ปฏิบัติการฟื้นเชื่อมั่นตลาดหุ้น ระดมแผน ‘เบรกแรงขาย’ ถกคลังขอมาตรการภาษี

พิชัย ชุณหวชิร-อัสสเดช คงสิริ
พิชัย ชุณหวชิร-อัสสเดช คงสิริ

ตลาดหลักทรัพย์ฯผนึกกระทรวงการคลังปฏิบัติการฟื้นเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทย เร่งระดมแผนกู้วิกฤต งัดมาตรการระยะสั้น “หยุดแรงขาย” กองทุน LTF โยกเข้ากองทุน TESG เพิ่มสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี พร้อมปลดล็อกเงื่อนไข “ซื้อหุ้นคืน” แผนระยะกลางเปิดโครงการ Jump+ นัดถกคลังขอยกเว้นภาษีกำไรส่วนเพิ่ม ลดต้นทุนให้กับ บจ.ที่มีศักยภาพทำกำไร เฟสแรก 50 บริษัท ทั้งผ่อนเกณฑ์ภาษีลดอุปสรรค “ควบรวมกิจการ” บริษัทนอกตลาด รมว.คลังเร่งเคาะสิทธิประโยชน์ภาษีกองทุนใหม่ นักวิเคราะห์ชี้หุ้นไทยถูก P/E แค่ 13.1 เท่า จับตาเดือน ก.พ.ต่างชาติซุ่มซื้อหุ้นไทยสุทธิ ลุ้นกำไรบริษัทจดทะเบียนช่วยพยุง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นไทยเจอแรงเทขายอย่างต่อเนื่องและรุนแรง และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายว่าตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตความเชื่อมั่นที่มีปัญหาสะสมมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลนักลงทุนรายย่อยทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าไม่เชื่อมั่นหุ้นไทย ขณะที่นักลงทุนต่างชาติก็ยังคงขายต่อเนื่องจนตัวเลขสุทธิเกือบ 5 แสนล้านบาท ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา

สำหรับในปี 2568 ดัชนีตลาดหุ้นยังคงลดลงต่อเนื่อง จากสิ้นปี ธ.ค. 67 ดัชนีปิดที่ 1,400.21 จุด และล่าสุด (17 ก.พ. 68) ดัชนีปิดที่ระดับ 1,256.48 จุด โดยหุ้นไทยเผชิญแรงขายออกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2568 จากปัจจัยกระทบรอบด้าน ทั้งปัจจัยต่างประเทศจากความกังวลสงครามการค้ายุคทรัมป์ 2.0 ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วภูมิภาค

ขณะเดียวกันหุ้นไทยยังเผชิญแรงขายออกของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ครบกำหนด รวมถึงปัญหาจากหุ้นรายตัว อย่าง DELTA, AOT, CPALL ซึ่งเป็นหุ้นขนาดใหญ่ จึงฉุดตลาดหุ้นไทยให้ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง

หุ้นไทยผลตอบแทนต่ำสุด

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) นับจากต้นปี 2568 จนถึงวันที่ 17 ก.พ. ปรับตัวลดลง 9% ถือว่าเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนต่ำสุดในภูมิภาค หลัก ๆ ถูกกดดันจาก 3 สาเหตุ คือ

1.ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทยไตรมาส 4/2567 ที่ทยอยรายงานออกมา ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าหุ้นใหญ่หลายตัวมีกำไรสุทธิออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ โดยเฉพาะ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) 2.ความกังวลแรงขายกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ครบกำหนดไถ่ถอนสูงกว่าในปี 2567 เกือบ 2 เท่า และ 3.ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ไตรมาส 4/2567 ที่ประกาศออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ADVERTISMENT

ภาพระยะสั้นตลาดหุ้นไทยยังคงฟื้นตัวได้ยาก เพราะเป็นตลาดที่ขาดสภาพคล่อง และอัตราการเติบโตของสินเชื่อ (Loan Growth) ก็ไม่ได้สนับสนุน โดยคาดการณ์ปีนี้ Loan Growth ของธนาคารจะเติบโตเพียง 0.6-0.7% ซึ่งต่ำกว่าการเติบโต GDP ถือเป็นการโตต่ำสุดในรอบหลาย 10 ปี ประกอบกับยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นที่จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นให้ตลาดทุนไทยกลับมาได้ชัดเจน

ลุ้นกำไรบริษัทจดทะเบียน

นายสรพลกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ ต้องเรียกความเชื่อมั่นผ่านการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน และการเติบโต GDP ของประเทศไทยให้กลับมาให้ได้ก่อน โดยปีนี้คาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดจะอยู่ที่ 95 บาท/หุ้น และ GDP ไทยจะเติบโต 2.4%

ADVERTISMENT

“ตลาดหุ้นไทยเวลานี้ขาดตัวเร่ง (Catalyst) โดยคงต้องติดตามโครงการ Jump+ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งแผนการถ่ายโอนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ไปยังกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) ว่าจะกระตุ้นตลาดทุนได้แค่ไหน รวมไปถึงโอกาสการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยว และความเสี่ยงที่สหรัฐจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ดัชนี SET ปรับตัวลงเล่นอยู่ในกรอบบริเวณ 1,233 จุด เป็นระดับที่มองว่า ถ้าเป็นคนที่เคยหนีออกจากตลาดหุ้นไทยไปแล้ว เป็นจังหวะในการกลับเข้าลงทุนใหม่ได้อีกครั้ง” นายสรพลกล่าว

ยกเว้นภาษีกำไรส่วนเพิ่ม 50 บจ.

ขณะที่นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า จากที่สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนสูง ตลาดหลักทรัพย์ฯเตรียมเข้าหารือกับกระทรวงการคลังในหลายประเด็น เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ประเด็นหารือ ได้แก่

การขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับบริษัทที่เข้าร่วม ในโครงการ Jump+ (จัมป์ พลัส) ซึ่งจะเป็นการขอยกเว้นภาษีกำไรส่วนเพิ่ม ให้กับบริษัทที่เสนอแผนการเพิ่มมูลค่าธุรกิจแล้วสามารถดำเนินการสร้างการเติบโตได้ตามเป้าหมายตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการ 3 ปี โดยตลาดหลักทรัพย์ฯมีแผนเริ่มเปิดโครงการ Jump+ ในเดือน พ.ค.นี้ โดยมีเป้าหมายคัดเลือกบริษัทเข้าร่วมโครงการปีนี้ 50 บริษัท

ยกตัวอย่าง บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯปกติมีกำไรอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท เมื่อเข้าร่วมโครงการทำแผน 3 ปี ในการเพิ่มมูลค่าธุรกิจตามเงื่อนไขที่ ตลท.กำหนด โดยหากสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นจากกำไรปกติอีก 100 ล้านบาท ทางตลาดหลักทรัพย์ฯก็จะขอยกเว้นภาษีในส่วนกำไรที่เพิ่มขึ้น 100 ล้านบาท ให้กับบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเท่าที่หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเบื้องต้น หากไม่กระทบกับสถานะทางการคลังลดลง กระทรวงการคลังก็พร้อมที่จะพิจารณาสนับสนุน

สำหรับบริษัทที่มีการวางแผนการเติบโตอยู่แล้วก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่ง ตลท.พร้อมสนับสนุนด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านเทคโนโลยี AI ค่าที่ปรึกษาหรือ FA ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รวมทั้งการ Roadshow ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม หากบริษัทอาจไม่สามารถดำเนินงานได้ตามแผนก็จะถูกระงับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะได้จากการเข้าร่วมโครงการ

ลดอุปสรรคภาษีดีล M&A

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯยังสนับสนุนการทำ M&A หรือการควบรวมกิจการ ซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนมีความแข็งแกร่งขึ้น โดยจะมีแนวทางยกเว้นการเก็บภาษีย้อนหลัง กรณีที่บริษัทที่เข้าร่วมโครงการเข้าไปร่วมลงทุนหรือซื้อกิจการกับบริษัทนอกตลาดที่อาจจะไม่ได้อยู่ในระบบภาษี เป้าหมายเพื่อลดอุปสรรคและกระตุ้นให้ บจ.กล้าทำดีล M&A กับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยที่ผ่านมามีหลายบริษัทไม่กล้าดำเนินการเพราะเกรงติดปัญหา

นายอัสสเดชกล่าวว่า ประเด็นนี้ไม่ได้ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ เนื่องจากรายได้ภาษีเดิมยังเก็บได้ปกติและรัฐจะได้บริษัทใหม่ ๆ เข้ามาในระบบภาษีมากขึ้น นอกจากนี้หลังจบโครงการแล้ว บริษัทที่มีการเติบโตของกำไรที่มากขึ้น จะทำให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้นด้วย

“ทั้ง 2 ประเด็นหากสามารถทำได้มองว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศในระยะยาว ในส่วนของโครงการ Jump+ ก็จะช่วยส่งเสริมให้ บจ.มีกำไรที่โตขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ บจ.ที่จะได้ประโยชน์ เพราะหลังพ้น 3 ปีแล้ว ตัวเลขกำไรจะโตมากยิ่งขึ้น รัฐบาลก็จะได้ภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ไม่ได้”

ปลดล็อกเกณฑ์ “ซื้อหุ้นคืน”

สำหรับแผนระยะสั้นที่จะดูแลตลาดหุ้น นายอัสสเดชกล่าวว่า ในส่วนประเด็นการถ่ายโอนกองทุน LTF ไปยังกองทุน Thai ESG เพื่อกระตุ้นตลาดทุน โดยได้มีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สิทธิจูงใจและสิทธิประโยชน์ทางภาษียังไม่มีความชัดเจน โดยเรื่องนี้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ชี้แจง โดยคาดว่าจะมีการหารือประเด็นต่าง ๆ กับกระทรวงการคลังภายใน 2 สัปดาห์นี้

อีกหนึ่งกลไกที่ช่วยให้มูลค่าของกิจการสะท้อนได้อย่างเหมาะสม คือ โครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อการบริหารทางการเงิน (Treasury Stock) โดยตลาดหลักทรัพย์ฯจะหารือร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อปรับเปลี่ยนเกณฑ์ระยะเวลาการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียนให้สะดวก และคล่องตัวขึ้น

เดิมเมื่อซื้อหุ้นคืนกลับมาแล้ว ต้องจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนออกไปภายในเวลาที่กำหนด หากช่วงเวลาที่ต้องจำหน่าย สภาวะตลาดไม่ดีอาจเป็นการซ้ำเติมตลาด ซึ่งเกณฑ์ต่างประเทศก็ไม่มีการกำหนดระยะเวลาขายออก

“ประเด็นที่จะพิจารณาปลดล็อก คือการกำหนดสัดส่วนการซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 10% และระยะเวลาการซื้อหุ้นคืน จากเดิมในการซื้อหุ้นคืนแต่ละรอบที่ต้องเว้นวรรค 6 เดือน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเพราะไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย เพียงแต่ต้องแก้กฎกระทรวงเท่านั้น”

ด้านแผนระยะยาวจะทำงานร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อดึงบริษัทต่างชาติเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มความหลากหลายและความน่าสนใจ พร้อมผลักดันมูลค่าตลาดหุ้นไทย และสร้างจุดเด่นจากธุรกิจที่แข็งแรงในไทยเป็น “Listing Hub” หรือศูนย์รวมในการระดมทุนของบริษัทในภูมิภาคและทั่วโลก เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย

รวมทั้งการปรับเกณฑ์จำกัดน้ำหนักหลักทรัพย์ (Capped Weight) มีน้ำหนักไม่เกิน 10% เพื่อแก้ปัญหาหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลมากต่อดัชนีนั้น มาจากที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยมีหุ้น 1 ตัวที่มีความเฉพาะตัว มีผลต่อดัชนีเกิดความผันผวนผิดปกติ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจความคิดเห็น (เฮียริ่ง) ซึ่งหากไม่มีใครคัดค้าน คาดว่าจะเริ่มประกาศใช้ได้ช่วงกลางปีนี้

คลังเร่งแผนโยกกอง LTF

ขณะที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำหรับนโยบายที่จะปรับกองทุน LTF ที่ครบอายุ ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท มาเป็นกองทุนอยู่ใน Thai ESG ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำการบ้านซึ่งจะรีบทำให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะเสนอโครงสร้างว่าจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเท่าไหร่ ด้วยเงื่อนไขอะไร หลังจากนั้นจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ และประกาศใช้ได้ทันที

แหล่งข่าวระบุว่า เนื่องจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา นักลงทุนแห่เทขายกองทุน LTF จำนวนมาก เป็นอีกปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นไทย ล่าสุดทางปลัดกระทรวงการคลังจึงได้นำเสนอแนวทางเพื่อระงับแรงขายกองทุน LTF ให้โยกไปเป็นกองทุน TESG โดยได้มีการเสนอโครงสร้างให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุน ต่อรัฐมนตรีคลังพิจารณาแล้ว คาดว่าจะสามารถนำเข้า ครม.ได้ในสัปดาห์หน้า

ไม่เชื่อมั่น-ต้องหยุดแรงขาย

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ปัญหาหลักของตลาดหุ้นไทย คือ นักลงทุนไม่มีความเชื่อมั่นเลย และขาดแรงซื้อกลับ โดยดัชนี SET ในช่วง 2 เดือนแรกของปี (ม.ค.-17 ก.พ.) ตกหนักกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาค ติดลบอยู่ 9%

ขณะที่ตลาดหุ้นมาเลเซีย ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย และตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ติดลบอยู่ 3%, 6% และ 7% ตามลำดับ โดยหลัก ๆ ถูกกดดันจากความกังวลกรณีสหรัฐเพ่งเล็งจะเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น และตลาดหุ้นไทยโดนซ้ำเติมจากผลกระทบเชิงลบจากปัญหาของหุ้นรายตัว เช่น DELTA, CPALL, CPAXT, AOT

สิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้คือ ต้อง “หยุดแรงขาย” ในตลาดหุ้นให้ได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นโดยเร็ว

หุ้นไทยถูก P/E ที่ 13.1 เท่า

“ตอนนี้ขอแค่แรงขายเบาลง หุ้นพร้อมจะเด้งกลับทันที เพียงแต่ตอนนี้ไม่มีใครอยากไปซื้อสวน เพราะ LTF รอพร้อมขายอยู่ โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) ของกองทุน LTF หายไปแล้วเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับยอดซื้อในปี 2562 ที่ครบกำหนด” นายณัฐพลกล่าว

ในฝั่งของนักวิเคราะห์คงสื่อสารออกไปได้แค่ว่า ตอนนี้หุ้นไทยถูกขายออกมาจน Valuation ถูกมากแล้ว ตอนนี้ Valuation ตลาดหุ้นไทย เทรด P/E ที่ 13.1 เท่า หากตัด DELTA ที่มีน้ำหนักหุ้นไทย 13% ตลาดหุ้นไทยจะเทรด P/E ที่ 12.3 เท่า สะท้อนหุ้นใหญ่โดยเฉลี่ยเทรด P/E ใกล้ ๆ 12 เท่า ซึ่งถือว่าถูกมาก

หนุนโรดโชว์-ลดภาษีนิติบุคคล

นายณัฐพลกล่าวต่อว่า ส่วนในแง่ของบริษัทจดทะเบียนต้องหามาตรการพยุงราคาหุ้น เช่น จ่ายปันผลเพิ่มขึ้น, ประกาศซื้อหุ้นคืน เป็นต้น ส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯเห็นว่าพยายามจะออกมาตรการอยู่ เช่น โครงการ Jump+ โดยล่าสุดจะขอสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อยกเว้นกำไรภาษีส่วนเพิ่มให้กับบริษัทจดทะเบียน ที่เสนอแผนในการเพิ่มมูลค่าแล้วสามารถดำเนินการสร้างการเติบโตของกำไรได้ตามเป้าหมาย โดยปีนี้จะคัดเลือกบริษัทเข้าร่วมโครงการ 50 บริษัท

อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้เป็นมาตรการระยะกลางยาว 3 ปี และแฝงมาด้วยข้อเสียบางอย่างคือ จะได้ประโยชน์กับบริษัทบางกลุ่มเท่านั้น ฉะนั้นหากต้องการฟื้นตลาดหุ้นระยะสั้นได้ดี มองว่าภาครัฐควรต้องออกโรดโชว์ต่างประเทศเพื่อเรียกความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั่วโลก และควรลดภาษีนิติบุคคล เพราะจะทำให้หุ้นขึ้นทั้งกระดานทันที เพราะกำไรบริษัทจดทะเบียนจะปรับขึ้นทั้งหมด

แต่แน่นอนว่าประเด็นนี้จะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และอาจกระทบต่อฐานะทางการคลังได้ และมีความกังวลกระแสต่อต้านที่อาจถูกมองว่าเอื้อตลาดทุนได้ แต่ถ้ารัฐบาลสามารถหารายได้ส่วนอื่นมาชดเชยก็สามารถดำเนินการได้

“กำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นรวมกันปีหนึ่งประมาณ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ เมื่อเทียบกับมูลค่า GDP ไทยที่ 16 ล้านล้านบาท” นายณัฐพลกล่าว

จับตาต่างชาติซุ่มเก็บ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าการปรับตัวลงของดัชนี SET ในเดือน ก.พ. 2568 เห็นสัญญาณของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้อหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่านับตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. จนถึงปิดตลาดวันที่ 17 ก.พ. นักลงทุนต่างชาติพลิกมาซื้อสุทธิหุ้นไทย 6,021 ล้านบาท

โดย บล.กรุงศรีระบุว่า โดยเฉพาะในวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิ 4,634 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิสูงสุดนับจากสูงสุดตั้งแต่ 6 ก.ย. 2567

อย่างไรก็ตาม หากนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 17 ก.พ. 2568 นักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิหุ้นไทย 5,312.65 ล้านบาท