
มาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน “คุณสู้ เราช่วย” ที่ได้ขยายกลุ่มเป้าหมายจากลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ และลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) มาสู่ลูกหนี้ของผู้ให้บริการทางการเงิน ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ที่ไม่ได้เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงินนั้น ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศแนวทางให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ออกมา
ประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและลดภาระดอกเบี้ย หรือมาตรการ “ลดผ่อน ลดดอก” และ 2.มาตรการลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) ที่มียอดหนี้ไม่สูง หรือมาตรการ “จ่าย ปิด จบ”
โดยเริ่มต้นมีน็อนแบงก์ ที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์และผ่านการพิจารณาเข้าร่วมโครงการเพียง 2 ราย ได้แก่ 1.บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC และ 2.บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEON ซึ่งผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย จะได้รับการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) จากธนาคารออมสิน เพื่อลดต้นทุนในการส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้
ธปท.เร่งดึงน็อนแบงก์เข้าร่วมเพิ่ม
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ภายหลังเริ่มเปิดรับลูกหนี้น็อนแบงก์เข้ามาลงทะเบียน พบว่าเพียง 5 วันแรก มีลูกหนี้ลงทะเบียนแล้ว 1.5 หมื่นราย โดยปัจจุบันมีน็อนแบงก์ร่วมโครงการ 2 ราย
อย่างไรก็ดี ธปท.ได้มีการส่งหนังสือเวียนไปยังผู้ประกอบธุรกิจน็อนแบงก์รายอื่น ๆ ให้เข้ามาพูดคุย ซึ่งก็มีหลายแห่งให้ความสนใจ แต่การพิจารณาให้น็อนแบงก์เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมนั้น จะต้องพิจารณาคุณสมบัติให้เป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารออมสินด้วย
ทั้งนี้ จะมีเกณฑ์หลัก ๆ อยู่ 3 ข้อ คือ 1.น็อนแบงก์ที่จะเข้าร่วมจะต้องมีกำไรในปีที่ผ่านมา 2.มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่เกิน 5% และ 3.มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ไม่เกิน 10 เท่า เนื่องจากธนาคารออมสินเป็นแหล่งเงินในการให้ความช่วยเหลือผ่านการให้ซอฟต์โลน ที่คิดดอกเบี้ยเพียง 0.01% ต่อปี วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ น็อนแบงก์ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องมีความพร้อมของระบบ เพื่อให้ซอฟต์โลนสามารถส่งผ่านความช่วยเหลือไปถึงลูกหนี้ และป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดกับธนาคารออมสินได้ด้วย โดยต้องมีกลไกการรายงานและติดตามข้อมูล
ซึ่งน็อนแบงก์จะต้องมีการติดตามมอนิเตอร์ลูกหนี้รายบัญชี และจัดส่งรายงานให้ ธปท. เพื่อเบิกใช้วงเงินซอฟต์โลนปีละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ คาดว่าวงเงินซอฟต์โลน 50,000 ล้านบาท เบื้องต้นน่าจะเพียงพอกับความต้องการ
“ตอนนี้น็อนแบงก์ที่มีความพร้อมและเข้าเกณฑ์มี 2 ราย หากมีรายอื่นสนใจเข้ามาร่วมอีก ก็พร้อมพิจารณา โดยที่ผ่านมาก็มีผู้บริหารมาพูดคุยกับเรา ส่วนจะเข้าร่วมเพิ่มกี่ราย จะมีประกาศอีกที ส่วนน็อนแบงก์ที่ไม่ได้เข้าร่วม เขาก็มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอยู่ เพียงแต่บางแห่งหรือหลายแห่งมีขนาดเล็ก ระบบอาจจะไม่พร้อมกับการทำรายงานต่าง ๆ”
MTC เดินหน้าช่วยแก้หนี้ลูกค้า
นายปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC กล่าวว่า จากการสำรวจลูกค้าที่มีสิทธิเข้าโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ในส่วนของ MTC พบว่ามีหลายหมื่นราย โดยกระจายในหลายประเภทสินเชื่อ
ทั้งในสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ จำนำทะเบียนจักรยานยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล โดยมูลหนี้เฉลี่ยจะอยู่ที่ 2.5 หมื่นบาทต่อราย แต่หากดูค่าเฉลี่ยทั้งพอร์ต มูลหนี้จะอยู่ที่ราว 5,000-15,000 บาทต่อราย
“ลูกหนี้ต้องเข้าไปลงทะเบียนกับ ธปท. ซึ่งการลงทะเบียนดังกล่าว ลูกหนี้จะต้องยอมรับเงื่อนไขต่าง ๆ เมื่อครบกำหนด ธปท.จะส่งข้อมูลรายชื่อลูกหนี้ที่ขอรับสิทธิเข้าโครงการ โดย ธปท.จะมีรูปแบบการส่งข้อความ (SMS) แจ้งลูกค้าภายใน 10 วัน
และต้องติดต่อหาลูกค้าในการเรียกเข้ามาทำสัญญาเข้าโครงการภายใน 20 วัน กำหนดให้โทร.ติดต่อลูกค้า 5 ครั้ง ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างขั้นตอนเตรียมกระบวนการรองรับผ่านพนักงานที่มีกว่า 1.5 หมื่นคน และจำนวนสาขากว่า 8,000 แห่ง คาดว่าสามารถรองรับลูกค้าได้”
ต้องรับเงื่อนไขไม่ก่อหนี้เพิ่ม 1 ปี
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือ นายปริทัศน์กล่าวว่า บริษัทจะเรียกลูกค้าเข้ามาปรับสัญญาและยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป เช่น จากเดิมเหลือผ่อนชำระ 12 เดือน จะขยายออกไปเป็น 36 เดือน หรือ 3 ปี โดยลดภาระการผ่อนชำระลง 30% และปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 10%
เช่น จากเดิมสัญญาเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ย 17% ต่อปี จะเหลือเพียง 7% ส่วนต่างดอกเบี้ย 10% บริษัทจะกู้ยืมเงินจากธนาคารออมสินผ่านสินเชื่อซอฟต์โลนต้นทุนต่ำ 0.01% ต่อปี จากเดิมบริษัทมีต้นทุนการเงิน (Cost of Fund) เฉลี่ยอยู่ที่ 3% ต่อปี
ส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนการเงินเฉลี่ย 150 ล้านบาทต่อปี ระยะเวลา 3 ปี รวมทั้งสิ้น 450 ล้านบาท ซึ่งต้นทุนที่ลดได้บริษัทจะนำมาลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าแทน
“ลูกหนี้ที่เข้าโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข โดยจะต้องไม่ก่อหนี้เพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 12 เดือน ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวยอมรับว่า ทำให้ลูกหนี้บางส่วนตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากมองว่าปัจจัยเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ไม่ใช่สิ่งสำคัญมาก แต่การเข้าถึงแหล่งเงินกู้จะเป็นปัจจัยที่ลูกหนี้ให้ความกังวลมากเป็นพิเศษ”
ขณะที่การเบิกใช้วงเงินซอฟต์โลนจะพิจารณาตามลูกหนี้ที่เข้าโครงการและทำสัญญาแล้วเสร็จ และจะมีการพิจารณาทบทวนวงเงินซอฟต์โลนทุกครึ่งปี เพื่อให้สอดคล้องกับการให้ความช่วยเหลือและจำนวนลูกหนี้ที่อยู่ในมาตรการ
กรณีที่ลูกค้าผิดเงื่อนไขบริษัทสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยเฉพาะในส่วนที่บริษัทชดเชย 10% ของส่วนลดดอกเบี้ย 10% ในงวดที่ลูกหนี้จ่ายชำระแล้ว ส่วนงวดที่ไม่จ่ายชำระจนถึงงวดที่ออกจากมาตรการ บริษัทสามารถเรียกเก็บได้ตามสัญญาเดิม
ช่วยลดหนี้เสีย-แก้หนี้ครัวเรือน
“คาดว่าหลังเปิดลงทะเบียนในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า น่าจะเห็นตัวเลขทยอยเพิ่ม เพราะคนสนใจมาตรการนี้ค่อนข้างมาก แต่ก็ต้องรอดูสุดท้ายว่าจะมีลูกค้ายอมรับเงื่อนไขแค่ไหน และรอตัวเลขนิ่ง เราถึงจะบอกได้ว่าจะขอวงเงินจากออมสินเท่าไร
เพราะกระทรวงการคลังค่อนข้างเข้มงวดในการเบิกใช้ และอาจมีเรื่องของการคืนวงเงินหากลูกค้าทำตามเงื่อนไขไม่ได้ แต่คิดว่าน็อนแบงก์ 2 รายที่เข้าร่วมเป็นรายใหญ่ น่าจะครอบคลุมลูกค้าค่อนข้างเยอะ ดังนั้น เชื่อว่าตามหลักการ หนี้เสียควรจะต้องดีขึ้น ลูกหนี้กลับมาดีขึ้น หนี้ครัวเรือนทยอยลดลง” นายปริทัศน์กล่าว