“อัสสเดช” โชว์แผนปลุก SET ฟื้นเชื่อมั่นพลิกวิกฤตตลาดหุ้นไทย

Assadet
อัสสเดช คงสิริ
สัมภาษณ์

“เชื่อว่าระยะยาวจะสามารถฟื้นตลาดหุ้นไทย ให้กลับมามั่นคงแข็งแรงได้มากขึ้น”

ข้างต้นนี้เป็นคำกล่าวของ “อัสสเดช คงสิริ” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หลังรับตำแหน่งมา 5 เดือน ในการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนที่จังหวัดเชียงรายล่าสุด ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยที่เผชิญมรสุมรุมเร้า จนดัชนี SET ร่วงต่ำกว่า 1,300 จุดอีกครั้ง

แผนระยะสั้นเร่งฟื้น LTF

“อัสสเดช” กล่าวยอมรับว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนสูง จึงมีแผนในระยะสั้นที่เร่งทำ ได้แก่ เรื่องแรก จะเข้าหารือกับกระทรวงการคลังถึงความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ไปยังกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ซึ่งจะต้องดูว่าจะใช้กลไกใดจึงจะมีประสิทธิผลมากที่สุด ทั้งมุมของการสนับสนุน ESG และการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดทุน รวมถึงประเด็นเรื่องการใช้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนทางภาษี จะได้ทั้งหมดเหมือน LTF หรือไม่

“จะหารือกับกระทรวงการคลังใน 1-2 สัปดาห์นี้ และคาดว่าคลังจะเป็นผู้ชี้แจงเรื่องนี้”

เล็งปลดล็อกสัดส่วนซื้อหุ้นคืน

เรื่องต่อมา กำลังหารือกับกระทรวงพาณิชย์ และสำนักงาน ก.ล.ต. ในการสนับสนุนโครงการซื้อหุ้นคืน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยให้มูลค่าของกิจการสะท้อนได้อย่างเหมาะสม โดยมีการหารือเพื่อปรับเปลี่ยนเกณฑ์ระยะเวลาการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ให้สะดวกและคล่องตัวขึ้น เดิมเมื่อซื้อหุ้นคืนมาแล้วต้องจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนออกไปภายในเวลาที่กำหนด หากช่วงเวลาที่ต้องจำหน่าย สภาวะตลาดไม่ดีอาจเป็นการซ้ำเติมตลาด ซึ่งต่างประเทศก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลาขายออก

“อยากปลดล็อกการกำหนดสัดส่วนการซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 10% และระยะเวลาการซื้อหุ้นคืน จากเดิมที่ต้องเว้นวรรค 6 เดือน ในการซื้อหุ้นคืนแต่ละรอบ คาดว่าจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเพราะแค่แก้กฎกระทรวงเท่านั้น”

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ เรื่อง Colocation (แผนความเท่าเทียม) คาดจะเริ่มได้ในไตรมาส 2 ปีนี้ โดยจะปรับให้เป็นบริการพื้นฐานเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้ลงทุนทุกกลุ่ม เป็นบริการพื้นฐานที่บริษัทหลักทรัพย์สามารถใช้บริการฟรี มีค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ซึ่งผู้ลงทุนที่เป็นลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์สามารถได้ประโยชน์จากบริการนี้

ชู Jump+ ดันกำไร บจ.

สำหรับแผนระยะกลาง “อัสสเดช” กล่าวว่า จะมีโครงการ Jump+ ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นตลาดที่เสนอมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยได้เข้าหารือเบื้องต้นกับกระทรวงการคลัง ในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว ซึ่งจะเป็นการยกเว้นกำไรภาษีส่วนเพิ่ม ให้กับบริษัทที่ร่วมโครงการ แล้วสามารถดำเนินการสร้างการเติบโตได้ตามเป้าหมายตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ ในเดือน พ.ค.นี้ จะคิกออฟโครงการ Jump+ และปีนี้จะคัดเลือกบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เข้าร่วมโครงการ 50 บริษัท

ADVERTISMENT

“ยกตัวอย่าง ธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จากปกติมีกำไร 1,000 ล้านบาท เมื่อเข้าร่วมโครงการมีการทำแผนขึ้นมา 3 ปี และสามารถมีรายได้จากกำไรปกติเพิ่มขึ้น 100 ล้านบาท อยากจะขอเว้นภาษีในส่วน 100 ล้านบาท ซึ่งเท่าที่หารือกับ รมว.คลังในเบื้องต้น ก็บอกว่าหากไม่กระทบกับฐานะทางการคลัง ก็พร้อมที่จะพิจารณาสนับสนุน”

งดเก็บภาษีย้อนหลังหนุน M&A

“อัสสเดช” กล่าวอีกว่า การหารือกับกระทรวงการคลัง ยังมีเรื่องการขอให้ไม่มีการเก็บภาษีย้อนหลัง หรือนิรโทษกรรมภาษี สำหรับกรณี บจ.เข้าไปซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) กับบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อลดอุปสรรคและกระตุ้นให้ บจ. กล้าทำดีล M&A กับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก สร้างการเติบโตได้รวดเร็วมากขึ้น จากที่ผ่านมามีหลายบริษัทไม่กล้าดำเนินการ เพราะอาจติดเงื่อนไขดังกล่าว ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวจะไม่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากเงินภาษี เนื่องจากรายได้ภาษีเดิมยังเก็บได้ปกติ และรัฐจะได้บริษัทใหม่ ๆ เข้ามาในระบบภาษีมากขึ้น

“หากสามารถทำได้ มองว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศในระยะยาว หาก บจ.เข้าโครงการ Jump+ และมีกำไรที่โตขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ บจ.ที่จะได้ประโยชน์ เพราะหลังพ้น 3 ปีแล้ว ตัวเลขกำไรจะโตมากยิ่งขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจะได้ภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ไม่ได้”

นอกเหนือจากสิทธิด้านภาษี ตลาดหลักทรัพย์ฯยังอยู่ระหว่างการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม กับบริษัทที่ร่วมโครงการและบริษัทที่สามารถพัฒนาได้ตามแผนที่วางไว้ อาทิ การสนับสนุนค่าที่ปรึกษา (FA), การยกเว้นค่าธรรมเนียมต่าง ๆ หรือการพาบริษัทออกไปนำโรดโชว์ทั้งในและต่างประเทศ

“สำหรับแผนในระยะยาว จะสนับสนุนให้ไทยเป็น Listing Hub แหล่งระดมทุนของบริษัทในภูมิภาคและทั่วโลก เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย สร้างความง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business”

เร่งแก้อุปสรรคในตลาดหุ้น

“อัสสเดช” กล่าวอีกว่า ในส่วนการปรับปรุงเกณฑ์กำหนดให้หุ้นรายตัวในดัชนี SET50, SET50FF, SET100 และ SET100FF มีน้ำหนักไม่เกิน 10% ในแต่ละรอบการคัดเลือกนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจความคิดเห็น (เฮียริ่ง) ซึ่งหากไม่มีใครคัดค้าน คาดว่าจะเริ่มประกาศใช้ได้ช่วงกลางปีนี้ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯคำนึงถึงกองทุนประเภท Passive Fund ให้มีผลกระทบน้อยที่สุด

“เกณฑ์ Cap Weight ต้องรอฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนก่อน เพราะมีผลกระทบ แต่ตั้งใจอยากให้เข้ามาช่วยลดความผันผวน หรือลดการพึ่งพาจากหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เป็นสากลทั่วโลก สร้างเสถียรภาพมากขึ้น”

ส่วนความคืบหน้าการหารือกับสำนักงาน ก.ล.ต. และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อเปิดเผยข้อมูล บจ. หลังมีกรณีจำนำหุ้นบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ หากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว นักลงทุนควรจะต้องรับทราบ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือด้านกฎหมาย คาดชัดเจนเร็ว ๆ นี้

“บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯที่อยากทำมากขึ้น คือการสื่อสารและเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนและรวดเร็ว ให้นักลงทุนไปเป็นข้อมูลประกอบการลงทุน และเชื่อว่าระยะยาวจะสามารถฟื้นตลาดหุ้นไทย ให้กลับมามั่นคงแข็งแรงได้มากขึ้น” ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯกล่าว