
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินจีดีพีไทยปี’68 ขยายตัว 2.7% แรงขับเคลื่อนหลักการลงทุนภาคเอกชนกลับมาเติบโต 3% จากปี’67 หดตัว -1.6% อานิสงส์เม็ดเงิน FDI จากจีนพุ่งแซงหน้าญี่ปุ่น 3-4 เท่าอยู่ที่ 1.75 แสนล้านบาท มอง 3 อุสาหกรรมได้รับประโยชน์ พร้อมจับตา 5 ปัจจัยเข้ามากระทบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ประเมินจีดีพีไทยปี 2568 ขยายตัว 2.7% ดีขึ้นจาก 2.5% ในปีที่ผ่านมา โดยมีแรงหนุนส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มกลับมาเติบโต 3.0% จากที่เคยหดตัว -1.6% ในปี 2567 จากอานิสงส์ของการไหลเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI)
ทั้งนี้ มองว่า 3 ธุรกิจที่จะได้ประโยชน์ในระยะแรก ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง โดยใน 1-2 ปีนี้ คาดว่าจะมีความต้องการสร้างโรงงานเพิ่มขึ้นปีละ 0.85-1.05 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ประเทศไทยยังต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการ Upskill/Reskill แรงงาน และเจรจาความตกลงการค้าเสรีเพื่อเพิ่มโอกาสในการดึงดูด FDI ในระยะถัดไป
นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในปี 2568 การลงทุนภาคเอกชนจะเป็นเครื่องยนต์ที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะพลิกกลับมาขยายตัวได้ 3% โดยในระยะถัดไป ประเมินว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากจีนจะมีบทบาทกับการลงทุนของไทยมากขึ้น เห็นได้จากในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา FDI จากจีนอยู่ในเทรนด์ขาขึ้นอย่างชัดเจน สวนทางกับแชมป์เก่าอย่างญี่ปุ่นที่เป็นเทรนด์ขาลง โดยในปี 2567 FDI จากจีนมีมูลค่าขอรับส่งเสริมการลงทุนถึง 1.75 แสนล้านบาท สูงกว่าญี่ปุ่น 3-4 เท่าตัว
“Krungthai COMPASS มองว่าไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญของการลงทุนจากจีน เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการดึงดูด FDI ที่โดดเด่นไม่เป็นรองกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน สะท้อนจากมุมมองของต่างชาติ เช่น Milken Institute คลังสมอง (Think Tank) ชั้นนำของสหรัฐ ที่ชี้ว่าไทยติดอยู่ในอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศ Emerging and Developing Asia เป็นรองเพียงมาเลเซีย จากการมีจุดเด่นเรื่อง สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ และความพร้อมของบริการด้านการเงิน ส่วนจุดที่ยังสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ คือ การปกป้องสิทธิของนักลงทุน และความสอดคล้องกับกฎระเบียบสากล”
ดร.สุปรีย์ ศรีสำราญ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวเสริมว่าในระยะแรก FDI ที่ปรับตัวสูงขึ้นจะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยใน 3 ธุรกิจสำคัญ ได้แก่ 1.ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมจากความต้องการซื้อที่ดินและสาธารณูปโภค 2.ธุรกิจก่อสร้างจากความต้องการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่อาจเพิ่มขึ้นราวปีละ 0.85-1.05 แสนล้านบาท และ 3.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการพัฒนาคอนโดมิเนียมเพื่อขายให้กับชาวต่างชาติ ซึ่งมักซื้อคอนโดมิเนียมที่มีราคาเฉลี่ยถึง 4.7 ล้านบาทต่อยูนิต สูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนไทยถึง 114%
อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้า ยังต้องติดตาม 5 ปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อ FDI ได้แก่
- ภาวะสงครามการค้า โดยเฉพาะสหรัฐ-จีน
- ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลก
- กฎระเบียบของโลกและประเทศคู่ค้า
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย
- ความพร้อมด้านเทคโนโลยี
โดยในมิติกฎระเบียบของโลก การเริ่มต้นของมาตรการจัดเก็บภาษีขั้นต่ำของโลก (Global Minimum Tax) อาจทำให้สิทธิประโยชน์ด้านอัตราภาษีนิติบุคคลที่ได้รับจากการส่งเสริมการลงทุน ไม่ได้เป็นข้อได้เปรียบในการดึงดูด FDI อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมทั้งชนิดโครงการและประสิทธิภาพ พัฒนาทักษะบุคลากรผ่านการ Upskill และ Reskill รวมถึงมุ่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี เพื่อเป็นการรักษา FDI ที่ไทยได้รับให้อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง