ค่าเงินบาท เคลื่อนไหว Sideways ตลาดยังไร้ปัจจัยใหม่

เงินบาท

ค่าเงินบาทเคลื่อนไหว Sideways ตลาดยังไร้ปัจจัยใหม่ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 33.67/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปัจจัยในประเทศ รัฐบาลยันเศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้มากกว่า 3% สูงกว่าที่สภาพัฒน์คาด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (18/2) ที่ระดับ 33.78/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (10/2) ที่ระดับ 33.71/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดอลลาร์สหรัฐปรับตัวในกรอบแคบ เนื่องจากเมื่อวานนี้ตลาดเงินสหรัฐปิดทำการ เนื่องในวันประธานาธิบดี โดยเมื่อวานนี้ (17/2) ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียกล่าวว่าปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่งจึงยังไม่จำเป็นที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ยในตอนนี้ และยังกล่าวเพิ่มเติมว่าถึงแม้ตอนนี้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง แต่คาดว่าจะสามารถลดลงมาอยู่ที่ 2% ในกรอบเป้าหมายได้ภายในอีกสองปีข้างหน้า

และนายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ คณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐคาดว่ามาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลต่อเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อย และสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐมองข้ามผลกระทบจากนโยบายภาษีในการกำหนดนโยบายการเงิน

นอกจากนี้นายคริสโตเฟอร์ยังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐยังคงดอกเบี้ย แต่อย่างไรก็ตามหากอัตราเงินเฟ้อยังคงเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับปี 2567 ทางคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐอาจจะกลับมาปรับลดดอกเบี้ยได้อีกครั้งในปีนี้

ด้านปัจจัยภายในประเทศวันนี้ (18/2) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่ากระทรวงการคลังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้มากกว่า 3% และพยายามทำให้สูงถึง 3.5% ซึ่งสูงกว่าที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยเมื่อวาน (17/2) ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 2.3%-3.3% ซึ่งมีค่ากลางที่ 2.8%

ADVERTISMENT

ซึ่งในปีนี้รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการ Easy E-receipt และโครงการแจกเงิน 10,000 ในเฟสถัดไป นอกจากนี้ รมช.ยังคงย้ำเพิ่มเติมว่าอย่ามองเพียงแต่จำนวนเงินที่รัฐบาลจะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการอื่น ๆ เช่น การอำนวยความสะดวกให้กับการประกอบธุรกิจภาคเอกชน และการลดหย่อนภาษีก็เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ในวันนี้ (18/2) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงตัวเลข GDP ของไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ที่มีการขยายตัวบ่งชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยมีการเติบโต แต่อย่างไรก็ตามการลงทุนของภาคเอกชนยังคงหดตัว เนื่องจากมีการปล่อยสินเชื่อน้อยลง

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ทางรัฐบาลกำลังพยายามให้เกิดการขยายตัวในการลงทุน โดยขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหานี้ และยังคงเน้นย้ำว่าพร้อมผลักดันอย่างสุดความสามารถให้กระทรวงการคลังบรรลุเป้าหมาย GDP ที่ 3% หรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ระหว่างวันการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอยู่ในกรอบระหว่าง 33.66-33.81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.67/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (18/2) ที่ระดับ 1.0467/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (10/2) ที่ระดับ 1.0473/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยวันนี้ (18/2) มีการเปิดเผยดัชนีผู้บริโภค (CPI) ของฝรั่งเศสเดือน ม.ค. มีการขยายตัวอยู่ที่ 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน อย่างไรก็ตามยังคงไร้ปัจจัยใหม่จึงทำให้ค่าเงินยูโรยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0453-1.0486 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0458/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (18/2) ที่ระดับ 151.75/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/2) ที่ระดับ 151.79/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในระหว่างวันค่าเงินอ่อนค่าลงเล็กน้อย แต่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบเนื่องจากยังคงไร้ปัจจัยใหม่ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 151.45-152.40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 151.92/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนตัวเลขศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ของสหรัฐ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตเดือน ก.พ. (18/2), ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน ก.พ. จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งใหม่ NAHB (18/2), ตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (20/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคการบริการขั้นต้นจาก S&P Global (21/2)

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ของประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ม.ค. ของอังกฤษ (19/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคการบริการของฝรั่งเศส (21/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคการบริการของเยอรมนี (21/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคการบริการของอังกฤษ (21/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -5.75/-5.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5/-3.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ