บล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะ “ขาย” หุ้น DELTA ชี้การเติบโตของกำไรลดลง เผชิญภาวะแข่งขันในอุตสาหกรรม AI ที่รุนแรงขึ้น ทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทถูก De-rate valuation ปรับลดราคาเป้าหมายเป็น 72 บาท ประชุมเช้านี้ “โทนลบ” บริษัทปรับลดเป้าการเติบโตของ AI และ EV ลง และยังมีความเสี่ยงจากคดีที่ถูกคู่แข่งในสหรัฐฟ้องร้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (DELTA) เปิดตลาดหุ้นไทยภาคเช้าวันนี้ (17 ก.พ. 2568) ดิ่งติดฟลอร์ที่ราคา 79.25 บาท ติดลบ 33.75 บาท หรือ -29.8% เทียบจากราคาวันก่อนหน้าที่ 113 บาท โดยสาเหตุสำคัญคือถูกกดดันจากกำไรไตรมาส 4/2567 ที่ประกาศออกมาต่ำกว่าคาด
บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 14 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา DELTA ประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 4/2567 เหลือเพียง 2.15 พันล้านบาท ลดลง 64% จากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) และลดลง 54% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ต่ำกว่าที่เราและตลาดคาดถึง 60% (เราคาดไว้ 5.4 พันล้านบาท) โดยมีรายการพิเศษจำนวนมาก ตามที่ DELTA ชี้แจงรวม 3 พันล้านบาท ได้แก่
- FX loss ในต้นทุนขาย 13.3 ล้านเหรียญ (หรือ 452 ล้านบาท)
- FX loss จากการ hedging และการเปลี่ยนแปลงใน balance sheet 329 ล้านบาท
- รายได้ชดเชยจากการผิดสัญญาของลูกค้า 436 ล้านบาท
- การให้ Rebate (การส่งเสริมการขาย) กับลูกค้า data center ราว 6.8 ล้านเหรียญ (231 ล้านบาท)
- การตั้งสำรอง (Warranty provision) เพราะเกิด defect ในงาน Magnetics solution ราว 16.2 ล้านเหรียญ (551 ล้านบาท)
- การกลับรายการตั้งสำรองสินค้าคงเหลือ 290 ล้านบาท
- ค่าที่ปรึกษาทางกฎหมาย 1,008 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่าย R&D ที่สูงกว่าไตรมาสอื่น จาก project ของฝั่งเยอรมนี
- มีการปรับเพิ่มอัตราการจ่ายค่า Technical service fees (ให้กับ Delta Taiwan) สำหรับสินค้า Non-AI และมีการเก็บย้อนหลัง 26 ล้านเหรียญ (884 ล้านบาท)
- ถูกอินเดียเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม 400 ล้านรูปี (156 ล้านบาท)
- ค่าใช้จ่ายชดเชยให้กับคู่ค้าตามที่มีข้อพิพาทกันตั้งแต่ในอดีต แต่มารับรู้เป็นค่าใช้จ่ายในไตรมาสนี้ 141 ล้านบาท
หากบวกกับตามที่ DELTA ให้ข้อมูลทั้งหมดจะได้กำไรปกติราว 5.2 พันล้านบาท แต่บางรายการ เราไม่ได้มองเป็น One time เช่น การส่งเสริมการขายที่ให้กับลูกค้า, ค่า R&D, ค่าที่ปรึกษาทางกฎหมาย และการตั้งสำรองหรือกลับรายการตั้งสำรองสินค้าคงเหลือที่ DELTA รับรู้เป็นค่าใช้จ่ายสม่ำเสมออยู่แล้ว ดังนั้นจะถือเป็นกำไรที่ไม่สดใสนัก
รายได้รวมทั้งสกุลดอลลาร์และบาท ปรับลด QOQ ตามฤดูกาล และมาจากรายได้ EV ที่ลดลง แม้ AI จะโตได้ แต่ไม่สามารถหักล้างกลุ่มอื่นที่ลดลงได้ทั้งหมด เบื้องต้นคาดสัดส่วนรายได้ AI อาจขยับมาแตะ 10% ได้ในแง่ YOY เติบโตได้ทุกกลุ่ม ยกเว้น EV ที่ขายใน สหรัฐและเอเชีย ปรับลง -3% QOQ, -27% YOY
อัตรากำไรขั้นต้นที่รายงานเหลือ 22.5% แต่หากบวกกับรายการพิเศษจะมีอัตรากำไรขั้นต้นแท้จริงที่ 24.9% ลดจาก 27.6% ในไตรมาส 3/2567 จากรายได้ที่ลดลง โดยกลุ่ม EV มีอัตรากำไรขั้นต้นลดลงมากสุดเหลือ 11.7% ต่ำสุดรอบ 7 ไตรมาส และกลุ่ม Fan ลดลงมากเช่นกัน
ค่าใช้จ่ายเร่งตัวขึ้นต่อ ทั้ง R&D และมี Technical service fees สูงถึง 3.47 พันล้านบาท (8.3% ของรายได้รวม) หากไม่รวมค่า fees ที่ถูกเก็บย้อนหลัง 884 ล้านบาท พบว่าค่า fees ที่จ่ายให้ Delta Taiwan ในไตรมาส 4/2567 อยู่ที่ 2.59 พันล้านบาท คิดเป็น 6.2% ของรายได้รวม ทำให้ SG&A to sales สูงขึ้นเป็น 14.8% สูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส
โดยจบปี 2567 มีกำไรสุทธิ 1.89 หมื่นล้านบาท (+2.8% YOY) ส่วนกำไรปกติอยู่ที่ 2.01 หมื่นล้านบาท (+17% YOY)
แม้ AI จะยังมีแนวโน้มที่ดี แต่สัญญาณการชะลอตัวของกลุ่ม EV ดูน่าเป็นห่วงกว่าที่เคยคาด ขณะที่ค่า fees ที่ต้องจ่ายให้กับ Delta Taiwan เร่งขึ้นมากกว่าการเติบโตของรายได้ ทำให้สัดส่วนค่า fees ต่อรายได้รวมปี 2567 สูงขึ้นเป็น 6.2% จาก 3.8% ในปี 2566 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก หลังถูกปรับอัตราจ่ายเพิ่มขึ้นใน 4/2567 โดยบริษัทให้วิวว่าถูกขยับขึ้นเป็น 10% ของรายได้ที่มาจาก Taiwan ประกอบกับจะเริ่มเผชิญอัตราภาษี GMT ที่สูงขึ้นเป็น 15% ตั้งแต่ไตรมาส 1/2568 จาก 2.4% ในปี 2567
“เราปรับลดกำไรสุทธิปี 2568-2570 ลง 19-30% เป็นการเติบโต 3.6%, 14.1%, 13.8% และปรับลด PE ลงเป็น 45 เท่า เท่ากับค่าเฉลี่ย 5 ปี เพื่อสะท้อนการเติบโตของกำไรที่ลดลงกลับสู่ระดับปกติปีละ 10-15% และภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรม AI ที่รุนแรงขึ้น ทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ AI ถูก De-rate valuation จึงปรับลดราคาเป้าหมายเป็น 72 บาท (คิดเป็น PBV 1 เท่า) ขณะที่ประกาศจ่ายปันผลงวดปี 2567 หุ้นละ 0.46 บาท คิดเป็นผลตอบแทนเงินปันผลเพียง 0.4% แนะนำ “ขาย”
สำหรับการประชุม DELTA ในช่วงเช้าวันนี้ “โทนลบ” บริษัทปรับลดเป้าการเติบโตของ AI และ EV ลง ขณะที่ยังมีความเสี่ยงจากคดีที่ถูกคู่แข่งในสหรัฐฟ้องร้องเรื่องละเมิด patent
โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2568 โต 10-15% YOY มาจาก AI ที่ 50-60% ปรับลงจาก 100% (สัดส่วนจะเพิ่มจาก 10-15% ของรายได้รวม), data center ที่ 10-15% YOY ส่วน EV ปรับลดเป้าเหลือโต 5-8% YOY (สัดส่วนจะทรงตัวที่ 25% ของรายได้รวม) และตั้งเป้าอัตรากำไรขั้นต้นรวมทรงตัว YOY ที่ 25% และจะพยายามไม่ให้ SG&A to sales เกิน 13%
สำหรับ Delta Taiwan ปรับเพิ่มค่า fees เป็น 10% สำหรับสินค้า Non-AI มากกว่า 10% สำหรับกลุ่ม AI โดยบริษัทให้ข้อมูลว่าสัดส่วนรายได้ที่มาจาก Taiwan และต้องจ่ายค่า fees ไม่น้อยกว่า 40% ของรายได้รวม
ส่วนค่าใช้จ่าย legal fee ที่ 1 พันล้านบาท ในปี 2567 มาจากคดีฟ้องร้องที่สหรัฐราว 800 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าที่ปรึกษาทางกฎหมายทั้งหมด โดยเป็นคดีที่คู่แข่งในสหรัฐชื่อ Vicor Corporation ฟ้อง DELTA ว่าละเมิด patent ในเทคโนโลยีของเขา (เกี่ยวข้องกับสินค้า DC-DC Power System) ทั้งนี้เทคโนโลยีดังกล่าวที่ DELTA ใช้เป็นของ Delta Taiwan แต่ DELTA เป็นคนขายสินค้า เลยเป็นคนที่โดนฟ้อง
โดย US ITC ตัดสินเบื้องต้นว่า DELTA ผิด และให้หยุดการขายในสินค้าดังกล่าวกับลูกค้าทั้ง 2 ราย คือ Foxconn และ Quantum ทั้งนี้ DELTA ได้ทำการ Redesign กับลูกค้าแล้วอาจกระทบยอดขายจำกัด (บริษัทไม่เปิดเผยว่ามีสัดส่วนรายได้เท่าไร)
แต่ความเสี่ยงที่ยังอยู่คือ คดียังไม่จบ DELTA อยู่ระหว่างอุทธรณ์ นั่นหมายถึงน่าจะยังเผชิญกับ legal fee ต่อเนื่อง อย่างน้อยไปอีก 1-2 ไตรมาส และกรณีทำถูกตัดสินว่าแพ้ ยังไม่ทราบว่าจะถูกปรับหรือไม่ และเท่าไหร่ ต้องติดตามต่อไป