2 วันฝรั่งทิ้งหุ้นไทย 1.7หมื่นล้าน พิษเฟดขึ้นดอกเบี้ยถี่ ป่วนโลกปรับนโยบายการเงิน

หุ้นไทยร่วงหลุดฐาน 1,700 จุด ต่างชาติทิ้งกว่าแสนล้านบาท กระทบฟันด์โฟลว์ไหลออก กสิกรฯชี้เงินบาทอ่อนค่า เอฟเฟ็กต์ “เฟด” ขึ้นดอกเบี้ยถี่ปีนี้ ทั่วโลกปรับแผนเดินนโยบายการเงินตึงตัว ธนาคารกลางจีนจ่อขึ้นดอกเบี้ยประชุมครั้งหน้า บวกธนาคารกลางยุโรปลด QE ส่งซิกขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ประเทศต่าง ๆ เริ่มทยอยปรับท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่ผ่อนคลายมาหลายปีก่อนหน้า นำโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอีก 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.00% ในการประชุมครั้งล่าสุด (12-13 มิ.ย. 2561) และส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยคาดว่าจะปรับขึ้นในเดือน ก.ย.และ ธ.ค.ในปีนี้

ขณะที่ธนาคารกลางฮ่องกง ก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยตามเฟดทันที โดยกำหนดเพิ่มขึ้น 25 จุด สู่ระดับ 2.25% เช่นเดียวกับธนาคารกลางแห่งชาติจีน หรือ PBOC โดยนายเซิ่ง ซ่งเฉิง (Sheng Songcheng) ที่ปรึกษาธนาคารกลางจีน ระบุว่า ขณะนี้แม้ว่าการประชุมครั้งล่าสุดของธนาคารกลางจีนได้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับเดิม แต่ในการประชุมครั้งหน้าจะพิจารณาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเล็กน้อยผ่านทางตลาดเงิน (open market operations-OMO) ส่วนธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB แถลงหลังผลประชุมเฟดออกมาไม่กี่ชั่วโมง โดยที่ประชุม ECB ประกาศเตรียมจะยุติมาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณ (QE) ไว้ที่ปลายเดือน ธ.ค.ปีนี้ ซึ่งดำเนินการผ่อนปรนซื้อคืนพันธบัตรมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยวางแผนจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า โดยให้เหตุผลว่า เงินเฟ้อกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายที่ระดับใกล้เคียงกับ 2%การประกาศปรับท่าทีดำเนินนโยบายการเงินของประเทศต่าง ๆ ได้ส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยในส่วนของตลาดหุ้นไทย มีแรงเทขายของต่างชาติหนักทันทีในวันที่รู้ผลประชุมเฟดล่าสุด โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯร่วงลงต่ำกว่าแนวต้านหลักที่อยู่ระดับ 1,700 จุด เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา และลงต่อเนื่องในวันต่อมา (15 มิ.ย.) ดัชนีแตะต่ำสุดที่ 1,965.39 จุด ในช่วงเช้าวันที่ 15 มิ.ย. และไหลลงมาปิดตลาดสิ้นวันที่ 1,704.82 จุด ในช่วง 2 วัน มูลค่าตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) หายไปไม่ต่ำกว่า 1.34 แสนล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเทขายไม่ต่ำกว่า 1.72 หมื่นล้านบาท

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังคงแกว่งตัวสูง หลังจากเฟดขึ้นดอกเบี้ยแล้วยังมีแรงกดดันจากผลประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศแผนยุติการทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณเร็วกว่าคาด รวมถึงประเด็นที่รัฐบาลสหรัฐลงนามคำสั่งเตรียมประกาศรายชื่อสินค้าจีนวงเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ที่จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า 25% ปัจจัยดังกล่าว ทำให้เม็ดเงินต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ยังไหลออกต่อเนื่อง

นายพบชัย ภัทราวิชญ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการงานวิจัย บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังเผชิญแรงกดดัน

จากการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ หลังจากซาอุดีอาระเบียและรัสเซียจะเสนอปรับเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งอาจกดดันราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงได้ รวมถึงติดตามผลกระทบจากที่สหรัฐประกาศรายชื่อสินค้าที่ถูกเก็บภาษีนำเข้า 25% กับคู่ค้าจีนและยุโรป และแคนาดา เม็กซิโก

นายกอบสิทธิ์ ศิลปะชัย ผู้บริหารวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เงินทุนต่างชาติจะไม่ไหลออกจากประเทศไทยรุนแรง เนื่องจากเฟดยังไม่ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะยาว 10 ปี ทำให้ยังไม่มีผลต่อมูลค่าสินทรัพย์เสี่ยง แต่ในส่วนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้น คงต้องจับตาดูความผันผวนต่อไป เพราะว่านักลงทุนต่างชาติลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นของไทยประมาณ 1.3 แสนล้านบาท จะตัดสินใจขายและนำเงินออกไปหาผลตอบแทนสูงในสหรัฐหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปทดสอบจุดสูงสุดของปีนี้ที่ 32.40-32.50 บาท/ดอลลาร์

“ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐที่ห่างกันเกือบ 1% อาจเป็นแรงกดดันในประเทศขยับขึ้นได้ หากสภาพคล่องตึงตัวจากเงินไหลออกและการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว” นายกอบสิทธิ์กล่าว


ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมวันที่ 20 มิ.ย.นี้