
สมาคมประกันชีวิตไทย อ้อนรัฐเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีเกิน 1 แสนบาท หรือให้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เต็มวงเงิน 1 แสนบาท ในส่วนประกันที่เกี่ยวกับการออมหวังจูงใจคนไทยเก็บออมเงินมากขึ้น พร้อมตั้งเป้าเบี้ยรับรวมปี 2568 โต 2-3% ล้อตาม GDP มีเบี้ยรวมแตะ 6.6-6.7 แสนล้านบาท
นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยสมุทรประกันชีวิต ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย (TLAA) เปิดเผยว่า ตามที่ภาครัฐมีการสนับสนุนให้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันสุขภาพที่ทำให้ตัวเองสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริงไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีรวมแล้วได้ไม่เกิน 100,000 บาทนั้น
สมาคมฯเล็งเห็นว่าในปัจจุบันวงเงินลดหย่อนภาษีส่วนนี้ถือว่าน้อยเกินไป จึงมีความประสงค์ที่อยากจะขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีที่มากกว่า 100,000 บาท หรือเป็นไปได้หรือไม่ สามารถจะแยกวงเงินลดหย่อนภาษีในส่วนประกันที่เกี่ยวกับการออม โดยให้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เต็มวงเงิน 1 แสนบาท เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่าการออมเงินของคนไทยยังมีไม่เพียงพอ จึงอยากให้ภาครัฐสนับสนุนและส่งเสริมที่มากขึ้น
“เรารู้อยู่แล้วว่าคนเราเกษียณอายุ 60 ปี ต้องมีเงินอยู่ในกระเป๋าประมาณ 5 ล้านบาท เพื่อรองรับวัยเกษียณ แต่วันนี้เราอยู่ในสังคมผู้สูงวัย คนไทยจะมีอายุยืนยาวขึ้นไปจนถึงอายุ 80-90 ปี เพราะฉะนั้นเงินมูลค่า 5 ล้านบาท ที่คิดไว้อาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในอนาคต ซึ่งหลายคนยังเริ่มต้นเก็บออมช้า ก็ยังมีโอกาสที่จะหักลดหย่อนภาษีตรงนี้ได้ ดังนั้นเพื่อจูงใจให้คนไทยเก็บออมมากขึ้นและยังช่วยลดภาระของภาครัฐในส่วนการดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลในอนาคตได้ด้วย” นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าว
ในส่วนเบี้ยประกันบำนาญที่ปัจจุบันสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท ปัจจุบันก็กำลังตีความสินค้าประเภทนี้ให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยจะปรับเปลี่ยนแพ็กเกจในการวางแผนการเงินและการเกษียณให้ตรงกับความต้องการของผู้เอาประกันให้ได้มากที่สุด โดยสมาคมฯกำลังทำงานและหารือเรื่องนี้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และกรมสรรพากร
นางนุสรา กล่าวต่อว่า สำหรับในปี 2568 สมาคมฯคาดการณ์อัตราการเติบโตของเบี้ยประกันชีวิตทั้งอุตสาหกรรม จะเติบโตระหว่าง 2-3% หรือมีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมที่ 667,001-673,540 ล้านบาท ซึ่งจะสอดคล้องไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีการคาดการณ์ว่าจะขยายตัวระหว่าง 2.3-3.3% (มีค่ากลางเติบโต 2.8%) และประเมินจากเบี้ยประกันชีวิตที่จะมีการต่ออายุกรมธรรม์ จากเบี้ยประกันที่ชำระครบแล้วแต่ความคุ้มครองยังคงอยู่ (Paid-up policy) และจากเบี้ยรับใหม่ที่เข้ามา
โดยปัจจัยสนับสนุนที่จะส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตในปีนี้คือ 1.ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์หรือเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาล (Medical Inflation) ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยปีละ 8-10% แต่ปี 2567 เงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลสูงถึง 15.2%
และปีนี้คาดการณ์ว่าจะคงสูงในระดับเดิมที่ 14.3% ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ และผลจากนโยบายขยายช่วงอายุการรับประกันภัยสุขภาพออกไปจนถึง 80 ปี จะเป็นแรงผลักดันทำให้ประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงมีอัตราการเติบโตที่ดีต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยนี้จะมีผลขยายไปถึงประกันชีวิตอื่น ๆ โดยเฉพาะประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life) ที่เป็นสัญญาหลักด้วย
2.การเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ ทำให้คนตระหนักถึงความจำเป็นในการเก็บออมเงินไว้เพื่ออนาคต ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจประกันชีวิตถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการเงินมากยิ่งขึ้น
3.การเพิ่มขึ้นของแรงสนับสนุนและมาตรการจากภาครัฐ โดยผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกำกับดูแลและส่งเสริมภาคธุรกิจผ่านโครงการนวัตกรรมต่าง ๆ
4.การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและระบบเอไอในการนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่องทางบริการ ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทำให้ธุรกิจสามารถขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น
และ 5.การร่วมมือกันอย่างแข็งขันในทุกด้านของธุรกิจผ่านสมาคมฯ เพื่อผลักดันให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน
แต่อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายคือ 1.สภาวะเศรษฐกิจไทยที่เติบโตชะลอตัวมาหลายปี มีอัตราการเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและต่ำสุดในอาเซียน สาเหตุสำคัญคือรอยแผลจากโควิด ธุรกิจไม่ปรับตัวในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ และสังคมผู้สูงอายุ ทำให้ศักยภาพการผลิตและการบริโภคลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ปัจจุบันภาคธุรกิจต้องมอนิเตอร์เรื่องความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) อย่างใกล้ชิด
2.ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าโลก ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งด้านการค้าและบริการ และมีแนวโน้มว่ายังไม่ยุติ ก่อให้เกิดความผันผวนและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมากขึ้น 3.อัตราเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยไทยที่มีทิศทางขาลง โดยปัจจุบันผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) รุ่นอายุ 10 ปี อยู่ที่ 2.3% ถือเป็นระดับที่ต่ำลงมาก เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องระมัดระวังในการออกขายสินค้าประกันสะสมทรัพย์ ซึ่งประเด็นนี้เป็นปัจจัยที่ท้าทายธุรกิจประกันชีวิตอย่างมาก เพราะมีผลต่อเรื่องการลงทุน
และ 4.การบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS17) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 ซึ่งจะทำให้งบการเงินของบริษัทประกันสะท้อนภาพรายได้และค่าใช้จ่ายที่แท้จริง โดยการเปลี่ยนรูปแบบการรับรู้กำไรและขาดทุน จะส่งผลกระทบต่อการวางแผนการออกผลิตภัณฑ์และการดำเนินงานของบริษัท
นางนุสรากล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในปี 2567 ทั้งอุตสาหกรรมมีเบี้ยรับรวม 653,923 ล้านบาท เติบโต 3.23% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) โดยมีเบี้ยปีต่ออายุ อยู่ที่ 469,592 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.21% คิดเป็นสัดส่วน 71.81% ของเบี้ยรับรวม มีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ที่ 83% และมีเบี้ยรับรายใหม่อยู่ที่ 184,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.28% คิดเป็นสัดส่วน 28.18% ของเบี้ยรับรวม
โดยเบี้ยรับรายใหม่ประกอบด้วย 1.เบี้ยรับปีแรก อยู่ที่ 120,026 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.81% คิดเป็นสัดส่วน 18.35% ของเบี้ยรับรวม และ 2.เบี้ยจ่ายครั้งเดียวหรือซิงเกิลพรีเมี่ยมอยู่ที่ 64,305 ล้านบาท ลดลง 2.71%
สาเหตุสำคัญที่ผลักดันการเติบโตของธุรกิจมาจากปัจจัยเอื้อทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงกระแสใส่ใจสุขภาพของประชาชนที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพและโรคร้ายแรงเติบโตเพิ่มขึ้น และยังช่วยเสริมให้สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health+CI) มีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 124,786 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.66% คิดเป็นสัดส่วน 19.08% และยังช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ และผลิตภัณฑ์ประกันสะสมทรัพย์ ซึ่งเป็นสัญญาหลักเติบโตขึ้นตามไปด้วย
โดยประกันชีวิตแบบตลอดชีพ มีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 110,777 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.93% หรือคิดเป็นสัดส่วน 16.94% ผลิตภัณฑ์ประกันสะสมทรัพย์ มีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 282,302 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.76% หรือคิดเป็นสัดส่วน 43.17%
โดยหากจำแนกเบี้ยประกันภัยรับรวมแยกตามช่องทางการขายพบว่า การขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิต (Agency) ยังเป็นช่องทางหลัก มีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 346,791 ล้านบาท เติบโต 2.32% คิดเป็นสัดส่วน 53.03% รองลงมาเป็นการขายผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) มีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 245,498 ล้านบาท เติบโต 2.67% คิดเป็นสัดส่วน 37.54%
ถัดมาเป็นการขายผ่านช่องทางนายหน้าประกันชีวิต (Broker) มีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 34,484 ล้านบาท เติบโต 11.93% คิดเป็นสัดส่วน 5.27% และการขายผ่านช่องทางโทรศัพท์ (Tele Marketing) มีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 12,910 ล้านบาท ลดลง 5.49% คิดเป็นสัดส่วน 1.97%
“ที่ผ่านมาสมาคมฯ มีนโยบายที่มุ่งให้แต่ละบริษัทประกันชีวิต มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการบริหารและจัดการความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ทั้งก่อนและหลังการรับประกัน และมีฐานะทางการเงินที่มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามความเสี่ยง (CAR Ratio) สูงกว่าระดับเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามเกณฑ์ที่กำหนด (Supervisory CAR) เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยมั่นใจว่า บริษัทประกันชีวิตสามารถปฏิบัติตามภาระผูกพันของกรมธรรม์ประกันภัยได้ทุกกรมธรรม์ที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย และพร้อมที่จะให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยจนกว่าจะครบกำหนดสัญญา
ดังจะเห็นได้จากในไตรมาส 3/2567 จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. ภาคธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุนตามความเสี่ยงอยู่ที่ 373.30 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนที่ใช้ในการกำกับ (Supervisory CAR)” นางนุสรากล่าว