“กอบศักดิ์” ชี้ เศรษฐกิจไทยปี’68 โตแผ่วเหลือ 2.5-3% เครื่องยนต์หลักเริ่มชะลอ

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
กอบศักดิ์ ภูตระกูล

“กอบศักดิ์” ธนาคารกรุงเทพ มองเศรษฐกิจไทยปี’68 เครื่องยนต์เศรษฐกิจ ”ส่งออก-ท่องเที่ยว-FDI-นโยบายรัฐ“ เจอแรงต้าน ทำเศรษฐกิจเริ่มแผ่ว หั่นกรอบคาดการณ์จีดีพีจากโตเกิน 3% เหลือกรอบ 2.5-3% ประเมิน กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง ไม่ฟันธงลดรอบประชุม 26 ก.พ.นี้ เหตุนโยบายทรัมป์ยังเดายาก

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จากเดิมธนาคารประเมินว่าจะขยายตัวได้มากกว่า 3% แต่หลังจากผ่านมา 1 เดือน ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์อยู่ในกรอบ 2.5-3% เนื่องจากลมต้าน (Head Wind) และความผันผวนมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเติบโตชะลอลง

ทั้งนี้ ธนาคารมองว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจปีนี้จะมาค่อนข้างครบ 3-4 ตัว ทั้งการส่งออก ท่องเที่ยว การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ อย่างไรก็ดี หลังผ่านมา 1 เดือนพบว่าแรงส่ง Upside ในเครื่องยนต์ต่าง ๆ แผ่วลงจากสงครามการค้า (Trade War) และนโยบายการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์

ดังนั้น ทำให้การส่งออกจากเดิมที่จะขยายตัวได้ดีไม่ได้ขยายตัวดีกว่าที่คิด และการท่องเที่ยวในเดือนมกราคม 2568 จำนวนเพิ่มขึ้น 20% แต่ปัจจุบันจำนวนลดเหลือ 10% เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนไม่มา ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ จากเดิมจะมีกระแสเข้ามาลงทุนจากสหรัฐ แต่นโยบายจากโดนัลด์ ทรัมป์ดึงการลงทุนกลับประเทศ ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล จะเห็นว่าเริ่มไม่นิ่งจากปัจจัยทางการเมือง ส่งผลให้นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ง่าย

“ปีนี้จริง ๆ เป็นปีที่ดี เพราะเครื่องยนต์มาพร้อมกันหลายตัว แต่หลังจากมีนโยบายของสหรัฐ ทำให้คาดเดาได้ค่อนข้างยาก เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีการตอบโต้อย่างไรบ้าง เราจึงมีกรอบคาดการณ์จีดีพีเป็นครั้งแรกที่ 2.5-3% จากเดิมเรามองว่าจะมี Upside แต่เราเริ่มเห็นลมต้านทั้งส่งออก ท่องเที่ยว และเม็ดเงินลงทุน FDI

และในประเทศเองก็มีสิ่งที่น่าเป็นห่วง จะเห็นได้จากในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. 67 ที่ผ่านมาซึ่งมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แจกเงิน 10,000 บาทออกมา แต่จีดีพีไตรมาส 4/67 ที่ออกมากลับต่ำกว่าที่คาด ส่วนหนึ่งที่ทำให้จีดีพีไตรมาส 4 ออกมา 3.2% จากคาดเดิม 3.8% มาจากภาคอุตสาหกรรมที่เป็นสัดส่วนใหญ่โตชะลอเหลือแค่ 0.2% เพราะมีการปิดโรงงาน จึงฉุดจีดีพีภาพรวมลงมา ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการ คือ พยายามสร้างแรงส่งโมเมนตัมในสิ่งที่ไปได้ เช่น การท่องเที่ยว หรือส่งออกที่ควรพยายามเตรียมตัวรับมือและเจรจากับสหรัฐ“

ADVERTISMENT

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า สำหรับนโยบายการเงิน มองว่า อยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่าจะปรับดอกเบี้ยหรือรอดูสถานการณ์ก่อน แต่ภายใต้เศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่า โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะขยายตัว 2.9% แต่จากความผันผวนต่าง ๆ จะทำให้เศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในเป้าหมายกรอบขาล่าง ซึ่งมีโอกาสหรือรูมในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ได้ 1 ครั้ง และหลังจากนี้ 5-6 เดือนข้างหน้า เศรษฐกิจโลกอ่อนแอ และมีปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ทำให้ภายในกลางปี กนง. มาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งอาจจะมีรูมลดอีก 1 ครั้ง

“เราอาจต้องแยกเป็น 2 ประเด็นตอนนี้ คือ 1.เศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด แม้จะโตได้แต่ Upside ไม่เยอะ และ 2.กลางปีจะเห็นว่าสหรัฐทำอะไร ใครตอบโต้อะไร สินค้าจีนจะเข้ามาขนาดไหน ดังนั้นจากทั้ง 2 ปัจจัย กนง.อยากลงดอกเบี้ยรอบประชุม 26 ก.พ.นี้เลยก็ลงได้ แต่คาดว่า กนง.อาจจะรอดูนโยบายทรัมป์ว่าทำอะไรและใครตอบโต้อะไร ซึ่งวันที่ 1 เม.ย.นี้ จะเห็นเรื่องภาษีของทรัมป์ชัดเจนขึ้น อาจจะลดตอนนั้นก็ได้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กนง. และเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนควรอ่อนค่ากว่านี้เล็กน้อย ซึ่งจะช่วยหนุนท่องเที่ยว ส่งออกหรือจูงใจการลงทุน FDI เข้ามาได้”

ADVERTISMENT