
สภาพัฒน์ชี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน มอง 1-2 ปี กลับมาขยับได้ดี ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-ดิจิทัล-ดาต้าเซ็นเตอร์แข็งแกร่งขึ้น พร้อมคาดจีดีพีไทยปี‘68 โต 2.8% การลงทุนภาครัฐ-ภาคการส่งออก-ท่องเที่ยวหนุน ยังกังวลสงครามการค้าสหรัฐเป็นปัจจัยเสี่ยง ชู 5 แนวทางเตรียมรับมือ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยในงานสัมมนา “Matichon Leadership Forum 2025 Trust Thailand : เชื่อมั่นประเทศไทย” ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาไตรมาส 4/67 ขยายตัวได้ 3.2% ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3/67 ที่โต 3% จะเห็นว่าดัชนีภาคการผลิต ส่งออก และภาคการใช้จ่ายขยายตัวดีขึ้นทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนรวมที่ขยายตัว 5.1%
อย่างไรก็ตาม ยังมีตัวเลขที่ยังต้องแก้ไข อย่างการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัว 2.1% ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัว 2.5% โดยมองว่าช่วงปี 2567 ที่ผ่านมา เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ทำให้เผชิญข้อจำกัดหลายเรื่อง โดยเฉพาะงบประมาณที่มีความล่าช้า ทำให้รัฐบาลมีข้อจำกัดในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ
“จะเห็นได้ว่าในหลายส่วนปรับตัวดีขึ้นหมด แต่ตอนนี้เป็นปัญหาของเรื่องภาคธุรกิจและภาคประชาชน ซึ่งมีความรู้สึกว่ามีความไม่แน่นอนอยู่ แต่มองว่าภาพใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ขับเคลื่อนหลายเรื่อง ทั้งปัญหาเร่งการแก้หนี้ อย่างมาตรการ ”คุณสู้ เราช่วย“ ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้”
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่ติดลบ ในช่วงถัดไปมองว่าจะปรับตัวดีขึ้น จากการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ปี 2567 ที่ 1.14 ล้านล้านบาท เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) 8.23 แสนล้านบาท มีการเพิ่มขึ้น 25% โดยสิ่งที่ทำให้ภาคเอกชนเชื่อมั่นในประเทศไทยคือ 1.ตำแหน่งของไทยที่ไม่อยู่ในฝั่งใดฝั่งหนึ่ง 2.โครงสร้างพื้นฐานของไทย และถ้าไปดูในยอดของการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (FDI) จะเห็นว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลเข้ามาถึง 2.4 แสนล้านบาท และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ อีก 2.3 แสนล้านบาท
ขณะที่การลงทุนเป็นการเสริมภาคอุตสาหกรรมในอนาคต มีการลงทุนมากขึ้น ปีที่แล้วกว่า 1 แสนล้าน หากดูตัวเลขการลงทุนอุตสาหกรรมปี 2565-2567 เริ่มมีการลงทุนมากขึ้น ดังนั้น อุตสาหกรรมอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านในการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ซอฟต์แวร์ ยานยนต์สมัยใหม่ก็จะเข้ามาเสริมอุตสาหกรรมเดิมของไทย ที่จะเป็นอุตสาหกรรมเข้ามาเสริมในอุตสาหกรรมเดิม
“อย่างไรตาม ช่วงนี้ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะโตได้ไม่มากนั้น ยังมีข้อจำกัด ทั้งที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลง และข้อจำกัดหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งหากเราสามารถแก้ไขได้ มองว่า 1-2 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงจากอุตสาหกรรมเดิมไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ”
ขณะเดียวกัน ภาคการส่งออกของไทยมีมูลค่าการส่งออกโต 10.6% ในไตรมาส 4/67 ซึ่งโตสูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส จะเห็นได้ว่าโอกาสของการส่งออกมีเพิ่มมากขึ้น และเศรษฐกิจไทยผูกพันกับภาคการส่งออกค่อนข้างมาก ดังนั้น เราต้องการพัฒนาสินค้า หาสินค้าใหม่ ๆ เพื่อที่จะแข่งขันได้กับตลาดโลก โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ ซึ่งภาครัฐก็มีมาตรการส่งเสริมให้ไทยสามารถสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้
“ปัจจุบันเราได้นำอุตสาหกรรมที่เป็นเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงผ่านบีโอไอ เข้ามาเพื่อลงทุนในประเทศไทยหลายบริษัทแล้ว ดังนั้น ในปีถัดไป เมื่อบริษัทก่อสร้างและมีการผลิตเรียบร้อยแล้ว จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปข้างหน้าบนฐานเทคโนโลยีที่สูงขึ้น“
ขณะที่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไทยที่มีในอดีตเป็นอุตสาหกรรมขั้นปลาย ซึ่งมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมอยู่ที่ขั้นต้น ด้วยอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลัก อย่าง ยานยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้า ในอนาคตชิปจะเป็นตัวสำคัญที่จะเข้าไปอยู่ในทุกจุดในสินค้า
“ปัจจุบันที่เรานำอุตสาหกรรมชิปขั้นต้นเพื่อสร้างซัพพลายเชนให้มีความมั่นคงมากขึ้น และลดปัญหาหากมีการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้น ไทยจะยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง สามารถผลิตและส่งออกได้ ทั้งนี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลและบีโอไอให้ความสำคัญ และในอนาคตจะนำมาเพิ่มขึ้นอีก”
ขณะที่ในปี 2568 สภาพัฒน์ยังคงประมาณการจีดีพีจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.3-3.3 (ค่ากลาง 2.8%) โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีความมั่นคงพอที่จะผ่านภาวะความผันผวนที่เกิดขึ้นได้ โดยมองว่าเครื่องยนต์สำคัญที่จะเดินหน้าเศรษฐกิจไทยมี 3 ตัว ได้แก่ การลงทุนของภาครัฐ การเร่งของภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออก
อย่างไรก็ตาม ยังกังวลผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของประเทศคู่ค้า ซึ่งประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ เป็นประเด็นความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ มีการเตรียมการรับมือไว้แล้วว่าจะเจรจาอย่างไร ซึ่งจะเห็นว่ามาตรการสหรัฐที่ออกมาเป็นการกดดันให้เกิดการเจรจาซึ่งประเทศไทยก็เป็นเป้าหมายนั้นเช่นกัน ซึ่งภาครัฐก็ได้มีการเตรียมรับมือเรื่องนี้ไว้แล้ว ดังนั้น ถ้ามีการจำกัดผลกระทบให้ไม่ขยายตัวมากขึ้น มองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวมากขึ้นกว่าที่ประมาณการได้
สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคปีนี้ ควรให้ความสำคัญกับ
1) การเตรียมการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้ากับสหรัฐ และเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการกีดกันทางการค้า ปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาด และการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม พร้อมเร่งรัดการส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ และคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก
2) เร่งรัดส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนให้กลับมาขยายตัว โดยให้ความสำคัญกับการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ พร้อมเร่งรัดนักลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2565-2567 ให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็ว
3) เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนไม่ให้ต่ำกว่า 75% ของกรอบงบฯลงทุนรวม
4) สร้างการตระหนักรู้ถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เพื่อให้ลูกหนี้โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ SMEs ได้รับความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้และสามารถชำระหนี้ได้อย่างเหมาะสมตามศักยภาพ
และ 5) การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการเร่งรัดแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (PM 2.5) อย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการรักษามาตรฐานความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว รวมถึงการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิ สนามบิน/เที่ยวบิน กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง โครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวก