ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ติดตามรายงานการประชุมเฟด

Money

ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ติดตามรายงานการประชุมเฟด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (19/02) ที่ระดับ 33.64/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (18/02) ที่ระดับ 33.67/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวานนี้ (18/02) สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐเปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านลดลง 5 จุด สู่ระดับ 42 ในเดือน ก.พ. แตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.ย.ปี 2567

โดยดัชนีได้รับผลกระทบจากการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงจับตาการเปิดเผยรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินแห่งธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ประจำวันที่ 28-29 ม.ค. ในวันนี้ (19/02) เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ทั้งนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิเช่น นายแพททิก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟดสาขาฟิลาเดเฟีย นางมิเชล โบว์แมน และนายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ สมาชิกคณะผู้ว่าการเฟด ต่างแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่าเฟดควรจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่งและเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง

ล่าสุดเครื่องมือ FedWatch Tool จาก CME Group ระบุว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 97.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.2%-4.5% ในการประชุมนโยบายการเงินเดือน มี.ค. และคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน พ.ค. และ มิ.ย.ก่อนที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 4.00%-.25% ในการประชุมเดือน ก.ค. และจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่เหลือของปี 2568

ด้านปัจจัยภายในประเทศ สถาบันอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยระบุว่าการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2567 ขยายตัว 7.3% ทำสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ แตะระดับ 1.63 ล้านล้านบาท จากความต้องการสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่หลายประเทศเผชิญสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงซึ่งส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อที่เริ่มคลี่คลายลง ส่งผลให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ADVERTISMENT

อีกทั้งการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเคลื่อนไหวเฉลี่ยที่ระดับ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567 สนับสนุนให้การส่งออกสินค้าอาหารไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยทั้ง 3 องค์กรคาดว่าในปี 2568 จะขยายตัวได้ราว 6.8% คิดเป็นมูลค่า 1.75 ล้านล้านบาท จากปริมาณวัตถุดิบการเกษตรที่เพิ่มขึ้น ความผันผวนของค่าเงินบาท และมาตรฐานความปลอดภัยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมอาหารไทยยังคงเผชิญความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายจัดเก็บภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (reiprocal tariffs) ของสหรัฐ เนื่องจากอาหารเป็นหนึ่งในสาขาการผลิตที่ทำให้ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐ โดยในปี 2567 ไทยเกินดุลการค้าอาหารกับสหรัฐราว 128,23 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของยอดเกินดุลการค้ารวมของไทย โดยในวันนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอยู่ในกรอบระหว่าง 33.65-33.72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.67/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ADVERTISMENT

ค่าเงินยูโรเคื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (19/02) ที่ระดับ 1.0447/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (18/02) ที่ระดับ 1.0458/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยวายนี้ (18/02) สำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศส (INSEE) รายงานว่าอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคของฝรั่งเศส (HICP) ปรับตัวขึ้น 1.8% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์

ทว่าเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี HICP ปรับตัวลดลง 0.2% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือน ธ.ค. ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0432-1.0461 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0432/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (19/02) ที่ระดับ 151.88/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (18/02) ที่ระดับ 151.92/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยวันนี้ (19/02) กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลดุลการค้าเดือน ม.ค. ขาดดุล 2.76 ล้านล้านเยน หรือราว 1.82 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกกดดันจากการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล โดยยอดนำเข้าเดือน ม.ค. พุ่งขึ้น 16.7% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 แตะระดับ 16.62 ล้านล้านเยน

ทั้งนี้ ยอดส่งออกเดือน ม.ค. ปรับตัวขึ้น 7.2% เมื่อเทียบรายปี แตะระดับ 7.86 ล้านล้านเยน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 จากการส่งออกรถยนต์ ชิป และยาที่ปรับตัวสูงขึ้น สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่าขณะนี้ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐ มูลค่า 4.77 แสนล้านเยน เนื่องจากมีการส่งออกไปยังสหรัฐเพิ่มขึ้น 8.1% ในวันนี้ (19/02) โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่าญี่ปุ่นได้มีการสอบถามสหรัฐเกี่ยวกับแผนการขึ้นภาษีรถยนต์ และพยายามขอยกเว้นการขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม

โดยเน้นย้ำถึงผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญของสหรัฐ ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนอยู่ในกรอบระหว่าง 151.55-152.30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 151.60/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (20/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคการบริการเดือน ก.พ. ของฝรั่งเศส (21/2), ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการเดือน ก.พ. ของเยอรมนี (21/2), ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการเดือน ก.พ. ของอังกฤษ (21/2), ดัชนีภาคการผลิตและภาคการบริการขั้นต้นเดือน ก.พ.ของสหรัฐ จาก S&P Global (21/2), และยอดขายบ้านมือสองเดือน ม.ค. ของสหรัฐ (21/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -5.75/-5.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.00/-3.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ