เศรษฐกิจไทยปี’68 ‘ยุ่ง ยาก แย่’ แนะ 3 โจทย์ โอกาสรับมือเติบโตยั่งยืน

SCB EIC

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทย เผชิญ “ยุ่ง-ยาก-แย่” หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เจอแรงกดดันความไม่แน่นอนนโยบายการค้าสหรัฐ-การแข่งขันกับสินค้าจีน-หนี้ครัวเรือนสูง การบริโภคต่ำ หนี้สาธารณะพุ่ง ย้ำไทยยังมีโอกาส แนะ 3 ข้อปรับตัวระยะสั้น-ยาว สร้างการเติบโตยั่งยืน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ระบุว่า หากมองย้อนกลับไปในอดีตแล้วลองนึกถึงครั้งสุดท้ายที่เราได้ยินสื่อต่าง ๆ พาดหัวเศรษฐกิจไทยว่า “เติบโตสูง” “ขยายตัวแข็งแกร่ง” “ฟื้นตัวเร็ว” คือเมื่อไร หลายคนอาจนึกไม่ออก หรือคงต้องย้อนกลับไปไกลสมัยก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง

ซึ่งขณะนั้นไทยยังได้รับการขนานนามว่าเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย ยิ่งมาในช่วงหลังวิกฤตโควิด ดูเหมือนไม่ใช่แค่เราจะไม่ได้ยินคำที่สะท้อนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับมาได้ดี แต่ตรงกันข้าม กลับกลายเป็นเศรษฐกิจไทยเจอคำว่า “ฟื้นตัวช้า” “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” “หนี้ครัวเรือนสูง” ที่กลายมาเป็นคำคุ้นหูเราไปแทน

โดยในปี 2568 เช่นกันคงจะเป็นอีกปีสำหรับเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางกระแสความท้าทายรอบด้าน เมื่อต้องเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของนโยบายระหว่างประเทศที่จะเร่งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการปกป้องทางการค้า ตลอดจนปัญหาเชิงโครงสร้างและความเปราะบางภายในของไทยเองที่กดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จนอาจนิยาม ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีงูเล็กผ่าน 3 ย.

โลกที่ “ยุ่ง”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปี 2568 ทุกสายตาต่างจับจ้องมาที่การเข้ามารับตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์สมัยที่ 2 หลังเข้ารับตำแหน่งเพียงไม่นาน แต่ได้มีการออกคำสั่งบริหารภายใต้อำนาจประธานาธิบดีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเน้นยกเลิกคำสั่งของประธานาธิบดีไบเดน การปฏิรูปรัฐบาลกลาง จัดการผู้อพยพ สนับสนุนพลังงานฟอสซิล

โดยเฉพาะการเริ่มขึ้นภาษีสินค้านำเข้ากับบางประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐสูงและภาษีสินค้านำเข้าบางชนิด เช่น เหล็กและอะลูมิเนียม จากคู่ค้าทั่วโลก สร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจกับสหรัฐที่เงินเฟ้ออาจเร่งตัว จนทำให้ Fed อาจลดดอกเบี้ยลงอีกน้อยกว่าที่คาด รวมถึงกับเศรษฐกิจโลก ผ่านช่องทางการค้า การลงทุน และห่วงโซ่อุปทานโลก (Supply chain) ที่จะผันผวนมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ADVERTISMENT

มองไปข้างหน้า ความไม่แน่นอนของการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐยังมีอยู่มาก ทั้งในมิติความรุนแรงของภาษีที่จะถูกนำมาใช้ รวมถึงมาตรการตอบโต้ของประเทศอื่น ย่อมเป็นความเสี่ยงสำคัญกดดันเศรษฐกิจโลกให้ขยายตัวชะลอลง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศสูง

ซึ่งแม้ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ถูกสหรัฐใช้มาตรการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าโดยตรงกับทุกกลุ่มสินค้าและอาจไม่ใช่เป้าหมายต้น ๆ เนื่องจากไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐ เป็นอันดับที่ 11 (ข้อมูลปี 2567) แต่ก็นับเป็นประเทศในกลุ่มที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้ามาก โดยเฉพาะภาคการส่งออก เนื่องจากไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐมากเป็นอันดับ 1 สัดส่วนการส่งออกสูงถึง 18.3% ของ มูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมด (ข้อมูลปี 2567) เพิ่มจากราว 11% ในปี 2560

ADVERTISMENT

การส่งออกและการผลิตอุตสาหกรรมที่ “ยาก”

ภายใต้บริบทโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากมาตรการภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐที่จะออกมาเพิ่มเติม นอกจากเศรษฐกิจไทยจะมีข้อจำกัดเป็นทุนเดิม เช่น การสูญเสียความสามารถการแข่งขันส่งออกในเวทีโลก และภาคการผลิตที่ฟื้นตัวได้ช้า ยิ่งได้รับผลกระทบเชิงลบจากความ “ยุ่ง” ที่เกิดขึ้นจากภายนอก

โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐมาก และมาตรการได้เริ่มมีผลแล้วตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. ผ่านการแข่งขันกับสินค้าจีนที่จะรุนแรงขึ้น (China Flooding) ทั้งตลาดต่างประเทศและในประเทศ เนื่องจากสินค้าจีนถูกกีดกันจากตลาดสหรัฐมากขึ้น

ขณะที่อุปสงค์ในประเทศจีนเองยังซบเซา ส่งผลให้สินค้าจีนถูกกระจายไปขายตลาดอื่นทดแทน รวมถึงไทย อาจเห็นการนำเข้าสินค้าจีนสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันไทยนำเข้าจากจีนเป็นตลาดอันดับหนึ่ง สัดส่วนราว 1 ใน 4 ของมูลค่านำเข้ารวมของไทย

สินค้าจีนจะนำเข้ามากขึ้นกดดันความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทยทั้งตลาดในและนอกประเทศ ส่งผลให้การส่งออกไทยเติบโตได้ลดลง และซ้ำเติมภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้น นอกจากการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น สินค้าขั้นกลางที่ไทยส่งออกไปจีนเพื่อผลิตเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายเพื่อส่งออกอาจชะลอตัว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่จีนส่งออกไปตลาดสหรัฐ อาทิ กลุ่มคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน IC และไม้ยางพารา

อีกทั้ง ในกรณีที่บริษัทจีนย้ายฐานการผลิตมาไทยเพื่อเลี่ยงกำแพงภาษีของสหรัฐ สหรัฐอาจดำเนินมาตรการกีดกันการค้าต่าง ๆ ต่อสินค้าส่งออกไทย เช่น ตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้า เพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบจากผู้ผลิตในประเทศ พิจารณาถึงสัญชาติของบริษัท เช่น การเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดจากการนำเข้าแผงโซลาร์จาก 4 ประเทศใน ASEAN ที่ผลิตโดยบริษัทจีน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพการแข่งขันของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไทยที่จะ “ยาก” ขึ้นมากในปีนี้

เศรษฐกิจในประเทศที่ยัง “แย่”

นอกจากปัญหาภายนอกประเทศท้าทายเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจไทยเองยังมีความเปราะบางในหลายมิติ โดยเฉพาะแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่วิกฤตโควิด ทิ้งไว้ ยิ่งกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ทั้งจาก

1.รายได้ครัวเรือนที่ฟื้นช้า ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเร็วหลังโควิด จนสูงเกือบ 90% ต่อ GDP ในไตรมาส 3 ปี 2567 (เทียบ 84% ณ ปี 2563) ทำให้ครัวเรือนไทยเกือบ 60% ยังประสบปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย (SCB EIC จากข้อมูลสำรวจครัวเรือนไทย ปี 2566 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ)

2.ความเปราะบางภาคธุรกิจ เห็นได้จากสัดส่วนจำนวนบริษัทผีดิบ (Zombie firm) ในไทยที่ยังสูง โดยในปี 2566 อยู่ที่ราว 6% ส่วนใหญ่กระจุกตัวในบริษัทขนาดกลางและเล็ก สัดส่วนยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนโควิดช่วงปี 2558-2563 ที่ 5.6%

และ 3.ข้อจำกัดการคลังที่เพิ่มขึ้นมากและ Fiscal space ที่ลดลงไปเยอะหลังภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ในช่วงโควิด โดยแผนการคลังระยะปานกลางล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2567 สะท้อนแนวโน้มหนี้สาธารณะที่ปรับสูงขึ้น และอาจแตะเพดานหนี้ 70% ภายใน 5 ปี (ปี 2572)

จากที่กล่าวไปข้างต้น อีกหนึ่งปัจจัยที่จะเป็นแรงกดดันเพิ่มเติมสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2568 และสะท้อนความ “แย่” ในประเทศที่ยังคงอยู่ คือการบริโภคภาคเอกชนที่จะชะลอลงจากขยายตัวดีในช่วง 2-3 ปีก่อน สาเหตุสำคัญมาจากมาตรฐานการให้สินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงินเข้มงวดขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้สินเชื่อรายย่อยชะลอลงมาก แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเริ่มลดลง แต่สาเหตุหลักมาจากการเข้าถึงสินเชื่อใหม่ยากขึ้น

โดยอัตราการขยายตัวของเงินให้กู้ยืมภาคครัวเรือนขยายตัวต่ำลงมาก และเริ่มต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของ GDP ใน Q3/2024 หลังจากที่สินเชื่อครัวเรือนเติบโตสูงกว่า GDP มานานนับทศวรรษ สะท้อนครัวเรือนไทยยืมเงินในอนาคตมาบริโภคล่วงหน้าเกินกำลังความสามารถหารายได้มาเป็นเวลานาน และเข้าสู่ช่วงทยอยลดหนี้ (Deleveraging) การเข้าถึงสินเชื่อรายย่อยที่ทำได้จำกัด สะท้อนความเปราะบางภาคครัวเรือนและกดดันการบริโภคครัวเรือนในระยะต่อไป

สอดคล้องกับปัญหาสำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ยังคงเผชิญกับความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทำให้การขยายกิจการทำได้ยากขึ้น ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่กลับมาเต็มที่ อัตราการปิดกิจการของธุรกิจขนาดเล็กยังคงสูงกว่าระดับปกติ สะท้อนถึงความเปราะบางของภาคธุรกิจไทย

“ยุ่ง ยาก และแย่” แต่ “ยัง” มีโอกาส

เศรษฐกิจไทยในปี 2568 แม้เผชิญความท้าทายมากมาย แต่ส่วนหนึ่งก็อาจมาพร้อมโอกาส โดยเฉพาะหากมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงนโยบายให้สอดรับกับกระแสการค้าและการลงทุนโลกได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม ในระยะสั้นผ่าน 1.การเตรียมความพร้อมในการเจรจาเชิงกลยุทธ์ลดผลกระทบจากการกีดกันการค้าของสหรัฐ หากถึงเวลาที่ไทยกลายเป็นประเทศเข้าข่ายถูกมาตรการเพิ่มภาษีนำเข้าจากสหรัฐ ตลอดจน

2.มาตรการปรับปรุงตัดลดกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจที่ซ้ำซ้อน เพื่อสร้างความง่ายในการทำธุรกิจ รวมถึงปกป้องธุรกิจในประเทศจากการเข้ามาตีตลาดจากสินค้าต่างประเทศ

ในระยะยาวต้อง 3.เพิ่มการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมการย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนที่อาจเพิ่มขึ้นจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ารอบใหม่ ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สอดรับกับเทรนด์โลก การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ และการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถก้าวข้ามความท้าทายที่ทั้งยุ่ง ยาก และแย่ ไปสู่ ย. สุดท้ายคือเติบโตได้อย่าง “ยั่งยืน”