ธปท.ฟังความเห็นตั้ง NaCGA คาดแบงก์จ่ายเงินสมทบ 3 หมื่นล้านบาท/ปี

ธปท.เปิดฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ หรือ “NaCGA” หวังเป็นกลไกช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้น เผยกำหนดให้แบงก์-SFIs ต้องจ่ายสมทบ 0.30% ต่อปี “วงในแบงก์” คาดจัดตั้งเร็วสุดปลายปี’69 ประเมินเงินสมทบ 2.7-3 หมื่นล้าน ฟาก 2 แบงก์ใหญ่ “กสิกรไทย-กรุงเทพ” ขอศึกษารายละเอียด มองสินเชื่อเอสเอ็มอีปี’68 ยังต้องระมัดระวัง-เน้นช่วยเหลือลูกค้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีประมาณ 3.2 ล้านราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศกว่า 35% ของจีดีพี

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีราว 40% ยังคงประสบปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินจากหลายปัจจัย เช่น ไม่มีสินทรัพย์ที่สามารถใช้เป็นหลักประกันได้ การมีรายได้ที่ไม่แน่นอนและไม่มีประวัติเครดิตเพียงพอ เป็นต้น

แม้ว่าปัจจุบันไทยจะมีกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ แต่รูปแบบและขอบเขตของการค้ำประกันสินเชื่อที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดและไม่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ประกอบการที่มีความต้องการหลากหลายได้อย่างตรงจุด

โดย ธปท.ระบุว่า การจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (NaCGA) เพื่อยกระดับกลไกการค้ำประกันสินเชื่อที่มีในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพ โดย NaCGA เป็นนิติบุคคลที่มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ จะทำให้การดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อมีความรวดเร็ว ยืดหยุ่น และมีขอบเขตการค้ำประกันสินเชื่อที่หลากหลายมากกว่าปัจจุบัน และมีการจัดการฐานข้อมูลความเสี่ยงด้านเครดิตและนำมาใช้ในการค้ำประกันสินเชื่อได้อย่างเป็นระบบ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเหมาะสมตามความเสี่ยง

ในระยะแรก กำหนดให้ NaCGA ได้รับทุนจากรัฐบาล ตามความจำเป็นในการจัดตั้ง และจะได้เงินทุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้กู้ยืมเงินแก่ NaCGA และกำหนดให้นิติบุคคลสมทบเงิน

ADVERTISMENT

ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ให้สินเชื่ออื่น ไม่เกิน 0.3% ต่อปีของยอดสินเชื่อที่ให้กู้ โดยคำนวณบนฐานยอดสินเชื่อธุรกิจที่ไม่ใช่ยอดสินเชื่อธุรกิจตามนโยบายของภาครัฐ

นอกจากนี้ กำหนดให้ “ผู้จัดการทั่วไป” ของ บสย. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ NaCGA ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการ ซึ่งกำหนดให้มีการแต่งตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 270 วัน นับตั้งแต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

ADVERTISMENT

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผยว่า การจัดตั้ง NaCGA เร็วที่สุด น่าจะเป็นช่วงปลายปี 2569 โดยเบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะช่วยให้การค้ำประกันดีขึ้น หรือช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีมากน้อยขนาดไหน อาจจะต้องรอให้ดำเนินการไปสักระยะหนึ่งก่อน อย่างไรก็ดี จะเหมือนมี “กองทุนกลาง” โดยจะมีแหล่งเงินทุนมาจาก 3 ช่องทาง คือ 1.เงินตั้งต้น ส่วนหนึ่งมาจาก บสย. และเงินจากรัฐบาลประมาณ 10,000 ล้านบาท

2.เงินสมทบจากแบงก์ และแบงก์รัฐ เพดานสูงสุด 0.3% ต่อปี ซึ่งเท่ากับอัตราการเรียกเก็บของประเทศเกาหลีใต้ และ 3.ค่าธรรมเนียมจากคนที่มาขอสินเชื่อ 1.75% ต่อปี

“ถ้าเก็บเงินสมทบเต็มเพดาน 0.3% ต่อปี เบื้องต้นได้เงินราว 27,000-30,000 ล้านบาท แต่เริ่มต้นอาจจะมีการผ่อนผันอัตราเงินสมทบเหลือ 0.10% ต่อปี ซึ่งจะได้เงินราว 9,000-10,000 ล้านบาท ตอนนี้ร่างยังไม่ได้ระบุว่า รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณ หรืออุดหนุนเท่าใด ซึ่งภาคธนาคารมีภาระสมทบอยู่ 3 กองทุน ทั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่มีหนี้ชัดเจนที่ต้องจ่าย เงินสมทบสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และ NaCGA ที่เพิ่มขึ้นมา จริง ๆ แล้วถ้าเพิ่มวัตถุประสงค์ บสย. อาจจะดีกว่าตั้งเป็นหน่วยงานใหม่”

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลรายละเอียดการจัดตั้ง NaCGA น่าจะใช้เวลาอีกสักระยะถึงจะเห็นภาพชัดเจน โดยหาก NaCGA เข้ามาช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอีได้มากขึ้น ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าเอสเอ็มอียังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง และการแข่งขันที่มีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในและนอกประเทศ ถือว่ายังเป็นปีที่ท้าทายของธุรกิจ

“ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพยังใช้ บสย. ในการเข้ามาช่วยการค้ำประกันลูกค้าเอสเอ็มอีต่อเนื่อง แต่สัดส่วนการใช้อาจจะไม่ได้สูงมาก โดยเราจะพิจารณาตามความเสี่ยงของลูกค้าเป็นหลัก”

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารกสิกรไทยก็อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการใช้ บสย.ค้ำประกันลูกค้าเอสเอ็มอี พอร์ตของกสิกรไทยยังคงเป็นอันดับ 1 เนื่องจากธนาคารมีฐานลูกค้าเอสเอ็มอีค่อนข้างมาก

แต่ในปีที่ผ่านมาอาจจะปรับลดลง เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินแห่งอื่นที่เข้ามาใช้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างวางแผนร่วมกับ บสย. เพื่อให้มีเงื่อนไขสอดคล้องกับลูกค้าของธนาคารกสิกรไทย คาดว่าในปี 2568 จะมีอัตราการเติบโตมากขึ้น

สำหรับภาพรวมธุรกิจเอสเอ็มอีในปี 2568 จะเห็นว่ายังเป็นปีที่ธนาคารยังคงระมัดระวัง ไม่ได้มุ่งเน้นการเติบโต แต่จะเน้นช่วยเหลือและดูแลลูกค้าตามการฟื้นตัวของธุรกิจและเศรษฐกิจ ทำให้ภาพรวมสินเชื่อเอสเอ็มอีน่าจะทรงตัว

โดยเศรษฐกิจฟื้นตัวลักษณะ K Shape เป็นตัวชี้วัดสำคัญว่ายังมีอุตสาหกรรมที่อยู่ใน K ขาล่างอีกจำนวนมากที่ยังต้องการความช่วยเหลือและประคองธุรกิจ ซึ่งกลุ่มนี้ธนาคารจะเน้นดูแลใกล้ชิด ไม่สร้างภาระให้ลูกค้าเพิ่มเติม ช่วยบริหารสภาพคล่อง หรือการแก้ไขปัญหาหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้

ส่วนกลุ่ม K ขาบน จะเป็นเซ็กเตอร์ที่เกี่ยวกับบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งกลุ่มนี้ต้องการเปลี่ยนผ่านและต่อยอดธุรกิจเพื่อการเติบโต โดยธนาคารจะสนับสนุนผ่านสินเชื่อปรับตัว (Transition) เพื่อเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์ หรือขยายการลงทุน เป็นต้น

“ปีนี้สินเชื่อเอสเอ็มอี เราคงไม่แข่งขันเติบโตในแง่เปอร์เซ็นต์ และมาร์เก็ตแชร์ แต่เราจะเน้นดูแลลูกค้าเดิมให้ดีที่สุด และช่วยเหลือลูกค้าและให้ความรู้ในการเปลี่ยนผ่าน เพราะถ้าธุรกิจเขาไม่โต เราก็ไม่โต สินเชื่อคงจะ Flat และระมัดระวังอยู่”