จับประเด็น 5 ข้อ IMF บอกอะไรเศรษฐกิจไทย

IMF ภาพโดย REUTERS/Benoit Tessier
IMF ภาพโดย REUTERS/Benoit Tessier

จากผลการประชุมหารือกับประเทศไทยประจำปี 2567 หรือ Article IV Consultation ที่เผยแพร่โดยคณะกรรมการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีประเด็นสำคัญใดบ้างที่ต้องจับตา ติดตามได้ ดังนี้

1.เศรษฐกิจไทยฟื้นช้า แต่ฟื้นต่อ

IMF ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยโตช้าเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน และขยายตัวเพียง 1.9% ในปี 2567 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4% ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย 1-3% ของธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.)

IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อย ๆ ฟื้นตัวต่อไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ และคาดว่าตัวเลขจีดีพีที่แท้จริงของปี 2567 อยู่ที่ 2.7% และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.9% ในปี 2568 เพิ่มขึ้นจากการใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว ซึ่งประกอบด้วยมาตรการแจกเงิน และการลงทุนภาครัฐ ตลอดจนภาคการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายผู้บริโภค

2.ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย

IMF เตือนว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศหรือปัจจัยภายนอกนั้น มาจากความตึงเครียดของการค้าโลก และความแตกแยกทางภูมิเศรษฐกิจที่ยกระดับขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อภาคการส่งออก และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวน และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่รุนแรงที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

ส่วนปัจจัยภายในมาจาก ความเสี่ยงหนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนค่อนข้างสูง ซึ่งอาจกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจขัดขวางการดำเนินนโยบายและบั่นทอนความเชื่อมั่นเช่นกัน

3.แนะปรับวินัยการคลัง

IMF แนะไทยปรับกรอบวินัยการคลังให้สมดุล เพื่อสร้าง ‘พื้นที่การคลัง’ ใหม่ แนะกันงบบางส่วนจากนโยบายแจกเงินมาลงทุนที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพ หรือนำมาเพิ่มความคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) จะช่วยเพิ่มการเติบโตแบบครอบคลุม (Inclusive) ซึ่งช่วยลดอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี (Debt-to-GDP Ratio)

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ IMF ยังแนะให้รัฐบาลไทยใช้มาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง (Fiscal Consolidation) เพื่อลดระดับหนี้สาธารณะ และสร้างกันชนทางการคลัง (Fiscal Buffer) โดยแนะให้เริ่มตั้งแต่งบประมาณปี 2569 เป็นต้นไป

IMF ย้ำว่าไทยสามารถรักษากรอบวินัยทางการคลังให้แข็งแรงมากขึ้นได้ ด้วยการปรับปรุงกฎระเบียบทางการคลังโดยอาศัยวิธีการตรวจสอบตามแนวความเสี่ยง (Risk-Based Approach) เพื่อควบคุมระดับหนี้, คำนวณต้นทุนจากมาตรการกึ่งการคลัง เช่น ตรึงราคาพลังงานให้มีความเหมาะสม, กำกับดูแลความเสี่ยงทางการคลังอย่างใกล้ชิด ผ่านการปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูลสถิติการคลังทั้งหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ

ADVERTISMENT

4.แนะแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย

IMF เห็นด้วยกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยครั้งก่อนในเดือนตุลาคม และแนะนำให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มอีก เพื่อช่วยปรับปรุงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ พร้อมแนะนำให้เปิดเสรีระบบอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงทยอยยกเลิกมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อลดความจำเป็นการใช้มาตรการแทรกแซงในระยะยาว

IMF ชื่นชมว่ามาตรการจัดการหนี้ครัวเรือนที่รัฐบาลไทยดำเนินไปก่อนแล้ว ทั้งยังเสริมว่าควรมีมาตรการกำกับดูแล และข้อกฎหมายที่ครอบคลุมขึ้น ซึ่งการปรับปรุงกระบวนการล้มละลายจะช่วยให้หนี้ครัวเรือนที่ค้างคาอยู่ลดลง

5.แนะปฏิรูปเชิงโครงสร้าง

IMF มองว่า ไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับผลิตภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งต้องเร่งปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและดิจิทัล เพิ่มทักษะและพัฒนาทักษะแรงงาน (Upskill/Reskill) ยกระดับการส่งออกผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เสริมสร้างธรรมาภิบาลให้แข็งแรง ตลอดจนมอบความคุ้มครองทางสังคมแก่ครัวเรือนที่เปราะบางอย่างเพียงพอ