รู้จัก “บลูบิค” บริษัททำเพย์เมนต์ 90 ล้านบาท บนแอปกลางของรัฐ

บลูบิค

ทำความรู้จัก “บลูบิค” บริษัทที่ชนะการเสนอราคา 90 ล้านบาท ทำระบบเพย์เมนต์ให้กับ DGA ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มกลางของรัฐบาล รวมถึง “ทางรัฐ”

“ประชาชาติธุรกิจ” รายงานความคืบหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน 10,000 บาท หรือโครงการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเลต เฟส 3 ซึ่งเป็นการแจกเงินให้กลุ่มที่มีอายุ 16-59 ปี โดยแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การแจกเงินดิจิทัลวอลเลต เฟส 3 คาดว่าจะเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม 2568

เนื่องจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่าง ๆ จะต้องเชื่อมต่อระบบ Open Loop กับระบบเพย์เมนต์ที่ทาง DGA เป็นผู้รับผิดชอบ และต้องมีการทดสอบเพื่อให้มั่นใจระบบเติมเงินและชำระเงินทำให้อย่างมีเสถียรภาพ พร้อมใช้งานต่อเนื่อง และมีมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อปิดความเสี่ยง เพราะเป็นระบบที่เชื่อมต่อด้านการเงิน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากระบบเพย์เมนต์ที่พัฒนาขึ้นมาเป็นระบบใหม่ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและไม่ให้เกิดปัญหาระบบล่ม ในกรณีมีคนจำนวนมากเข้าไปใช้งาน

โดยการดำเนินมาตรการนี้ คาดว่าจะใช้งานระบบชำระเงินซึ่งพัฒนาบนแพลตฟอร์มกลาง หรือซูเปอร์แอปของรัฐ ที่มีแอป “ทางรัฐ” เป็นหน้าต่างกลาง

ก่อนหน้านี้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มกลางของรัฐบาล ได้ประกาศบริษัทที่ชนะการเสนอราคา ระบบแพลตฟอร์มการชำระเงิน หรือ Payment Platform คือ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ได้คะแนนด้านคุณภาพมากที่สุด โดยเสนอราคาวงเงิน 90 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ค่าขนส่ง ค่าจดทะเบียน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งหมด

ADVERTISMENT

ตัวแทนของบริษัทบลูบิคยืนยันว่า การพัฒนาระบบ Payment Platform จะเร่งดำเนินการได้ตามเวลาที่รัฐบาลกำหนด

ก่อนหน้านี้ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้รับงานเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม “ทางรัฐ” ซึ่งเป็นซูเปอร์แอปของภาครัฐ เพื่อรองรับการและอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน และยังมีบริษัท เด็พธเฟิร์สท จำกัด (Depth First) เป็นผู้พัฒนาการ “ลงทะเบียน” ข้อมูลประชาชนและร้านค้าบนแพลตฟอร์มทางรัฐ

ADVERTISMENT

สำหรับบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ประกอบธุรกิจที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ และการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งด้านธุรกิจและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการสร้างสรรค์และนำเสนอบริการ เพื่อให้คำแนะนำและความช่วยเหลือแก่ลูกค้าในการเตรียมความพร้อมทางธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล

ปัจจุบันแบ่งประเภทการให้บริการตามลักษณะการประกอบธุรกิจได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่ การให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการ การบริหารโครงการเชิงยุทธศาสตร์ การพัฒนาระบบดิจิทัลและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลชั้นสูงด้วยปัญญาประดิษฐ์ และการจัดหาและบริหารบุคลากรชั่วคราว ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

ผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2567 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2567 รายได้อยู่ที่ 1,097.53 ล้านบาท กําไรสุทธิ 205.49 ล้านบาท