
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังยอดค้าปลีกลดลง 0.9% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่คาดว่าลดลงเพียง 0.1% ทำให้นักลงทุนเพิ่มความคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/2) ที่ระดับ 33.75/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/02) ที่ระดับ 33.61/63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
แม้ว่าดัชนีดอลลาร์ที่ปรับตัวอ่อนค่าที่ระดับ 106.78 หลังจากข้อมูลบ่งชี้ว่า ยอดค้าปลีกลดลง 0.9% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่คาดว่าลดลงเพียง 0.1% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือน ธ.ค. และเมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 4.2% ในเดือน ม.ค หลังจากเพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือน ธ.ค.
นอกจากนี้ หากไม่รวมยอดขายรถยนต์และน้ำมัน ยอดค้าปลีกลดลง 0.5% ในเดือน ม.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือน ธ.ค. ทำให้นักลงทุนเพิ่มความคาดหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้
อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าหลังจากราคาทองคำปรับตัวลงต่อเนื่องจากแรงขายทำกำไร อีกทั้งแนวโน้มการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน และพัฒนาการของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ดีขึ้น ก็มีส่วนเพิ่มแรงกดดันต่อรองราคาทองคำและส่งผลให้มีแรงซื้อดอลลาร์กลับมาในตลาด
นอกจากนี้ การชะลอมาตรการภาษีตอบโต้ที่วางแผนโดย ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เกิดความหวังว่ามาตรการเหล่านั้นอาจจะไม่รุนแรงตามที่กังวล
ด้านลอรี โลแกน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัสกล่าวว่า แม้ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ใกล้เคียงกับเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่เฟดก็ยังไม่ควรลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นลง พร้อมระบุว่ายังไม่ชัดเจนว่าเงินเฟ้อจะลดลงในระยะสั้นหรือไม่ โดยสังเกตเห็นจากรูปแบบในช่วงไม่กี่ปีมานี้ที่เงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วงต้นปี ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทมักจะเพิ่มราคาสินค้า อย่างไรก็ตามตลาดเงินและตลาดหุ้นสหรัฐจะปิดทำการในวันนี้ เนื่องในวันประธานาธิบดี
ด้านปัจจัยภายในประเทศ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาส 4/67 ขยายตัว 3.2% จากตลาดคาดโต 3.7-4.0% แต่เร่งขึ้นจากการขยายตัว 3.0% ในไตรมาส 3/67 ปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิตภาคเกษตรและภาคนอกเกษตร การลงทุน และการส่งออกสินค้าและบริการ รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ขณะที่การอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาลชะลอลง และการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 ทั้งเรื่องเครื่องมือเครื่องจักร และหมวดก่อสร้าง
โดยสาขาการผลิตเกษตรกรรมกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส สาขาที่พักและบริการด้านอาหาร สาขาการขายส่งและขายปลีก และสาขาก่อสร้างขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาก่อน สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า แม้ตัวเลขดังกล่าวจะปรับตัวขึ้น แต่ตัวเลขเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 4/67 ไม่สูงอย่างที่หลายฝ่ายคาด เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนที่มีมาร์เก็ตแชร์มากยังหดตัว แม้การลงทุนภาครัฐจะขยายตัวแรงก็ตาม อาทิ ภาคยานยนต์ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังหดตัวต่อเนื่อง จากความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ จากการมุ่งแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.67-33.76
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/2) ที่ระดับ 1.0492/93 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/2) ที่ระดับ 1.0476/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยความหวังเกี่ยวกับข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน ช่วยหนุนให้ยูโรแข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ดี ระหว่างวันค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลง โดยนักลงทุนยังคงติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างใกล้ชิดหลังความสัมพันธ์สหรัฐ-ยุโรปถูกจับตา เมื่อสหรัฐเตรียมนั่งโต๊ะเจรจากับรัสเซียเพื่อยุติสงครามในยูเครน แต่ไม่เชิญทั้งยูเครนและพันธมิตรยุโรปเข้าร่วมด้วย
ด้านนายมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (16/2) ว่า ยูเครนและยุโรปจะมีบทบาทในการเจรจาสันติภาพ “ที่แท้จริง” เพื่อยุติสงครามที่รัสเซียเป็นผู้ก่อ โดยชี้ว่า การหารือระหว่างสหรัฐกับรัสเซียในสัปดาห์นี้เป็นโอกาสที่จะประเมินว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย จริงจังเพียงใดในการแสวงหาสันติภาพ รูบิโอพยายามบรรเทาความกังวลของชาติยุโรปที่เกรงว่าจะถูกกีดกันออกจากการหารือรอบแรกระหว่างรัสเซียกับสหรัฐ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นที่ซาอุดีอาระเบียในเร็ว ๆ นี้
ในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CBS รูบิโอชี้แจงว่า กระบวนการเจรจายังไม่ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และเมื่อการเจรจามีความคืบหน้า ทั้งฝ่ายยูเครนและยุโรปจะได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย และกดดันดอลลาร์เพิ่มเติม ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวกรอบระหว่าง 1.0469-1.0505 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0477/78 ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/2) ที่ระดับ 151.87/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/2) ที่ระดับ 152.54/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ รับการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังญี่ปุ่นเผย GDP ไตรมาส 4/67 ขยายตัว 2.8% เทียบรายได้ สูงกว่าคาดการณ์
ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลขประมาณการเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2567 โดยระบุว่า ตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ของญี่ปุ่น ขยายตัว 2.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาส และแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพียง 1%
ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงขยายตัวได้ดี แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.5% ซึ่งเป็นระยะสูงสุดในรอบ 17 ปี ในการประชุมเมื่อวันที่ 24 ม.ค. และส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินต่อไป ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 151.45-152.40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 151.75/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือน ก.พ. ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและยอดขายบ้านมือสองเดือน ม.ค. รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 28-29 ม.ค.
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ของประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย และธนาคารกลางอินโดนีเซีย ดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือน ก.พ. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษด้วย
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -5.7/-5.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5/-4.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ