
บาทแข็งค่า คาด BOJ ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ค. ขณะที่ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group ชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 97.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือน มี.ค.
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (20/2) ที่ระดับ 33.74/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (19/2) ที่ระดับ 33.69/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินประจำวันที่ 28-29 ม.ค. แสดงให้เห็นว่า กรรมการเฟดวิตกเกี่ยวกับเงินฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งความเป็นไปได้ที่มาตรการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะมาตรการกำแพงภาษี จะส่งผลกระทบต่อความพยายามของเฟดในการกดเงินเฟ้อให้ชะลอตัวลงสู่เป้าหมายที่ 2%
ซึ่งกรรมการเฟดมีความเห็นตรงกันว่า จำเป็นต้องเห็นเงินเฟ้อชะลอตัวลงอีก ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม และกังวลว่า ผลกระทบจากมาตรการกำแพงภาษีของ ปธน.ทรัมป์อาจจะไม่ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น
ทั้งนี้กรรมการเฟดแสดงความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดจากคณะบริหารชุดใหม่ของสหรัฐ ซึ่งอาจรวมถึงการพูดคุยกันเกี่ยวกับมาตรการภาษี รวมทั้งผลกระทบจากการปรับลดภาษีและการผ่อนคลายกฎระเบียบ โดยกรรมการเฟดระบุว่า นโยบายการเงินในปัจจุบันทำให้เฟดมีเวลาในการประเมินแนวโน้มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน และเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันกรรมการส่วนใหญ่ยังได้ระบุถึงจุดยืนด้านนโยบายการเงินที่ยังคงอยู่ในระดับคุมเข้ม
ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านลดลง 9.8% สู่ระดับ 1.36 ล้านยูนิตในเดือน ม.ค. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.39 ล้านยูนิต โดยได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นในสหรัฐ
ส่วนการอนุญาตก่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 0.1% สู่ระดับ 1.48 ล้านยูนิตในเดือน ม.ค. และสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.46 ล้านยูนิต อีกทั้งเฟดสาขาแอตแลนตาเปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.3% ในไตรมาส 1/2568
ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.4% ในไตรมาส 1/2567, 3.0% ในไตรมาส 2, 3.1% ในไตรมาส 3 และ 2.3% ในไตรมาส 4 ขณะที่ ปธน.ทรัมป์กล่าวถึงการเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และยาในอัตรา 25% โดยอาจมีการประกาศอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ครั้งใหม่ในวันที่ 2 เม.ย.
นอกจากนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 97.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือน มี.ค. นักลงทุนคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน พ.ค., มิ.ย. และ ก.ค. ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.00-4.25% ในการประชุมเดือน ก.ย. และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวในการประชุมที่เหลือจนสิ้นปี 2568
ด้านปัจจัยภายในประเทศวานนี้ (19/2) นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่ แทนนายปรเมธี วิมลศิริ ที่ครบวาระและสิ้นสุดการรักษาการว่า ขณะนี้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งมีนายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธุ์ เป็นประธาน อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติรายชื่อบุคคลที่เสนอเข้าไป โดยจะนัดประชุมในช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้
อีกทั้งกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการเร่งพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวได้ 3-35% ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าตามค่าเงินเยน ซึ่งเป็นสกุลเงินในภูมิภาคเดียวกัน รวมถึงการปรับขึ้นของราคาทองคำ โดยระหว่างวันการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอยู่ในกรอบระหว่าง 33.59-33.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.64/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (20/2) ที่ระดับ 1.0420/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (19/2) ที่ระดับ 1.0430/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยในวันนี้ (20/2) ว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของเยอรมนี ปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ชะลอตัวลงจาก 0.8% ในเดือนก่อนหน้าและต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.3%
ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0400-1.0441 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0429/31 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
ขณะที่ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (20/2) ที่ระดับ 151.22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (19/2) ที่ระดับ 151.80/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ค่าเงินเยนปรับแข็งค่า แตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. สู่ระดับ 150.32/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันอตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี มีผลตอบแทนสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2552
นอกจากนี้ ตลาดอนุพันธ์คาดการณ์ว่ามีโอกาส 83% ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น BOJ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 70% เมื่อต้นเดือนนี้ และตอนนี้ คาดการณ์กันอย่างแน่นอนแล้วว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยภายในเดือน ก.ย.
ฮาจิเมะ ทาคาตะ หนึ่งในคณะกรรมการบริหารของ BOJ กล่าวเมื่อวันพุธ (20/2) ว่า การพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้นมีความสำคัญ โดยให้เหตุผลว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของญี่ปุ่นกำลังเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับมุมมองของตลาดต่อเศรษฐกิจ รวมถึง GDP ที่สูงกว่าที่คาดการณ์ แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ BOJ พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต, แรงกดดันในการขายดอลลาร์ที่มีอยู่เดิม และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกระตุ้นให้นักลงทุนต้องการถือเงินเยนซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย
นอกจากนี้ในวันศุกร์ (21/2) จะมีการประกาศหรือดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของญี่ปุ่น โดย โชกิ โอโมริ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ระดับโลกของบริษัท Mizuho Securities ในโตเกียว กล่าวว่า ถ้าดัชนี CPI สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ค่าเงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่าต่ำกว่า 150 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนอยู่ในกรอบระหว่าง 149.92-150.41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 150.32/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้ของสหรัฐ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีการผลิตเดือน ก.พ. จากเฟดฟิลาเดลเฟีย, ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน ม.ค. จาก Conference Board และ สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -5.85/-5.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.50/-2.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ